เปิดหน้าตักทุนสื่อสาร! โค้งสุดท้ายก่อนประมูล 4 จี

580914 talacom
โค้งสุดท้ายก่อนประมูล 4 จี เปิดหน้าตักทุนสื่อสาร อีกหนึ่งความหวัง ช่วยฟื้นศก. คาดก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 5 แสนล้านบาท

หลังสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) "หักดิบ"โหวตล้มร่างรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมาธิการยกร่างรธน.ของสปเองป้ำผีลุก ผีผีนั่งมาร่วมขวบปีให้กลายเป็นแค่ "เศษกระดาษที่ไร้ค่า" และทำให้โร้ดแม็พของการคืนอำนาจประชาชนกลับสู่ประชาธิปไตยของประเทศไทยต้อง ทอดยาวออกไปอีกนับปีนั้น

แน่นอนว่าคงส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการลง ทุนของประเทศที่เปราะบางอยู่แล้วให้ต้องสุ่มเสี่ยงยิ่งขึ้นไปอีก ทำให้ความหวังในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยภายใต้รัฐบาล คสช.ชุดนี้หลังการ"ยกเครื่อง" ทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ที่กำลังเริ่มเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ต้องริบหรี่ลงมาอีก ครั้งนั้น

ความหวังในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศยามนี้ นอกจากการปัดฝุ่นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้า(ที่นายกฯสั่งผู้ใหญ่ลีตีกลอง ประชุมให้เรียกว่า"ผู้มีรายได้น้อย") งัดนโยบายประชานิยมกลับมาใช้เต็มพิกัดที่กำลังเรียกเสียงครางฮือฮาอยู่ใน เวลานี้

การเปิดประมูลคลื่นความถี่1800 MHz เพื่อออกใบอนุญาตมือถือระบบ 4 จีที่ "คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ" หรือ"กสทช."ที่เพิ่งเปิดให้เอกชนเข้ารับเอกสารการประมูลไปวันก่อน น่าจะถือเป็นอีกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เหลืออยู่ และเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายเพรียกหาอย่างแท้จริง!

อย่างที่ "ฐากร ตัณฑสิทธิ์" เลขาธิการ กสทช.ออกมาระบุก่อนหน้านี้ ในภาวะที่โครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐแทบไม่มีหลงเหลือแล้ว จึงมีแค่การประมูลคลื่นความถี่รอบนี้ที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ โดยประเมินเม็ดเงินที่ได้จากการประมูลไม่น่าจะต่ำกว่า 40,000 ล้านบาท

ขณะที่ผู้ประกอบการที่ได้ใบอนุญาตที่ต้องไปลงทุนก่อสร้างโครงข่ายอีกราย ละประมาณ 50,000 ล้านบาท ซึ่งจะก่อให้เกิดการลงทุนและจ้างงานทางอ้อมที่เกี่ยวเนื่องจากบริการ 4จีตามมาอีกจำนวนมาก

"ผลการศึกษาของคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คาดว่าจะมีการลงทุนประมาณ 1.6-1.8 แสนล้านบาท ในปี 2559 และ 2.6 แสนล้านบาทในปี 2560 รวมแล้วจะก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 500,000 ล้านบาทเลยทีเดียว" 

เมื่อพลิกโฉมหน้ากลุ่มทุนสื่อสารที่ตบ เท้าเข้ารับเอกสารการประมูลจากกสทช.ล่าสุดนั้น 5 ค่าย สื่อสารยักษ์ต่างตบเท้ามากันพร้อมหน้าไม่ว่าจะเป็นบริษัทแอดวานซ์ไวร์เล สเน็ทเวอร์คในเครือเอไอเอส ,ดีแทคไตรเน็ต และดีแทคบรอดแบนด์ ในเครือดีแทค, บริษัท ทรูมูฟเอชยูนิเวอร์แซลคอมมิวนิเคชั่นในเครือทรูมูฟ และบริษัท แจสโมบายบรอดแบรนด์ในเครือจัสมินยังไม่รู้ว่ากว่าจะถึงวันสุดท้าย ยังจะมีกลุ่มทุนสื่อสารหน้าใหม่ๆ กระโดดเข้าร่วมวงไพบูลย์อีกกี่ราย

หากพิจารณาดูหน้าตักทุนสื่อสารแต่ละค่ายที่เปิดโฉมออกมาเวลานี้ 5-6 ราายนั้นต้องบอกว่าเตรียมจัดหนักกันมาทุกค่าย

เริ่มตั้งแต่ค่าย"เอไอเอส"ที่ว่ากันว่าตุนเสบียงกรังพร้อมกรำศึก 4 จีนี้ไว้กว่า 50,000-60,000 ล้านบาท มาตั้งแต่ปีก่อน แต่เพราะมีคำสั่งคสช.ให้ชะลอการประมูลเอาไว้ จึงทำให้ต้องหาวเรอกันมาข้ามปี

และเหตุที่ยังไม่มีโครงการลงทุน 4 จีเกิดขึ้น จึงทำให้ในรอบปีที่ผ่านมาเอไอเอสฟันกำไรประกอบการและจ่ายปันผลแก่ผู้ถือหุ้น อู้ฟู่ เฉพาะครึ่งปีมานี้ นัยว่ากำไรจากการประกอบการทะลักไปถึง 19,746 ล้านบาทไปแล้ว และจ่ายปันผลครึ่งปีแรกไปแล้ว 6.50 บาทต่อหุ้น จัดเป็นกลุ่มทุนสื่อสารที่มีความพร้อมมากที่สุดในเวลานี้

ส่วนค่าย"ทรูมูฟ"แม้จะได้ชื่อว่าเป็นค่ายสื่อสาร "พลังเหนือเมฆ"ที่ปาดหน้าช่วงชิงเอาคลื่นความถี่จากรัฐออกมาให้บริการ 3 จีและ 4 จีก่อนใครทั้งมวล แต่ประมูล 4 จีครั้งนี้"ทรูมูฟ"ก็ตกขบวนไม่ได้เช่นกันและยังหมายมั่นปั้นมือจะประมูลทั้ง คลื่น 1800 และ 900 MHz อีกด้วย แม้ในแง่เสบียงกรังตามหน้าตักจะยังไม่แน่ชัดว่ามีเท่าไหร่ แต่ทรูมูฟที่มีทุนใหญ่ "ไชน่าโมบาย"เป็นแบ็คอัพอยู่ข้างหลังนั้นยังไงเสียก็ไม่ยอมน้อยหน้าให้ค่าย ใดแน่

ส่วนค่าย"ดีแทค"ที่ดูจะเป็นค่ายสื่อสารที่มี ทั้งความพร้อมและอาภัพในคราเดียวกัน เพราะแม้จะมีคลื่น 1800 MHz ที่สามารถจะนำมาให้บริการ 4 จีอยู่ในมือ แต่ที่ผ่านมาดีแทคไม่มีการนำคลื่น 4 จีออกมาใช้ อีกทั้งยังมีข้อจำกัดคลื่นความถี่ที่มีอยู่ในมือนั้นอยู่ภายใต้ระบบสัญญา สัมปทานเก่า หากต้องลงทุนขยายเครือข่าย 4 จีไปก็ต้องโอนทรัพย์สินเครือข่ายไปให้รัฐ

จึงกลายเป็นอุปสรรคที่ทำให้บริษัทไม่อยากลงทุนไปก่อนและยังคงรอร่วมวงไพบูลย์การประมูล 4 จีครั้งนี้เต็มพิกัด

ส่วนค่าย"จัสมิน กรุ๊ป"ที่แม้ชื่อชั้นจะดูเป็นน้องใหม่ แต่หากไล่ย้อนดูแบ็กกราวน์ของ "พิชญ์ โพธารามิก" ประธานเจ้าหน้าที่บริหารจัสมินกรุ๊ป ที่รับไม้ต่อจากผู้เป็นบิดาแถมยังปลุกปั้น "โมโน 29" จากดิจิตอลทีวีที่ใครต่อใครพากันกระอักกะอ่วม ให้กลับกลายเป็นช่องดิจิตอลทีวีติด "ท็อป-5" ที่มีเรทติ้งสูสีกับฟรีทีวีชั้นแถวหน้าแล้ว เมื่อเจ้าตัวประกาศพร้อมกรำศึก 4 จีครั้งนี้เต็มพิกัดเพื่อต่อยอดโมโน 29 ด้วยแล้วงานนี้ จึงทำให้ค่ายสื่อสารน้อยใหญ่ผวาเฮือกไปตามๆกัน

สำหรับค่ายสื่อสารอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น สามารถเทลคอม ล็อกซ์เล่ย์ และค่ายสื่อสารโนเนมอื่นๆ นั้นแม้จะยังไม่เปิดโฉมหน้ากันออกมา แต่ก็เชื่อว่าแต่ละค่ายนั้นคงซุ่มเจรจาหาพันธมิตรธุรกิจ และคงเตรียมกระโจนเข้าสู่ตลาดนี้กันคึกคักแน่ คงไม่มีใครยอมตกขบวน 4 จีนี้เป็นแน่

อดใจรอโค้งสุดท้ายของการประมูล 4 จี ที่จะมีขึ้นในอีกไม่ถึง 2 เดือนข้างหน้านี้คือวันที่ 11 พ.ย.2558

 

ขอบคุณข้อมูลจาก  กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน