ตะลึง! ลาดกระบัง กลับลำผลศึกษา ยอมรับคลื่นจากเสาส่งสัญญาณมือถือ มีความเสี่ยงก่อมะเร็ง-กระทบมนุษย์

วิศวกรไฟฟ้า ด้านโทรคมนาคมกล่าวในเวทีเสวนา กสทช. ระบุ คลื่นจากเสาส่งสัญญาณมือถือมีความเสี่ยงก่อมะเร็งและผลกระทบต่อมนุษย์ในด้านชีวภาพ ส่วนนักวิชาการลาดกระบังยอมรับผลวิจัยที่เคยเผยแพร่เรื่องผลกระทบของการแผ่คลื่นคลาดเคลื่อน ชี้การศึกษาเป็นแค่การวัดคลื่น ไม่ครอบคลุมผลกระทบด้านสุขภาพ ดังนั้นไม่อาจสรุปได้ว่าคลื่นจากเสาส่งสัญญาณมือถือปลอดภัย

ดร.สุเมธ วงศ์พานิชเลิศ นักวิชาการอิสระ และผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมไฟฟ้าโทรคมนาคม กล่าวในงานเสวนา NBTC Public Forum ครั้งที่ 4/2557 เรื่อง “ปัญหาและทางออก กรณีผลกระทบของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์” ที่จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2557 ณ โรงแรมมิราเคิล กรุงเทพฯ ระบุถึงความเสี่ยงของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าว่า ความแตกต่างระหว่างผลกระทบจากการใช้โทรศัพท์มือถือกับการอยู่ใกล้เสาสัญญาณคือ ผู้ใช้โทรศัพท์ยังสามารถเลือกได้ว่าจะใช้งานนานมากน้อยแค่ไหน แต่ผู้ที่อาศัยอยู่ใกล้เสาสัญญาณไม่มีสิทธิเลือก และอยู่ในสภาพจำยอมต้องรับคลื่นตลอดเวลา เพราะฉะนั้นการตั้งเสาสัญญาณจึงเข้าข่ายการละเมิดสิทธิ 

การศึกษาผลกระทบของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ามีมานานแล้ว โดยมีการค้นพบว่ามีผลกระทบต่อระบบชีวภาพของมนุษย์ คือสามารถทำลายเซลล์สิ่งมีชีวิตให้ชำรุดได้ โดยทำให้สายพันธุกรรมแตกขาด ซึ่งถ้าได้รับในปริมาณมากหรือต่อเนื่อง ถ้าร่างกายซ่อมแซมไม่ทันหรือซ่อมแซมผิดจากที่ควรจะเป็น ก็จะทำให้เกิดมะเร็งและโรคอื่นๆ ได้
 “ผลกระทบจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าต่อชีวภาพมนุษย์ นักวิชาการรู้กันมาตั้งแต่ปี 1998 ตั้งแต่สมัยที่การใช้โทรศัพท์มือถือยังไม่แพร่หลาย แต่ในระยะหลังๆ มีการค้นพบหลักฐานและงานวิจัยมากขึ้น และมีการตั้งข้อสงสัยว่าทำไมคนที่อยู่ใกล้เสามีจำนวนคนเป็นมะเร็งเพิ่มขึ้น”

นพ.พิบูล อิสสระพันธุ์ สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัญหาเรื่องการตั้งเสาสัญญาณมีความซับซ้อน เพราะมีประเด็นทางสังคมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เนื่องจากหลายกรณีขาดการสื่อสารกับชาวบ้านและการทำประชาพิจารณ์

ในส่วนของผลกระทบต่อสุขภาพ องค์การอนามัยโลกได้จัดให้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเป็นสารก่อมะเร็งประเภท 2B คือเป็นสารอาจก่อมะเร็ง

 “องค์การอนามัยยังไม่ยอมรับว่าคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเป็นสารก่อมะเร็ง แต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธ เพราะในอนาคตหากมีข้อค้นพบมากขึ้น ก็จะปรับให้เป็นสารก่อมะเร็งได้ ดังนั้นคนที่อยู่ใกล้เสา ถ้าสมัครใจก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าชุมชนไหนไม่พอใจเสา ก็ควรพยายามต่อยอดองค์ความรู้จากองค์การอนามัยโลกโดยใช้หลักการป้องกันไว้ก่อน และคงต้องอาศัยการผลักดันทางการเมืองเพื่อให้เกิดการเจรจาและแก้ปัญหา”

สำหรับงานวิจัยที่สำนักงาน กสทช. ได้เคยจ้างสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังศึกษาถึงผลกระทบของการแผ่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากสถานีฐาน ซึ่งได้มีการแถลงผลการศึกษาไปเมื่อ 14 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยสรุปว่า การแผ่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากสถานีฐานของระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทยอยู่ในระดับที่ปลอดภัยและไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก โดยเฉพาะจากผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการตั้งเสาสัญญาณ 

นายธัชชัย พุ่มพวง นักวิชาการของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวในฐานะนักวิจัยในโครงการดังกล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการศึกษาเป็นเพียงการวัดระดับความแรงของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ซึ่งพบว่าจากการวัดระดับความแรงของคลื่นจากสถานีฐานจำนวน 40 สถานี มีค่าต่ำกว่าค่ามาตรฐานที่ กสทช. กำหนด ส่วนผลกระทบทางด้านสุขภาพยังจำเป็นต้องมีการศึกษาให้ละเอียดยิ่งขึ้น งานศึกษาที่ทีมวิจัยทำเป็นเพียงงานวิจัยเชิงฟิสิกส์ ไม่ใช่งานวิจัยทางการแพทย์ จึงยังไม่อาจสรุปได้ว่าการแผ่คลื่นจากเสาสัญญาณมีความปลอดภัย เป็นเพียงการอนุมานได้ว่ามีความเสี่ยงต่ำ

 “ผมยอมรับว่าทุกคนมีความกลัว ในปัจจุบันถ้าชุมชนใดมีความกลัวความกังวลสูง ทุกฝ่ายก็ต้องใช้วิธีการหาทางออกร่วมกัน อะไรที่เป็นเรื่องความปลอดภัย ก็ควรมีการหาทางออกร่วมกัน”

  ส่วนประเด็นทางออกของปัญหาการตั้งเสาส่งสัญญาณ ดร.สุเมธ กล่าวว่า สิ่งที่ กสทช. ควรทำ คือทบทวนหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่ และหามาตรการลดความเสี่ยง โดยยึดหลักของสหประชาชาติเรื่องมาตรการป้องกันไว้ก่อน 

ดร.สุเมธ เสนอว่า ในพื้นที่ชนบทนอกเขตเทศบาลหรือชุมชนหนาแน่นควรให้ขีดจำกัดความหนาแน่นของกำลังคลื่นลดลงจากมาตรฐานปัจจุบัน 1,000 เท่า หรือในระดับไม่เกิน 10 มิลลิวัตต์/ตารางเมตร

ส่วนในเขตเทศบาลและชุมชนหนาแน่น ให้ลดลง 10,000 เท่า หรือในระดับไม่เกิน 1 มิลลิวัตต์/ตารางเมตร รวมทั้งไม่อนุญาตให้ติดตั้งเสาใกล้กับโรงเรียน สถานเลี้ยงเด็ก บ้านพักคนชรา โรงพยาบาล และที่อยู่อาศัยที่มีประชาชนอยู่หนาแน่น สำหรับแนวทางการขยายโครงข่ายในเขตเทศบาล อำเภอ จังหวัด ให้ใช้สถานีฐานแบบไมโครเซลล์หรือพิโคเซลล์ ซึ่งเป็นเสาส่งขนาดเล็ก และในชนบทที่ยังจำเป็นต้องใช้แมคโครเซลล์ ที่เป็นเสาส่งขนาดใหญ่ ก็จะต้องไม่ตั้งอยู่กลางชุมชนหรือในหมู่บ้าน

 

ที่มา : patnews  19 กันยายน 2557

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน