"ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา"ปลุกพลังผู้บริโภค ฟ้องค่าโทรเกิน "99 สตางค์"

นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม ให้สัมภาษณ์วิทยุจุฬา ถึงการประกาศอัตราขั้นสูงของค่าบริการโทรคมนาคม สำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทเสียงภายในประเทศ พ.ศ. 2555 ซึ่งกำหนดไม่ให้ค่ายมือถือคิดค่าบริการที่เกินกว่านาทีละ 99 สตางค์ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย. 2555 และวันที่ 1 ม.ค. 2556 ทุกค่ายมือถือต้องปฏิบัติตามประกาศฉบับนี้อย่างเคร่งครัด

"ประวิทย์" กสทช. ด้านคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า ผู้บริโภคต้องจริงจังในการร่วมตรวจสอบค่ายมือถือที่ยังฝ่าฝืนคิดค่าบริการ เกิน '99 สตางค์' หรือพบโปรโมชั่นคิดค่าบริการเกินกว่าที่ประกาศอัตราขั้นสูงของค่าบริการโทร คมนาคมกำหนด รีบแจ้งสำนักงาน กสทช.ทันที

ประกาศฉบับนี้ ถือเป็นหน้าที่ตามกฎหมายซึ่งให้อำนาจ กสทช. กำหนดอัตราขั้นสูงของค่าบริการ เพื่อไว้ตรวจสอบว่า ผู้ให้บริการคิดราคาแพงเกินจริง เอาเปรียบผู้บริโภค หรือค้ากำไรเกินควรหรือไม่

กสทช. ไม่ได้จินตนาการตัวเลข 99 สตางค์ขึ้นมาเอง แต่ได้นำบัญชีของทุกค่ายมือถือมาพิจารณาต้นทุนที่แท้จริง ก่อนกำหนดอัตราค่าบริการที่ทุกบริษัทอยู่ได้

"การกำหนดวิธีแบบนี้ เชื่อว่าไม่มีบริษัทไหนเจ๊งแน่นอน ทั้งยังพบว่าข้อมูลจริงรายได้เฉลี่ยต่อนาทีของแต่ละบริษัท เมื่อเอาทุกโปรโมชั่นมารวมกัน ค่ายมือถือจะมีรายได้เฉลี่ยประมาณ 70 สตางค์ต่อนาที การกำหนด 99 สตางค์ต่อนาที จึงไม่ได้ทำให้เขาขาดทุน แต่อาจมีคำถามว่า ทำไมไม่กำหนด 70 สตางค์ เพราะเราเผื่อไว้สำหรับลูกเล่นโปรโมชั่น ซึ่งมีความหลากหลาย บางคนโทรสั้น โทรยาว อาจเกิดปัญหา ต้องกำหนดอัตราขั้นสูงให้เป็นธรรม และให้ค่ายมือถือได้ผลิตโปรโมชั่นที่หลากหลายได้"

ทั้งนี้ ประกาศอัตราขั้นสูงค่าบริการฉบับนี้บังคับใช้ตั้งแต่เมื่อเดือนเม.ย. ปีที่ผ่านมา ซึ่งต้องให้เวลาทุกโปรโมชั่นที่มีออกมาก่อนวันที่ 4 เม.ย. 2555 อยู่ได้เท่าเดิม แต่ต้องไม่เกินสิ้นปี 2555 เพราะส่วนใหญ่ของโปรโมชั่น กว่า 90% หมดไปแล้ว คงค้างอยู่เพียงโปรโมชั่นส่วนน้อย และมีลูกค้าจำนวนไม่มากสามารถจัดการได้ ซึ่งวันที่ 31 ธ.ค. 2555 ควรต้องหมด

และในวันที่ 1 ม.ค. 2556 เป็นต้นไป ผู้บริโภคที่ใช้บริการโทรศัพท์มือถือทั้งของ เอไอเอส และ ดีแทค จ่ายค่าโทรไม่เกินนาทีละ 99 สตางค์

"ต้องบังคับเฉพาะค่าย เอไอเอส และ ดีแทค นั้น เพราะถือว่ามีอำนาจเหนือตลาด เป็นรายใหญ่ที่มีลูกค้าเกิน 25% ส่วนรายเล็กนั้นเป็นการแข่งขันทางธุรกิจ ถ้ารายใหญ่ลดราคา รายเล็กก็ต้องลดตาม"

ที่ผ่านมาสำนักงาน กสทช. ออกประกาศบริษัทที่มีอำนาจเหนือตลาด 2 ราย คือ เอไอเอส และ ดีแทค แต่เมื่อปลายปี 2555 ที่ผ่านมา พบข้อมูลล่าสุด ระบุว่า "ทรู" เริ่มมีส่วนแบ่งการตลาดมากกว่า 25% ดังนั้นภายในเดือนม.ค. นี้ สำนักงาน กสทช.จะทบทวนว่า "ทรู" เข้าข่ายด้วยหรือไม่ ถ้าเข้าข่ายต้องประกาศให้ ทรู เข้าเกณฑ์ 99 สตางค์ นี้ด้วยเช่นกัน

ประวิทย์ ให้ข้อมูลอีกว่า ปัจจุบันโปรโมชั่นของค่ายมือถือที่ออกมา มักคิด "นาทีแรก" แพงกว่านาทีถัดไป ยกตัวอย่าง นาทีแรก 3 บาท นาทีถัดไป 2 บาท นาทีต่อไป 25 สตางค์

ผู้บริโภคหลายราย โทรนาทีแรก 3 บาท โทรไป 10 วินาที "สายหลุด" ต้องจ่าย 3 บาท หากโทรใหม่ก็จ่ายอีก 3 บาท เพราะคุณภาพสัญญาณ "ไม่ดี" ทำให้สายหลุด!! ในแง่ผู้บริโภคอาจจะคิดว่าทำไมต้องคิดราคาขนาดนี้ ไม่เป็นธรรม

อีกกรณี ผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในไทย 90% เป็นแบบเติมเงิน แบบรายเดือนมีเพียง 10% ซึ่งโปรโมชั่นแบบ "เติมเงิน" แพงกว่าแบบรายเดือน ทั้งที่คนที่ใช้แบบเติมเงินเป็นกลุ่มคนที่มีรายได้น้อย สะท้อนว่า "คนจน" จ่ายค่าโทรแพงกว่า "คนรวย" กสทช. จึงต้องกำหนดอัตราค่าบริการที่เป็นธรรม กล่าวคือ กำหนดที่นาทีละไม่เกิน 99 สตางค์

ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2556 เป็นต้นไป โปรโมชั่นของค่ายมือถือที่คิดนาทีละ 2 บาท 3 บาท จะไม่สามารถทำได้อีกต่อไป

"โปรโมชั่นที่เราเข้าไปตรวจสอบในเว็บผู้ให้บริการ บางโปรโมชั่นดูค่อนข้างยาก เพราะเป็นแบบเหมาจ่าย 890 บาท เล่นอินเทอร์เน็ตได้ 2 กิกะไบต์ โทรได้ 500 นาที ซึ่งผู้บริโภคจะไม่รู้ว่าโปรโมชั่นแบบนี้เกิน 99 สตางค์หรือไม่ เพราะเป็นการเหมาหมดทุกอย่าง"

กรณีนี้ ผู้ให้บริการต้องแจ้งมายัง กสทช. ว่า ส่วนที่เหมานั้นแยกเป็นค่าอินเทอร์เน็ต ค่าโทร เอสเอ็มเอส เท่าไร แล้ว กสทช. จะคิดคำนวณให้ว่าเกิน 99 สตางค์หรือไม่

โดยเมื่อพบว่า มีการคิดค่าบริการที่เกิน 99 สตางค์ สำนักงาน กสทช.จะแจ้งเตือนบริษัทให้ตรวจสอบว่าจริงหรือไม่!!
หากเป็นจริงต้องดำเนินการแก้ไขภายใน 15 วัน หลังจากนั้นถ้ายังพบอีก กสทช.จะ "แจ้งปรับ" โดยให้เวลาอีก 15 วัน เท่ากับให้บริษัทเตรียมตัว 30 วัน นับเป็นเวลาที่ไม่น้อยเกินไป เพราะประกาศฉบับนี้ออกมาก่อนหลายเดือนแล้ว อยู่ที่ว่า สำนักงาน กสทช. จะดำเนินการได้ "ช้า" หรือ "เร็ว"

ประวิทย์ กล่าวว่า สำหรับอัตรา "ค่าปรับ" นั้น หากเป็นไปตามกฎหมายปกครองอื่น สามารถปรับหน่วยงานใต้การปกครองไม่เกิน 20,000 บาท แต่ทางด้านโทรคม เป็น "กฎหมายเฉพาะ" สามารถเรียกปรับได้ตั้งแต่ 20,000 บาท จนถึง 200 ล้านบาท ก็ได้ พิจารณาจากความเสียหายจริง

"เวลานี้ แต่ละเบอร์หากใช้งาน 30 วัน ในระบบเติมเงิน ต้องเติม 300 บาท ทั้งที่ใช้งานจริงอาจไม่ถึง ทำให้ต่อเบอร์ของมือถือมีกำไรเป็น 100 ล้านบาท 60 ล้านเบอร์ ก็เท่ากับ 6,000 ล้านบาท เราไปปรับเขาวันละ 1 แสนบาท ถือว่าเล็กน้อยมาก จึงต้องกำหนดค่าปรับทางปกครองด้านโทรคมเพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการได้ประโยชน์ ส่วนเกิน ที่ไม่ถูกกฎหมายด้วย"

ส่วนการพิจารณา "ช้า" หรือ "เร็ว" นั้น เป็นหน้าที่ของสำนักงาน กสทช. โดยหลักขีดเส้นไว้ว่า "ให้บริษัทมือถือตรวจสอบในกี่วัน แล้วแจ้งกลับมาที่ กสทช. ถ้าไม่แจ้งกลับมาจะถือว่า ไม่ปฏิบัติตาม ก็จะเริ่มเข้ากระบวนการปรับได้"

"วิธีที่ดีกว่า การปรับของ กสทช. ในส่วนของผู้บริโภค คือ หากค่ายมือถือคิดค่าบริการผู้บริโภคเกิน ถือเป็นหนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และถ้าผู้บริโภคไปจ่ายเท่ากับยอมรับ ผู้บริโภคต้องไม่จ่ายเงิน ควรต้องแจ้งไปยังค่ายมือถือ ว่าคิดค่าบริการเกินกำหนด และเก็บใบแจ้งหนี้ไว้เป็นหลักฐาน ผู้บริโภคต้องหมั่นตรวจสอบใบแจ้งหนี้ และยิ่งหากรวมตัวกันช่วยกันตรวจสอบ เชื่อว่าจะมีพลังมากกว่า กสทช. ไปปรับค่ายมือถือแค่หลักหมื่น หลักแสนอีก"

กสทช. ด้านคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวต่อไปว่า เมื่อผู้บริโภคทราบแล้วว่าผู้ให้บริการคิดค่าโทรเกิน ต้องโทรแจ้งคอลล์เซ็นเตอร์ของค่ายมือถือทันที หากบริษัทรับเรื่องแล้ว "ทำเฉย" ให้ร้องเรียนไปยังสายด่วน กสทช. 1200 ไม่คิดค่าบริการ กสทช. จะตรวจสอบทันที หากค่ายมือถือผิด จะสั่งให้ "ลดหนี้" และ "ห้ามเก็บเกิน"

อย่างไรก็ตาม ค่ายมือถือมักมีไม้เด็ดบังคับผู้บริโภค เมื่อ "ไม่จ่าย" ก็จะ "ตัดสัญญาณ" ซึ่งไม่สามารถกระทำได้ เพราะตามหลักกฎหมาย ค่ายมือถือ "ไม่มีสิทธิ" ตัดสัญญาณ การตัดสัญญาณจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อผู้บริโภค "ไม่จ่ายหนี้ติดต่อกัน 2 รอบบิล"

แต่กรณีที่เอกชนทำผิดกฎหมาย ถือเป็น "ข้อพิพาท" บริษัทไม่มีสิทธิตัดสัญญาณ ถ้าผู้บริโภคโดนตัดสัญญาณให้แจ้ง กสทช. ทันทีเช่นกัน ส่วนการจะพิสูจน์ว่า ค่ายมือถือ ผิดจริง หรือไม่ผิดจริงนั้น อาจต้องใช้เวลาพิสูจน์ หากมีผู้บริโภคร้องเรียน จะเข้าสู่ข้อพิพาทในระหว่างที่เป็นข้อพิพาทนั้น ค่ายมือถือไม่มีสิทธิตัดสัญญาณจนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่า"ถูก" หรือ "ผิด"

ประวิทย์ ย้ำว่า ในปีนี้น่าจะเกิดปัญหาใหญ่ จาก "สัญญาสัมปทานทรูมูฟ" กับ "ดีพีซี" ที่ทำไว้กับ กสท จะหมดลง ซึ่งมีลูกค้าใช้งานอยู่กว่า 20 ล้านราย เมื่อหมดอายุสัมปทานแล้วในวันรุ่งขึ้น ผู้ให้บริการไม่สามารถให้บริการต่อได้ เพราะจะเข้าข่ายผิดกฎหมายทันที อาจจะเกิดกรณี "ซิมดับ" ทั่วประเทศ 20 ล้านราย และจะ "กู้คืน" ก็ไม่ได้ เพราะผิดกฎหมาย

"สิ่งที่ผู้บริโภคต้องเตรียมตัว คือ หาเบอร์สำรอง หรือต้องย้ายค่าย เพราะเมื่อให้บริการไม่ได้ เบอร์ก็จะหาย เงินที่อยู่ในระบบก็จะเอาคืนยาก ผู้ประกอบการเองต้องส่งแผนรองรับนี้มาให้ กสทช."

คลื่นที่หมดสัมปทานนั้น จะต้องถูกนำมาประมูลใหม่ และหากว่าเป็นคลื่น "ทรูมูฟ" เมื่อประมูลใหม่ไม่ว่าจะได้ "เอไอเอส" หรือ "ดีแทค" ลูกค้าโกลาหลแน่นอน เพราะเงินที่เติมในระบบของทรูมูฟ คงไม่โอนมาให้เอไอเอส หรือดีแทค ลูกค้าต้องเติมเงินใหม่ เบอร์ก็ต้องไปจดทะเบียนใหม่ ทั้งผู้บริโภค-ค่ายมือถือ-กสทช. ต้องเร่งวางมาตรการรองรับอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อไม่ต้องขึ้น "เยียวยา"

ข้อมูลจาก นสพ.กรุงเทพธุรกิจ 5 ม.ค. 56

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน