(1 ต.ค.56) เวลา 10.00น. ที่ห้องรับรอง 1-2 อาคารรัฐสภา 2 ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา และสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สายคุ้มครองผู้บริโภค เข้าชี้แจงข้อมูลข้อเท็จจริง ต่อคณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสารและโทรคมนาคม วุฒิสภา จากกรณี 5 สมาคม ประกอบด้วย สมาคมโทรคมนาคมเพื่อวิชาชีพและสังคม สมาคมบรอดแบรนด์เพื่อคนพิการและผู้ด้อยโอกาสประเทศไทย สมาคมดาวเทียมสื่อสารเพื่อพัฒนาประเทศไทย สมาคมธุรกิจอินเตอร์เน็ตไทย และสมาคมโทรคมนาคมเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ร้องเรียน กมธ. ให้ดำเนินการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. ทั้งสอง จากการคัดค้านการออกประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. … โดยระบุว่า เป็นการละเลยผู้บริโภค ไม่เคารพมติองค์กร และขาดจริยธรรมในการดำรงไว้ซึ่งเกียรติของ กสทช.
พบ 5 สมาคมเดินสายร้อง 6 กมธ. ส.ว.- 8 กมธ. ส.ส.
ทั้งนี้ ก่อนเริ่มการชี้แจง พล.อ.ชูชาติ สุขสงวน รองประธานคณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์ฯ แจ้งว่า ผู้ร้องรายเดียวกันนี้ได้ร้องต่อคณะกรรมาธิการฯ วุฒิสภา ชุดอื่นอีก 5 คณะด้วย โดยคณะกรรมาธิการบางคณะได้ส่งต่อให้คณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์ฯ เนื่องจากเห็นว่ามีหน้าที่โดยตรง ขณะที่ สุภิญญา กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ทราบมาว่ามีการเดินสายร้องเรียนตนเองและนายประวิทย์ ต่อ กมธ.ของ ส.ว. 6 คณะและ กมธ.ของ ส.ส. 8 คณะด้วย
แจงพยายามเสนอให้พิจารณาความชอบด้วยกฎหมาย แต่ไร้ผล
ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กสทช. ชี้แจงว่า ประกาศเรื่องคลื่น 1800 ได้รับความสนใจจากสังคมอย่างกว้างขวางว่าอาจมีปัญหาข้อกฎหมาย โดยแม้แต่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจก็มีบันทึกถึงสำนักงาน กสทช.ว่าประกาศน่าจะขัดกฎหมายและขัดแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ ซึ่ง กสทช. ออกเอง รวมถึงหากจะดูแลผู้บริโภค ก็ไม่จำเป็นต้องออกเป็นมาตรการทั่วไปกับทุกสัมปทาน เพราะกรณีอื่นๆ ที่จะหมดสัมปทานในอนาคตก็ยังไม่เล็งเห็นว่าจะเกิดเหตุ ขณะที่ ดร.นที ในการประชุม กสทช.เมื่อ 19 มิ.ย. ก็เคยมีความเห็นว่าควรหารือกับกฤษฎีกาหรืออนุกรรมการที่ปรึกษากฎหมายก่อน
ประวิทย์ ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ย้อนไปก่อนหน้านี้ ในการร่างแผนแม่บทของ กสทช. ตนเองได้เสนอให้กำหนดแนวทางเตรียมการรองรับการสิ้นสุดการอนุญาตสัญญาสัมปทาน ลงในยุทธศาสตร์ของแผนแม่บท รวมถึงยังเห็นชอบกับข้อเสนอของสำนักงาน กสทช. ที่ให้เตรียมการประมูลก่อนสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน และเสนอเพิ่มเติมให้อำนวยความสะดวกผู้บริโภคเรื่องการโอนย้ายเลขหมายและได้ เงินคืนในระบบเติมเงิน นอกจากนี้ยังได้ร่วมกับน.ส.สุภิญญา จัดเวทีสาธารณะเมื่อเดือน ส.ค.ปีที่แล้ว ก่อนสัญญาจะสิ้นสุด 13 เดือน เพื่อเร่งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมาสนใจ รวมทั้งได้พยายามขอมติในที่ประชุมให้ส่งอนุกรรมการที่ปรึกษากฎหมายเพื่อ พิจารณาความชอบด้วยกฎหมาย สุดท้าย กทค.ลงมติไม่ส่ง
ประวิทย์ ชี้แจงว่า ดังนั้น ตนเองจึงได้ประสานงานเชิญนักกฎหมายจากที่ต่างๆ มาให้ความเห็นเพื่อใช้ประกอบในการลงมติ ซึ่งที่ประชุมนักกฎหมายก็เห็นว่าดำเนินการไม่ได้ จากนั้นหลังนำร่างประกาศดังกล่าวไปรับฟังความเห็น ก็ได้ประสานงานกับโครงการประกาศนียบัตรบัณฑิตทางกฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเวทีขึ้น ซึ่งนักกฎหมายจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ก็เห็นพ้องต้องกันว่าประกาศฉบับนี้น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมถึงในการชี้แจงของ กทค.ต่อคณะกรรมาธิการชุดนี้ กรรมาธิการบางรายก็เคยมีข้อสังเกตเรื่องปัญหาทางกฎหมาย ดังนั้น ที่ตนเองไม่เห็นด้วยจึงไม่ใช่เรื่องผลประโยชน์ แต่เป็นเรื่องฐานอำนาจทางกฎหมาย ว่าจะดำเนินการโดยชอบได้อย่างไร
ประวิทย์ ชี้แจงว่า สิ่งที่เสนอคือ ให้ปรึกษากับที่ปรึกษาด้านกฎหมายไปพร้อมๆ กัน เมื่อได้ความเห็นมาอย่างไร จะได้ปรับตัวทัน แต่ที่ประชุมเลือกที่จะไม่ปรึกษาเลย จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ไม่อาจเห็นชอบร่างประกาศนี้ได้ เพราะมีลักษณะที่ทำให้ผู้ที่ไม่มีสิทธิในการประกอบกิจการได้ใช้คลื่นความถี่ ต่อในปัจจุบัน
ต่อคำถามของกรรมาธิการว่า สุดท้ายแล้วมีการเสนอเรื่องให้สำนักงานกฤษฎีกาชี้ขาดหรือไม่ ประวิทย์ตอบว่า ไม่มี โดยประกาศดังกล่าวใช้เสียงข้างมากของ กทค. วินิจฉัย
ทั้งนี้ ประวิทย์ชี้แจงด้วยว่า การจัดเวทีสาธารณะนั้นได้ทำเป็นประจำ ไม่ได้จัดเรื่องคลื่น 1800 เรื่องเดียว โดยจัดในหลากหลายประเด็น ทั้งเอสเอ็มเอสขยะ การพนัน ผลกระทบต่อสุขภาพจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ทีวีดิจิตอล ธรรมาภิบาลในการกำกับดูแล เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมให้ความเห็น ไม่ได้มีข้อสรุปใดๆ ทั้งสิ้น จากนั้นจึงนำความเห็นให้ กสทช.รับทราบ
ต่อคำถามว่าเคยมีการร้องเรียนต่อ กสทช.ให้พิจารณาด้านจริยธรรมหรือไม่ ประวิทย์ กล่าวว่า ยังไม่เคยเห็นหนังสือร้องเรียน เพราะหากมีการร้องเรียน ประธานต้องทำสำเนาหนังสือเรียกตนเองไปชี้แจง โดยที่ผ่านมา เห็นแต่จดหมายเปิดผนึก ก่อนการออกร่างประกาศ
แจงเหตุค้านร่างประกาศ 3 ประการ-ชี้ ผ่านแบบง่อนแง่น-พบมีผู้ร้องสัมพันธ์ กสทช.
สุภิญญา กลางณรงค์ ชี้แจงว่า ออกจะไม่เป็นธรรมที่จะกล่าวหาว่า พวกตนไม่เคารพมติบอร์ด เพราะ กสทช.แต่ละคนมีความเป็นอิสระและ กฎหมายบังคับว่า กรรมการทุกคนจะต้องเปิดเผยความเห็นต่อสาธารณะ เพราะฉะนั้น การที่พวกตนเองมีมติที่แตกต่าง จะลุกขึ้นมาชี้แจงต่อสาธารณะ ก็เป็นเรื่องที่ต้องทำอยู่แล้ว
สุภิญญา กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีการเลือกปฏิบัติ โดยสำนักงาน กสทช. ล่าช้าในการเปิดเผยมติการประชุม ล่าสุด กรณีคลื่น 1800 ก็เอาแต่ความเห็นของ กสทช. เสียงข้างมากขึ้นเว็บ ตนเองและนายประวิทย์ได้ทำความเห็นขอให้นำความเห็นของพวกตนเองขึ้นเว็บด้วย ก็ยังไม่ได้ขึ้น จึงต้องออกมาพูดข้างนอก อีกทั้งสำนักงาน กสทช. ยังสนับสนุนบอร์ด กทค.เสียงข้างมาก โดยซื้อสื่อประชาสัมพันธ์บ่อยครั้ง และมีไม่น้อยที่โจมตีพวกตน ขณะที่พวกตนไม่เคยใช้งบสำนักงานมาแก้ต่าง และต้องอาศัยพื้นที่โซเชียลเน็ตเวิร์กในการชี้แจง
สุภิญญา ชี้แจงต่อว่า เหตุผลที่คัดค้านร่างประกาศ 1800 เพราะมองว่า หนึ่ง เป็นร่างประกาศที่เอาผู้บริโภคเป็นตัวประกัน โดยแม้จะมีเวลา 2 ปี แต่ กทค. ก็ไม่ได้แจ้งผู้บริโภคล่วงหน้า ทั้งที่พวกตนในสายคุ้มครองผู้บริโภคได้จัดเวทีเพื่อกระตุ้นให้เกิดการแก้ ปัญหาตั้งแต่ ส.ค.ปีที่แล้ว แต่ก็ไม่ได้มีการดำเนินการใดๆ จน 2-3 เดือนสุดท้ายก่อนสัญญาจะหมด อีกทั้งเหตุผลที่ชี้แจงว่าเหตุใดจึงดำเนินการล่าช้าก็ฟังไม่ขึ้น
สอง ประกาศนี้สุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายอย่างมาก เนื่องจากการมี กสทช.เพื่อให้แก้ปัญหาหลังสัญญาสัมปทานสิ้นสุด ไม่ใช่พยายามต่อสัญญาสัมปทาน ประกาศนี้จึงเป็นเพียงสัมปทานจำแลง ซึ่งจะเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีต่อไปในอนาคต สาม กรณีไม่มีทางเลือกจริงๆ ได้เสนอว่าควรมีเงื่อนไขที่วิน-วิน กับผู้บริโภค เช่น ลดราคา คืนเงินให้ผู้บริโภค แต่กลับไม่มีข้อเสนอนั้นออกมา ด้วยเหตุผล 3 ประกาศ จึงลงมติไม่รับประกาศดังกล่าว
สุภิญญา ชี้ว่า หากดูบันทึกรายงานการประชุม บอร์ดฝั่งกระจายเสียง แม้จะไม่ได้โหวตไม่รับ แต่ก็ทำความเห็นสงวนทั้ง 4 ราย นับจริงๆ มีผู้ทำบันทึกความเห็นที่แตกต่าง 6 ราย ซึ่ง 6 ต่อ 11 นับว่า มากกว่า เสียงข้างมาก 4 คนด้วยซ้ำไป ร่างประกาศนี้จึงง่อนแง่นมาก มี 2 คนไม่รับ 4 คนทำความเห็นว่ากังวลเรื่องอะไรบ้าง โดยมีเพียง 5 คนที่ยืนยันชัดเจน
กรรมาธิการฯ ถามว่า เคยรู้จักกับสมาคมที่มาร้องเรียนหรือไม่ และทราบไหมว่า เหตุใดจึงมีการร้องเรียน กสทช.ทั้งสอง ชี้แจงว่าไม่รู้จักองค์กรที่ร้องเรียนมาก่อน โดยประวิทย์ระบุว่า จากการทำงานด้านคุ้มครองผู้บริโภคมากกว่า 10 ปี ไม่เคยพบชื่อสมาคมเหล่านี้ว่าทำงานด้านคุ้มครองผู้บริโภคมาก่อน ขณะที่ สุภิญญา กล่าวว่า หลังถูกร้องเรียนจึงได้หาข้อมูลเกี่ยวกับสมาคมต่างๆ พบว่า หลายสมาคมมีกิจกรรมที่ กทค. เป็นระยะ เช่น มีบางสมาคมเคยมาให้กำลังใจบอร์ด กทค.กรณี 3G รวมถึงสมาคมบรอดแบนด์ คนพิการและผู้ด้อยโอกาสประเทศไทย ได้รับการจัดสรรงบประมาณจัดจ้างจากสำนักงาน กสทช.ด้วยวิธีพิเศษ 2 รายการ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา รวมเป็นเงินกว่า 21 ล้านบาท (อ้างอิง 1, 2)
ที่มา: ประชาไท วันที่ 1 ต.ค. 2556 prachatai.com