จับตา มหากาพย์ 2 ค่ายยักษ์โทรคมนาคม TRUE – DTAC กระทบผู้บริโภครับกรรม ตลาดเหลือผู้ให้บริการแค่ 2 เจ้า อาจเกิดการฮั้ว องค์กรผู้บริโภค เรียกร้อง กสทช. ทำหน้าที่เพื่อผู้บริโภค จับตา สุดท้าย ไม่ว่าผลจะออกมาทางไหน เรื่องต้องไปถึง ศาลปกครอง แน่นอน
ฉับพลันที่ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ทรู ( TRUE ) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชัน จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ( DTAC ) ประกาศ ควบรวมกิจการ อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2564 จากนั้น วันที่ 4 เมษายน 2665 ที่ประชุมผู้ถือหุ้นบริษัททรูและดีแทค ได้อนุมัติข้อเสนอควบรวมกิจการ การควบรวมกิจการ ยังอยู่ภายใต้การตรวจสอบและแจ้งเจ้าหนี้ ซึ่งก็คือ กสทช.โดยได้รับแจ้งเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565 จากเหตุนี้เอง ก่อให้เกิดกระแสต่อต้าน เป็นแรงกระเพื่อมอย่างหนักจากหลายฝ่าย ทั้งภาคองค์กรผู้บริโภค และการเมือง นั่นก็เพราะว่า มันได้ก่อให้เกิดการกระจุกตัวของตลาดสูงขึ้นมาก จากเดิมที่ประเทศไทย มีผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3 รายใหญ่ ได้แก่ AIS / TRUE / DTAC
การควบรวม TRUE – DTAC มีนักวิชาการ กลุ่มผู้บริโภค และสื่อต่าง ๆ ให้ข้อคิดเห็นเรื่องผลกระทบต่อราคาค่าบริการและคุณภาพของบริการ ประเด็นหลัก คือ ผลเสียต่อผู้บริโภคและธุรกิจที่ใช้บริการโทรคมนาคมและดิจิทัล ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างตลาด เนื่องจาก จำนวนผู้ให้บริการจะลดจาก 3 รายเหลือ 2 ราย ทำให้ตลาดมีการกระจุกตัวเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล โดย เอไอเอส มีส่วนแบ่งทางการตลาด อยู่ที่ 47% ส่วนทรู อยู่ที่ 33% และดีแทค อยู่ที่ 20 เมื่อทรู กับ ดีแทคควบรวมกิจการ ในนามบริษัทใหม่จะมีส่วนแบ่งตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทยถึง ร้อยละ 53 ซึ่งมีสัดส่วนในตลาดเกิน 52% ตามที่ กสทช. กำหนด ทำให้กลายเป็นผู้ที่มีอำนาจเหนือตลาดที่สามารถบีบบริษัทคู่แข่ง คือ เอไอเอส ในการแข่งขันได้ ซึ่งในตลาดการค้าเสรีที่ประเทศไทยยึดตามระบบนี้อยู่การมีอำนาจเหนือตลาดเป็นเรื่องที่ผิด พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า ซี่งมีคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าดูแลให้การค้าในประเทศเป็นไปตามระบบตลาดเสรี ที่สำคัญอีกอย่างก็คือ การควบรวม ทรู - ดีแทค จะทำให้ดัชนีการกระจุกตัว (Herfindhal-Hirschman Index หรือ HHI สูงขึ้นเกินค่ามาตรฐาน คือ 2,500 โดยเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันกว่า 3,500 ไปอยู่ที่เกือบ 5,000 หรือ ประมาณ 4,700-4,800 ซึ่งเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด จากเดิมตลาดที่มีผู้ประกอบการ3เจ้า ที่มีดัชนี HHI เกินเกณฑ์ 2,500 ถือเป็นตลาดที่อันตรายอยู่แล้ว
แต่ในกรณีของ TRUE – DTAC กลับเพิ่มขึ้นพรวดเดียวไปอยู่ที่ระดับ1,200-1,300 ถือเป็นเรื่องที่น่าตื่นตกใจ
ชี้วัดให้เห็นความรุนแรงในการแข่งขัน อันเป็นการกระจุกตัวที่เข้มข้นส่งผลด้านลบต่อการแข่งขัน ซึ่งถือเป็นการครอบงำตลาด ผู้บริโภคมีตัวเลือกที่น้อยลง และอาจก่อให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านดิจิทัล และอาจเกิดการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมโดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงลึก รวมทั้ง ยังอาจส่งผลต่อราคาค่าบริการที่ผู้บริโภคต้องจ่ายด้วย กสทช. บอกเสมอว่า แม้มีการควบคุมราคาค่าบริการอยู่แล้ว แต่ราคาค่าบริการในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นค่าโทรศัพท์ หรือ ค่าอินเตอร์เน็ต ของ ทรู / ดีแทค /เอไอเอส ยังต่ำกว่าเพดานประมาณ 20% ฉะนั้น หากจะมีการปรับขึ้นราคา 10-20% ก็สามารถ ทำได้ เพราะ ยังไม่ชนเพดาน
ดังนั้น การควบรวมกิจการของทรู – ดีแทค จึงทำให้ ตลาดโทรคมนาคม เหลือผู้ให้บริการ 2 ราย คือ เอไอเอส และ ทรู ราคาค่าบริการจะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20 ยิ่งไปซ้ำเติมปัญหาค่าครองชีพของประชาชน ขณะที่ลูกค้าที่เป็นบริษัทก็ได้รับผลกระทบตามไปด้วย กลายเป็นต้นทุนของผู้ประกอบการเช่นกัน แต่ถ้าหากทั้ง 2 รายไม่มีการแข่งขันกันเพราะพอใจกับส่วนแบ่งทางการตลาดที่รายละประมาณ 50% จะสามารถขึ้นราคาไปพร้อมกัน ไม่ว่าจะเป็นการฮั้วกัน แบบที่เป็น ลายลักษณ์อักษร หรือ แบบเป็นทางการ หรือ แบบไม่เป็นทางการ ซึ่งมีโอกาสที่ราคาค่าบริการจะเพิ่มสูงขึ้นเป็นเท่าตัวได้ ถึงแม้ ช่วงต้นเดือนเมษายน ที่ผ่านมา ผู้บริหาร บริษัท แอดวานซ์ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) ผู้ให้บริการโครงข่ายโทรศัทพ์เคลื่อนที่ในนาม AIS ได้ทำหนังสือถึงประธาน กสทช. เพื่อชี้แจงผลกระทบและผลเสียที่อาจเกิดขึ้นจากการควบรวมกิจการระหว่าง TRUE และ DTAC ทำให้หลายฝ่าย ตั้งความหวังว่า จะช่วยให้ดีลควบรวมกิจการไม่มีทางเกิด แต่เมื่อมีการตรวจสอบข้อมูล กลับพบว่า เอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารเดิมที่ยื่นไปเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2565 โดยการไม่เห็นด้วยกับดีลควบรวมกิจการในครั้งนี้ เป็นแค่การทำหน้าที่ผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholder) ที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน ไม่ได้มีเจตนาคัดค้าน และ อยากให้ กสทช.ตรวจสอบทางกฎหมายให้รอบครอบ เท่านั้น ยิ่งทำให้ข้อสังเกตข้างต้น ส่อเค้าเป็นไปได้
นายแพทย์ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา อดีต กสทช.ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน สะท้อนถึงบทบาทหน้าที่ของ กสทช. ต่อดีลธุรกิจการควบรวมกิจการระหว่างทรู-ดีแทค รวมถึงผลกระทบต่อผู้บริโภค ในวงเสวนาควบรวม ทรู-ดีแทค ผู้บริโภครับกรรม ว่า อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายระบุไว้ชัดเจนว่า กสทช. ต้องวางหลักเกณฑ์ อย่างน้อยส่วนของการป้องกันการผูกขาด หรือลดการแข่งขัน หรือแม้แต่การถือครองธุรกิจประเภทเดียวกัน ก่อนการแจ้งความประสงค์ที่จะรวมธุรกิจโดยการควบรวมกิจการ เพื่อให้ผู้ประกอบการเอกชนทำตามหลักเกณฑ์ที่วางไว้
ในเมื่อกระแสคัดค้านดีลควบกิจการ TRUE - DTAC รุนแรง บอร์ด กสทช.ชุดใหม่ ที่ได้รับการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเมื่อวันที่ 14 เมษายน ที่ผ่านมา จึงเดินหน้าทำงานทันที โดย จัดรับฟังรับฟัง “ความคิดเห็นสาธารณะในวงจำกัดหรือ โฟกัส กรุ๊ป “ รวม 3 ครั้ง
- ครั้งแรก ภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรม ที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2565
- ครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม ที่ผ่านมา จัดโฟกัส กรุ๊ป ในรอบผู้บริโภค
- ครั้งสุดท้าย กลุ่มนักวิชาการ วันที่ 7 มิถุนายน 2565
ประเด็นที่น่าสนใจจากฝ่ายคัดค้าน อยู่บนเวที โฟกัส กรุ๊ป ในรอบผู้บริโภค โดยนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค ได้ชี้ประเด็นการควบรวม ทรู – ดีแทค ขัดต่อกฎหมาย 3 ฉบับ ทั้งกฎหมาย กสทช. กฎหมายการแข่งขันทางการค้า และกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค แถมกระทบต่อผู้บริโภคมีทางเลือกน้อยลง ราคาแพงขึ้นแน่นอน เพราะเหลือทรู กับเอไอเอส สุดท้ายก็อาจจะแบ่งตลาดกันเล่นไม่มีการแข่งขันกัน ไม่มีแรงจูงใจทำให้เกิดการแข่งขันกัน
ดังนั้น จึงเตรียมยื่นข้อเสนอต่อ กสทช. ตลาดหลักทรัพย์ รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าให้พิจารณาการควบรวมกิจการ เพื่อป้องกันเกิดอำนาจเหนือตลาดและอาจต้องทำเรื่องร้องเรียนไปยังคณะรัฐมนตรี หากหน่วยงานที่กำกับดูแลโดยตรงไม่ทำหน้าที่ตรงนี้ จนผู้บริโภคถูกจำกัดทางเลือกดูตัวอย่างในต่างประเทศมี 3-4 ค่าย ขึ้นไปทั้งนั้น ไม่มีใครที่มี 3 ค่าย และ ทำให้เหลือ 2 ค่าย / ข้อเรียกร้อง นอกจาก ปิดทางการควบรวมทรู – ดีแทค กสทช. ต้องสนับสนุนให้มีเจ้าใหม่ในตลาดมากขึ้นเพื่อให้เกิดการแข่งขัน หรือ อาจจะให้ผู้ให้บริการในกิจการโทรคมนาคม เปิดโอกาสให้ใช้คลื่นตัวเองในราคาพิเศษ เพื่อให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่เพิ่มขึ้น
ด้านนางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสารฯ สภาองค์กรของผู้บริโภคในฐานะอดีต กสทช. พูดชัดเจนว่า สุดท้ายเรื่องนี้ต้องจบลงที่ศาลปกครอง แน่นอน และกินเวลายาวนาน ขึ้นอยู่กับว่าใครจะฟ้องใคร ฉะนั้น “กสทช. ต้องทำหน้าที่ของตัวเอง หวังว่าจะใช้ข้อมูลทั้งหมดตัดสินใจอย่างรอบคอบ ไม่ควรทำให้สังคมผิดหวัง เพราะสังคมลงทุนสร้าง กสทช. ให้มีอิสระมีงบประมาณมีสวัสดิการที่ดี
ดังนั้น ดีลร้อน ทรู – ดีแทค ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด เพราะหลังจากจบโฟกัส กรุ๊ปทั้ง 3 รอบ สำนักงาน กสทช. จะทำการรวบรวมรายงานความคิดเห็นจากทุกฝ่ายบอร์ดตัดสินใจจะมีมติออกมาอย่างไร มีรายงานจากผู้สื่อข่าวที่อ้างอิง แหล่งข่าวจากกสทช. ว่าภายในวันที่ 10 กรกฏาคมนี้ อาจได้เห็นความชัดเจนจาก บอร์ด กสทช.อย่างเป็นทางการจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ผู้ขอควบรวมสามารถดำเนินการร่วมธุรกิจกันได้หรือไม่ ซึ่งบอร์ดกสทช.ได้สั่งการให้สำนักงาน กสทช.เตรียมคำชี้แจงต่อศาลปกครอง ใน 2 ด้าน คือหากอนุญาตให้ควบรวมก็มีความเป็นได้ว่า จะถูกฟ้องจากฝ่ายที่คัดค้านการควบรวม แต่หากมีมติออกมาว่าไม่อนุญาตให้ควบรวมก็แน่นอนว่าผู้ขอควบรวมคือทรู และ ดีแทคจะยื่นฟ้องต่อบอร์ด กสทช.และเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2565 ลงคะแนน 3 ต่อ 2 สั่งให้สำนักงาน กสทช. เพิ่มข้อความ
“อำนาจตามประกาศ ปี 2549 หากพบเข้าข่ายผูกขาดตลาด สามารถสั่งไม่อนุญาตได้” ซึ่งถือเป็นการหักล้างบอร์ด กสทช.ชุดที่แล้ว ซึ่งอ้างว่า “ไม่มีอำนาจในการยับยั้งการควบรวมกิจการของสองบริษัทโทรคมนาคม” หลังจากนายณภัทร วินิจฉัยกุล หนึ่งในกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) หรือ ซูเปอร์บอร์ด ได้ยื่นฟ้อง กสทช.ต่อ ศาลปกครองกลางเมื่อ 5 พฤษภาคม ที่ผ่านมา และ ศาลปกครอง ได้นัดไต่สวนเพิ่มวันที่ 6 มิถุนายนนี้
ดีลควบรวมธุรกิจกว่า 2 แสนล้านบาท “TRUE-DTAC” ถือเป็นภารกิจร้อนที่ 5 อรหันต์ กสทช.ป้ายแดง ต้องตอบคำถามกับสังคม จะอยู่ข้างผู้บริโภค หรือ เปิดทางให้เกิดการครอบงำตลาดแบบผูกขาด ต้องติดตาม!!!! มหกาพย์นี้