กค.จับมือเครือข่ายพลเมืองเน็ต สร้างความตระหนักการใช้อินเตอร์เน็ต ชี้ภัยคุมคามทางเพศ ต้นเหตุจากโซเชียลมีเดียเพียบ
25 ก.ย.56 ที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย (มกค.)คณะนิติศาสตร์ มกค. ร่วมกับเครือข่ายพลเมืองเน็ต มูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์ ไพรเวซีอินเทอร์เนชันแนล และอินเทอร์นิวส์ จัดการประชุมว่าด้วยเทคโนโลยีและสิทธิพลเมืองครั้งที่ 2 “หน้าต่างมีหูประตูมีช่อง: ความเป็นส่วนตัวออนไลน์และการสอดส่องการสื่อสาร” (Online Privacy and Communications Surveillance)” โดยมี รศ.ดร.เสาวนีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดี มกค. กล่าวว่า ทุกวันนี้สังคมออนไลน์มีความสำคัญต่อการใช้ชีวิตของมนุษย์ เพราะคนส่วนใหญ่ต่างหันมาสื่อสารกันผ่านโลกออนไลน์ อินเตอร์เน็ต ไม่มีใครมานั่งจดบันทึก หรือแลกเปลี่ยนข้อมูลกันผ่านทางกระดาษ และการใช้ชีวิตผ่านโลกออนไลน์
อีกทั้งข้อมูลส่วนตัวของเราก็ถูกเก็บไว้และไหลเวียนอยู่บนอินเตอร์เน็ต จำนวนมาก ทำให้หลายคนหลงลืม ไม่ตระหนักถึงความปลอดภัยของตัวเอง โดยดูการใส่ข้อมูลส่วนตัว หรืออัพโหลดเกี่ยวกับเรื่องราวของตัวเอง เช่น ทำธุรกิจ ธุรกรรมทางการเงิน ภาพส่วนตัวต่างๆ ซึ่งการเผยแพร่ข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ อาจกลายเป็นช่องทางของคนร้ายนำข้อมูลไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง เพราะต่อให้มีระบบป้องกันในอินเตอร์เน็ตมากมาย แต่แฮกเกอร์ก็มีกระบวนการดึงข้อมูล ภาพต่างๆ มาใช้ได้
การประชุมในครั้งนี้ จึงเป็นความร่วมมือกันระหว่างคณะนิติศาสตร์ มกค. กับเครือข่ายพลเมืองเน็ต เพื่อเป็นการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และความปลอดภัย อะไรควรระมัดระวังจากการใช้อินเตอร์เน็ต จากผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการด้านกฎหมาย และเครือข่ายต่างๆที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเป็นการสร้างความร่วมมือการแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการ กระตุ้นให้มีศึกษาค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวมากขึ้น
ดร.จอมพล พิทักษ์สันตโยธิน คณะนิติศาสตร์ กล่าวว่า การใช้อินเตอร์เน็ตในประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม อดีตเป็นเพียงการใช้เพื่อค้นหาข้อมูล หรือเขียนเว็บบอร์ด แต่ตอนนี้การใช้อินเตอร์เน็ต เป็นรูปแบบโซเชียลมีเดีย อย่าง เฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์ ที่เป็นลักษณะการใส่ข้อมูลส่วนบุคคล มีการอัพโหลดภาพส่วนตัวต่างๆ ทำให้ผู้ไม่ประสงค์ดีนำไปใช้ในเรื่องที่ผิดกฎหมาย คุกคามทางเพศ และตามรังควาน
อาทิ นำข้อมูล รูปภาพไปใช้ในการแอบอ้าง สวมรอยเชิงคุกคามทางเพศ โดยที่เจ้าของข้อมูล รูปภาพไม่รู้เรื่อง หรือมีการนำภาพกิจกรรมทางเพศมาเผยแพร่ เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันกรณีเหล่านี้ในประเทศไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่กฎหมายของประเทศไทยเองไม่ได้มีกฎหมายเอาผิดผู้ที่กระทำผิดโดยตรง แต่เป็นการอาศัยพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ หรือกฎหมายหมิ่นประมาท รวมถึงยังมีการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้อินเตอร์เน็ต คอมพิวเตอร์ต่างๆ น้อยมาก
ดังนั้น ทางกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ต้องร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) จัดทำคู่มือการใช้อินเตอร์เน็ตอย่างระมัดระวังให้แก่เด็ก พ่อแม่ผู้ปกครอง และโรงเรียน อีกทั้งอยากฝากผู้ใช้อินเตอร์เน็ตเองควรจะรอบคอบในการใช้อินเตอร์เน็ต เพราะความเสี่ยงในการโพสต์ข้อมูล รูปภาพต่างๆนั้นมีจำนวนมาก โดยวิธีป้องกันง่ายๆ ได้แก่ โพสต์รูปที่มีความละเอียดต่ำ หรือไม่ต้องใส่ข้อมูลรายละเอียดที่สำคัญของตนเอง ส่วนภาพกิจกรรมทางเพศนั้น ไม่ควรจะถ่ายไว้ ต้องคำนึงอยู่เสมอว่าหากหลุดไปอยู่บนอินเตอร์เน็ตแล้วไม่สามารถแก้ไขอะไรได้
ที่มา: เว็บไซต์คมชัดลึก www.komchadluek.net วันพุธที่ 25 กันยายน 2556