จี้กสทช.บังคับ'จัดช่องรายการ'หวั่นเจอเก็บ'ค่าต๋ง'แลกอยู่ต้น

ผู้ประกอบการช่องทีวีดาวเทียมเร่ง กสทช.เดินหน้าบังคับใช้ประกาศฯ จัดหมวดหมู่-เรียงช่องรายการ เจ้าของแพลตฟอร์มโครงข่าย "กล่อง-เคเบิลทีวี" เสนอจัดหมวดช่องบันเทิงใหม่แยกรายกลุ่ม หวั่นแพลตฟอร์มใช้ช่องวางเรียกเก็บค่าต๋งเรียงช่อง  พร้อมเห็นต่างแยก "ทีวีดิจิทัล" ออกเป็นหนึ่งหมวดเฉพาะ ทั้งๆ ที่มีช่องข่าวเด็ก บันเทิงเหมือนกัน

หลังจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ออกประกาศ กสทช.เรื่อง หลักเกณฑ์การกำหนดหมวดหมู่และการจัดลำดับบริการโทรทัศน์ที่ไม่ใช้คลื่นความ ถี่ พ.ศ.2556 โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 26 เม.ย.2556 โดยกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตดำเนินการจัดลำดับหมวดหมู่ช่องโทรทัศน์ที่ไม่ใช้ คลื่นฯ คือ กิจการแพลตฟอร์มเคเบิลทีวี และทีวีดาวเทียม ดำเนินการภายใน 60 วันนับจากประกาศมีผลบังคับใช้ หรือนับตั้งแต่วันที่ 26 มิ.ย.ที่ผ่านมานั้น

สาระสำคัญของประกาศฯ คือ ให้ผู้รับใบอนุญาตมีหน้าที่จัดหมวดหมู่บริการโทรทัศน์ที่ไม่ใช้คลื่น ประกอบด้วยหมวด ช่องบริการโทรทัศน์ที่ให้บริการทั่วไป (ทีวีดิจิทัล) หมวดช่องข่าวทั่วไป หมวดช่องเด็กและครอบครัว หมวดช่องการศึกษา หมวดช่องกีฬา และหมวดปกิณกะ (วาไรตี้) โดยกำหนดให้โครงข่ายจัดหมวดหมู่ช่องบริการทั่วไปไว้เป็นหมวดแรก ส่วนที่เหลือให้สลับลำดับหมวดหมู่ได้

นอกจากนี้ ตามประกาศฯ ยัง "ห้าม" ผู้ได้รับใบอนุญาตเรียกเก็บผลประโยชน์ใดๆ จากช่องรายการ อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงหมวดหมู่ช่องรายการจะต้องได้รับความเห็นชอบจาก กสทช. โดยต้องขอความเห็นชอบก่อนทำการเปลี่ยนแปลงไม่น้อยกว่า 30 วัน

จี้กสทชบังคับจัดหมวดช่อง

แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการทีวีดาวเทียม กล่าวว่า ที่ผ่านมาแพลตฟอร์มกล่องรับสัญญาณดาวเทียมระบบ "ซี แบนด์" บางราย เรียกเก็บค่าบริการจัดเรียงช่องในรูปแบบการให้บริการจัดทำเรทติ้งจากเจ้าของ ช่องรายการในอัตราเดือนละ 5 หมื่น ถึง 5 แสนบาท  ซึ่งจะได้รับเลขช่องรายการในลำดับต้นๆ ขณะที่ช่องรายการที่ไม่จ่ายค่าบริการดังกล่าว จะถูกเรียงช่องไว้ลำดับท้ายๆ  และมีการเปลี่ยนแปลงเลขช่องโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า ทำให้ผู้ชมได้รับผลกระทบในการรับชม

"การเรียกเก็บค่าบริการจัดเรียงช่องรายการดังกล่าวเป็นการทำลายการแข่งขัน เสรีอย่างเป็นธรรมในอุตสาหกรรมสื่อ" แหล่งข่าวระบุ และว่าเมื่อประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์การจัดหมวดหมู่ช่องฯ มีผลบังคับใช้แล้ว ต้องการให้ กสทช.บังคับใช้ประกาศฯ อย่างจริงจัง เพื่อให้ผู้ได้รับใบอนุญาตโครงข่ายทุกรายปฏิบัติตาม

พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช. และประธานกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) กล่าวว่า ประกาศ กสทช.เรื่องหลักเกณฑ์การจัดหมวดหมู่ช่องรายการมีผลบังคับใช้แล้ว ดังนั้นหลังจากนี้ผู้ประกอบการแพลตฟอร์มทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวีที่ได้รับ ใบอนุญาตโครงข่ายจะต้องปฏิบัติตามประกาศฯฉบับนี้ โดย กสทช.จะเข้าไปกำกับดูแลอีกครั้ง

ชงจัดช่อง"บันเทิง"กันเรียกค่าต๋ง

นายเดียว วรตั้งตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มงานแพลตฟอร์ม สแทรทิจี แอนด์ สปอนเซอร์ชิพ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แซทเทรดดิ้ง จำกัด เจ้าของแพลตฟอร์ม "จีเอ็มเอ็ม แซท" กล่าวว่า หลังจากมีประกาศ กสทช.เรื่องกำหนดหมวดหมู่และการจัดลำดับช่องโทรทัศน์ที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ จีเอ็มเอ็ม แซท ได้ดำเนินการจัดเรียงช่องตามประกาศแล้ว ทั้งนี้ มีข้อเสนอให้ กสทช.บังคับใช้ประกาศฯดังกล่าวในทุกแพลตฟอร์ม ทั้งทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวีอย่างเท่าเทียม

พร้อมกันนี้เสนอให้ กสทช.ดำเนินการเพิ่มเติมในช่องรายการประเภทปกิณกะบันเทิงใหม่ ซึ่งเป็นช่องรายการกว่า 80% ของทีวีดาวเทียมกว่า 200 ช่องในปัจจุบัน เพราะอาจเปิดโอกาสให้โครงข่าย "เรียกรับผลประโยชน์" ในการจัดเรียงช่องกลุ่มบันเทิงซ้ำรอยการเก็บค่าเลขช่องของแพลตฟอร์มดาวเทียม ที่ผ่านมา จึงเสนอ กสทช. ให้มีการแก้ไขการจัดหมวดหมู่กลุ่มช่องบันเทิงให้ชัดเจน ประกอบด้วยกลุ่มภาพยนตร์ เพลง ละครและซีรี่ส์ สารคดี และวาไรตี้ เพื่อให้ผู้ชมเลือกดูได้สะดวกและรวดเร็ว

ทั้งนี้ ในกรณีผู้ให้บริการโครงข่ายเลือกหมวดหมู่ใด เช่น กลุ่มช่องเพลง ต้องนำทุกช่อง มาออกอากาศทั้งหมด พร้อมทั้งกำหนดให้การย้าย เปลี่ยนแปลง และจัดเรียงลำดับหมายเลขช่องของผู้ให้บริการโครงข่ายต้องแจ้งและได้รับ อนุมัติจาก กสทช.ก่อน รวมทั้งต้องแจ้งให้เจ้าของช่องรายการล่วงหน้า 60 วันเพื่อให้ช่องรายการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ชมรู้ล่วงหน้า เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อผู้ชมและสร้างความเสียหายจากผู้สนับสนุนโฆษณา

นายนิพนธ์ นาคสมภพ นายกสมาคมโทรทัศน์ดาวเทียม (ประเทศไทย) กล่าวว่า รูปแบบการจัดหมวดช่องตามประกาศ กสทช.ไม่ควรแยกจัดช่องบริการโทรทัศน์ที่ให้บริการทั่วไป(ทีวีดิจิทัล) ออกเป็นหนึ่งหมวดเฉพาะ เพราะในกลุ่มทีวีดิจิทัลก็มีทั้งช่องข่าว ช่องเด็ก ช่องบันเทิง แต่ควรนำช่องทีวีดิจิทัลประเภทต่างๆ มารวมอยู่ในช่องทีวีประเภทอื่นๆ และจัดเป็นหมวดช่องประเภทเดียวกัน เพื่อให้ผู้ชมสามารถเลือกรับชมช่องรายการประเภทนั้นๆ เช่น ช่องข่าว ได้ครบทุกช่อง โดยไม่ต้องแบ่งว่าเป็นช่องทีวีดิจิทัลหรือช่องทีวีดาวเทียม

"กล่องเคเบิล"เดินหน้าจัดช่อง

นายนิรันดร์ ตั้งพิรุฬห์ธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัทอินโฟแซท จำกัด ผู้ผลิตจัดจำหน่ายกล่องและจานดาวเทียม "อินโฟแซท" เปิดเผยว่า หลังได้รับใบอนุญาตโครงข่ายกิจการไม่ใช้คลื่นความถี่จาก กสทช. เมื่อวันที่ 15 ก.ค.ที่ผ่านมา ก็มีหน้าที่ต้องดำเนินการจัดเรียงช่องตาม ประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์จัดหมวดหมู่และเรียงช่อง ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ดำเนินการจัดหมวดหมู่ช่องรายการไว้เรียบร้อยแล้ว

หลังจากได้รับใบอนุญาตในแฟลตฟอร์มอินโฟแซท จะจัดเรียงหมวดหมู่ช่องรายการใหม่ เริ่มที่ช่องฟรีทีวีและทีวีดิจิทัล 48 ช่อง ตามด้วยช่องเด็ก ช่องข่าว กีฬา และบันเทิง ทั้งนี้ ในแต่ละหมวดจะมีการสำรองเลขหมายไว้อีกหมวดละ 10 ช่อง เพื่อรองรับช่องรายการทีวีดาวเทียมที่จะเปิดตัวใหม่ โดยไม่ต้องปรับเปลี่ยนเลขช่องทุกครั้งเมื่อเพิ่มช่องรายการใหม่ในแต่ละหมวด

นายสมพร ธีระโรจนพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีเอสไอ โฮลดิ้ง จำกัด เจ้าของแพลตฟอร์มจานดาวเทียม "พีเอสไอ" กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทยังไม่ได้รับใบอนุญาตโครงข่ายจาก กสทช. ซึ่งได้ยื่นขอไปก่อนหน้านี้เช่นเดียวกับรายอื่นๆ ดังนั้นประกาศฯ จึงยังไม่มีผลบังคับใช้กับพีเอสไอ ปัจจุบันได้จัดหมวดหมู่ช่องรายการและใช้งานแล้ว คือ เด็ก ข่าว เพลง บันเทิง สารคดี  เป็นต้น พร้อมกันนี้ได้เตรียมหมวดช่องรายการทีวีดิจิทัลสาธารณะ รวม 12 ช่องที่ กสทช.เตรียมจะให้ใบอนุญาตไว้ล่วงหน้าแล้วเช่นกัน อย่างไรก็ตาม หลังจากพีเอสไอได้รับใบอนุญาตโครงข่ายจาก กสทช. จะมีการพิจารณาแนวทางปฏิบัติตามประกาศฯ ร่วมกันอีกครั้ง

นายอาณัติ เมฆไพบูลย์วัฒนา กรรมการผู้จัดการ ทรูวิชั่นส์ กรุ๊ป กล่าวว่า แพลตฟอร์มเคเบิลทีวีทรูฯ ได้ดำเนินการจัดหมวดหมู่ช่องรายการไปแล้วตามประกาศ กสทช. โดยได้มีการประชาสัมพันธ์ให้สมาชิกรับรู้ข้อมูลการจัดช่องดังกล่าวต่อเนื่อง เพื่อป้องกันความสับสนในการหาเลือกดูช่องเดิม เพราะบางช่องรายการมีการเปลี่ยนลำดับเลขช่องใหม่

"ชงจัดช่องบันเทิงกันเรียกค่าต๋ง"

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 28 ก.ค. 2556

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน