กสทช.ด้านคุ้มครองผู้บริโภค หวั่นผู้บริโภคเดือดร้อนจาก "ซิมดับ" หลังทรูมูฟจะหมดสัมปทานกับ กสท โทรคมนาคม ในเดือนก.ย.นี้
นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ในเดือนกันยายน 2556 จะเป็นวันหมดสัญญาร่วมการงานหรือสัมปทานระหว่างผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อน ที่ "ทรูมูฟ" และ "ดีพีซี" กับ บมจ.กสท โทรคมนาคม ถือเป็นการสิ้นสุดสิทธิในการใช้คลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิร์ตซ์ ทำให้ทรูมูฟซึ่งมีลูกค้า 20 ล้านเลขหมาย และดีพีซีซึ่งมีลูกค้า 2 แสนเลขหมาย ไม่สามารถให้บริการต่อไปได้ เพราะเป็นการผิดกฎหมายทั้งทางแพ่งและอาญา
ทั้งนี้กังวลว่าจะมีปรากฏการณ์ “ซิมดับ” ผู้บริโภคจะใช้งานไม่ได้นับจากวันดังกล่าว ซึ่ง กสทช. ควรจะจัดการประมูลคลื่นความถี่ล่วงหน้าเพื่อให้มีผู้ให้บริการรายใหม่มา ดำเนินการ แต่ขณะนี้เหลืออีกเพียง 8 เดือน คงดำเนินการไม่ทัน อีกทั้งมีแนวโน้มว่า กสท จะตัดสินใจให้บริการต่อโดยไม่คืนสิทธิให้ กสทช. ซึ่งจะตามมาด้วยการฟ้องร้องเกี่ยวกับสิทธิในการใช้คลื่นเพื่อล้มการประมูล คล้ายกับที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว
ส่วนในด้านผู้บริโภคนั้น มีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดการสะดุดในการให้บริการในช่วงรอยต่อ เพราะแม้มีการจัดประมูลได้ทัน แต่หากผู้ชนะการประมูลไม่ใช่ทรูมูฟ ก็จะต้องมีการให้ลูกค้าร่วม 20 ล้านราย ย้ายค่ายมือถือจากทรูมูฟไปค่ายใหม่ที่ชนะการประมูล ซึ่งโดยส่วนใหญ่ 90% เป็นลูกค้าเติมเงินที่จะต้องประสบปัญหาไม่สามารถย้ายโอนเงินที่เหลือไปได้ ส่วนการขยายเวลาให้ทรูมูฟให้บริการต่อไปก่อนนั้นไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะกฎหมายระบุให้ต้องมีการประมูลเท่านั้น
นพ.ประวิทย์ แนะนำว่า ผู้บริโภคที่ใช้เลขหมายของทรูมูฟ หรือดีพีซี ดังกล่าว หากรู้สึกว่าเลขหมายมีความสำคัญ แพร่หลายแล้ว ขอให้ดำเนินการย้ายค่ายผู้ให้บริการก่อนที่จะถึงเวลาสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน และหากเป็นแบบเติมเงิน ขอให้วางแผนไม่เติมเงินมากเกินไป เพราะการขอถอนเงินออกมาจะมีความยุ่งยาก ขณะที่ได้ให้ทรูมูฟเสนอแผนการแจ้งลูกค้าให้ทราบข้อมูลข่าวสารดังกล่าวล่วง หน้า
ข้อมูลจาก นสพ.โพสต์ทูเดย์
06 มกราคม 2556