กรรมการองค์การอิสระฯ พร้อม ตัวแทนองค์กรผู้บริโภค เข้ายื่นหนังสือต่อประธานกองทุน กทปส. ขอให้ศึกษาต้นทุนและมีกระบวนการที่โปร่งใสในการอนุมัติการแจก “คูปองส่วนลด” เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบทีวีดิจิตอล
วันนี้(6 พ.ค. 57) อาคารไอทาวเวอร์ – นางสาวชลดา บุญเกษม กรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน พร้อมด้วย นายณัฎฐวัฒน์ ณัฐปัญณปภพ ตัวแทนองค์กรผู้บริโภคภาคกลาง และ นางมณี จิรโชติมงคลกุล ตัวแทนองค์กรผู้บริโภคกรุงเทพฯ เข้ายื่นหนังสือต่อ พล.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี ประธานกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กองทุน กทปส.) ขอให้กองทุน กทปส.ทบทวนราคาคูปองเพื่อป้องกันรัฐเสียหายไม่น้อยกว่า 1 หมื่นล้านบาท จากการแจกคูปอง 1,000 บาทต่อครัวเรือน จำนวน 22 ล้านครัวเรือน ขณะที่กล่องรวมเสาอากาศมีราคาเพียง 512 บาทเท่านั้น
นางสาวชลดา บุญเกษม กล่าวว่า “คณะกรรมการองค์การอิสระฯ ได้มีการติดตามสถานการณ์ปัญหาผู้บริโภค กรณีที่ กสท. ได้กำหนดการเปลี่ยนผ่านการรับส่งสัญญาณโทรทัศน์จากระบบอะนาล็อกไปสู่ระบบดิจิตอล และมีการกำหนดให้ใช้วิธีแจกคูปอง โดยตั้งมูลค่าของคูปองที่ 1,000 บาท สำหรับประชากร 22 ล้านครัวเรือน”
นายณัฎฐวัฒน์ ณัฐปัญณปภพ กล่าวว่า “ล่าสุดได้มีมติ กสท. เมื่อวันที่ 21 เมษายน 57 กำหนดแนวทางการแจกคูปองส่วนลดไว้ว่า
1. กล่องแปลงสัญญาณดิจิตอลภาคพื้นดิน (Set-Top-Box) พร้อมสายอากาศในอาคารแบบมีภาคขยาย (Active Antenna)
2. เครื่องรับโทรทัศน์แบบมีอุปกรณ์รับสัญญาณดิจิตอลในตัว
3. กล่องรับสัญญาณทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวี รองรับการดูรายการความละเอียดสูง (HD) และมีการเรียงช่องรายการตั้งแต่หมายเลข 1-36 ช่องแรกเป็นทีวีดิจิตอลและช่องที่ 37 เป็นต้นไปเป็น Pay TV ไม่หารายได้จากการโฆษณาและเป็นกล่องรับสัญญาณแบบขายขาด แม้ผู้บริโภคจะไม่จ่ายค่าบริการรายเดือนก็ดูฟรีทีวีดิจิตอล 36 ช่อง
ซึ่งแนวทางดังกล่าว อาจส่งผลให้รัฐเสียหายไม่น้อยกว่า 1 หมื่นล้านบาท อีกทั้งขัดต่อประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติเรื่องหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ พ.ศ. 2556 ข้อ 10.2 อาจจะขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และรวมถึงมีขั้นตอนที่ต้องพิจารณาให้รอบคอบ เนื่องจากอาจมีผลกระทบต่อภาระด้านงบประมาณของผู้บริโภค”
“กสท. กำลังดำเนินการขัดต่อประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการประมูลคลื่น ความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ พ.ศ. 2556 ข้อ 10.2 วรรคสอง ที่กำหนดให้กสทช.นำเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ส่งกองทุน กทปส. โดยมีการกำหนดไว้ว่า เงินค่าธรรมเนียม ใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ในส่วนของราคาขั้นต่ำ จะนำไปใช้เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนได้รับบริการด้านกิจการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลอย่างทั่วถึง ซึ่งมีงบประมาณเพียง 15,190 ล้านบาท และขณะที่ กสท. วางแผนใช้งบประมาณสูงถึง 22,000 ล้านบาท” นางมณี จิรโชติมงคลกุล กล่าว
นางสาวชลดา บุญเกษม กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินการของ กสท. ในครั้งนี้อาจจะขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 47 ที่จะต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนในระดับชาติและระดับท้องถิ่น เพราะการที่กสท. มีมติแจกคูปองสำหรับกล่องรับสัญญาณดาวเทียมด้วย ซึ่งสามารถดูทีวีดิจิทัลได้เพียง 36 ช่อง ขัดต่อมติของ กสท. ที่ตั้งใจจะให้เกิดการเปลี่ยนผ่านจากระบบอะนาล็อกสู่ระบบดิจิตอลที่ผู้บริโภคทุกคนมีโอกาสดูทีวีดิจิตอล 48 ช่อง ทำให้แผนดังกล่าวไม่เป็นจริง และสร้างภาระให้กับผู้บริโภคที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซื้อกล่องรับสัญญาณภาคพื้นดิน (Set Top Box) หรือซื้อทีวีที่มีการรองรับระบบดิจิตอลต่างหาก จึงเป็นภาระแก่ผู้บริโภคอย่างมาก
นอกจากนี้คณะกรรมการองค์การอิสระฯ ได้ขอเสนอให้ กสท. ตอบคำถามให้ชัดเจนเรื่องเงินทอน การทุจริต หรือการเลือกใช้วิธีการอื่นทดแทนการแจกคูปอง โดยเสนอทางออกที่น่าจะดีกว่า คือ
- กสท.กำหนดมาตรฐานคุณภาพกล่องรับสัญญาณดิจิตอล
- ใช้วิธีการประมูลโดยมีเงื่อนไข แจกกล่องรับสัญญาณแก่ประชาชนโดยตรง รับประกันสินค้า และ บริการหลังการขาย
- ต่อรองในการซื้อกล่องที่มีคุณภาพจำนวนมากถึง 22 ล้านกล่อง น่าจะลดการใช้งบประมาณของ ประเทศได้ไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท
นางมณี จิรโชติมงคลกุล กล่าวว่า แนวทางของ กสท. ดังกล่าวอาจเป็นการผลักภาระค่าใช้จ่ายให้ผู้บริโภคทั้งที่มีวัตถุประสงค์ลดค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนผ่าน ในอีกด้านหนึ่งเป็นการตั้งราคาที่เอื้อประโยชน์ต่อผู้ประกอบการเคเบิ้ลทีวี ทีวีดาวเทียม หรือผู้ผลิตโทรทัศน์ดิจิตอล จากข้อมูลการสำรวจราคากล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอลของนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เมื่อ 15 วันที่ผ่านมา พบว่า มีการจำหน่ายกล่องในราคาต่ำสุด 690 บาท แต่จากการสำรวจครั้งที่สองเมื่อวันที่ 28 เมษายนที่ผ่านมา พบว่า ไม่มีสินค้าราคาดังกล่าวในท้องตลาดปัจจุบัน หลังจากมีการเพิ่มราคาคูปองของกสทช. 1,000 บาท นอกจากนี้การเคาะราคาคูปองที่ 1,000 บาทของ กสท. ส่งผลให้ผู้ประกอบการที่จำหน่ายกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอลหลายรายตั้งราคาขายสูงกว่าราคาคูปอง ซึ่งแม้ราคากล่องรับสัญญาณจะสูงกว่าราคาคูปองที่แจก แต่ช่องรายการที่เป็นที่ต้องการรับชมของผู้บริโภคมากกว่า จึงมีความเป็นไปได้สูงที่ผู้ที่ได้รับคูปองจะนำไปใช้เป็นส่วนลดแลกซื้อกล่องของบรรดาผู้ให้บริการเคเบิ้ลทีวี ทีวีดาวเทียม มากกว่าที่จะนำไปใช้แลกซื้อกล่องที่ผลิตขึ้นมาเพื่อรับเฉพาะสัญญาณทีวีดิจิตอล ซึ่งหากเป็นแบบนั้นเป้าหมายของ กสท. ที่ต้องการให้เกิดช่องรายการคุณภาพ ช่องรายการเพื่อสังคม สาธารณะประโยชน์ และช่องรายการสำาหรับเด็กและเยาวชน อาจไม่เกิดขึ้นจริง เพราะผู้บริโภคเลือกที่จะไปรับชมรายการจากต่างประเทศในเคเบิ้ลทีวี ทีวีดาวเทียม ทำให้ผู้บริโภคต้องจ่ายเงินเพื่อการรับชมทีวีเพิ่มขึ้น
นางสาวชลดา บุญเกษม กล่าวต่อไปว่า “มีขั้นตอนการดำเนินงานที่ผิดพลาดในเรื่อง “ขั้นตอนการแจกคูปอง” ของ กสท. ทำให้เกิดผลกระทบแก่ผู้บริโภค เนื่องจาก กสท. ใช้วิธีการประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภครับทราบว่าจะมีการทดลองออกอากาศทีวีในระบบดิจิตอลในเดือนเมษายน ขณะที่จะมีการแจกคูปองในเดือนมิถุนายน เมื่อผู้บริโภครับทราบถึงการทดลองออกอากาศ ย่อมมีความต้องการดูทีวีในระบบดิจิตอลมากขึ้น จึงจำเป็นต้องซื้อกล่องตามแรงโฆษณาของทุกสถานีในปัจจุบัน ทำให้ต้องเสียเงินโดยไม่มีความจำเป็น ถือเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจกล่องหรือไม่
ดังนั้น คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน จึงขอให้พิจาณาข้อเสนอของคณะกรรมการ พร้อมทั้งศึกษาต้นทุนและมีกระบวนการที่โปร่งใสในการอนุมัติการแจก"คูปองส่วนลด"เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบทีวีดิจิตอล ก่อนที่จะมีการอนุมัติการแจกคูปองในช่วงเดือนกรกฎาคม เพื่อป้องกันความเสียหายอันจะเกิดแก่รัฐ และเป็นการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค...”