เมื่อวันที่ 28 พ.ย.ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ แถลงผลการตรวจสอบการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2.1 (3จี) ของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ตามที่กสทช.ได้ทำหนังสือขอให้ดีเอสไอตรวจสอบ ว่า มีการหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (พ.ร.บ.ฮั้ว) หรือไม่นั้น ผลการตรวจสอบขณะนี้ดีเอสไอยังไม่พบการกระทำความผิดตามพ.ร.บ.ฮั้ว
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดความชัดเจน เมื่อวันที่ 27 พ.ย.ที่ผ่านมา ดีเอสไอ ได้เรียกเจ้าหน้าที่ กสทช. ที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่น การจัดประมูล 9 คนมาให้ปากคำเพิ่มเติม โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของ กสทช. ตามพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม
นายธาริต กล่าวต่อว่า ประเด็นสำคัญที่ยังเป็นที่ถกเถียงกันและดีเอสไอจะตรวจสอบ เพื่อให้เกิดความชัดเจนคือข้อถกเถียงเกี่ยวกับการกำหนดราคาประมูลขั้นต่ำ เริ่มต้นที่ 4,500 ล้านบาท ในขณะที่ผลการศึกษาของคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ เสนอว่าควรกำหนดราคาประมูลขั้นต้นไว้ที่ 6,440 ล้านบาท และกรณีที่มีผู้เข้าประมูลเพียง 3 ราย ดังนั้น ดีเอสไอ จึงขอให้ กสทช.ทำหนังสือและส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องมาประกอบการพิจารณาเพื่อยืนยันคำ ให้การที่ได้เข้าชี้แจ้งก่อนหน้านี้ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสัปดาห์นี้
ด้าน นายธานินทร์ เปรมปรีดิ์ รองผู้บัญชาการสำนักคดีอาญาพิเศษ 2 กล่าวว่ากรณีการกำหนดราคาประมูลเริ่มต้นซึ่งยึดที่ตัวเลข 4,500 ล้านบาท ไม่ใช่ 6,440 ล้านบาท ตามผลการศึกษาของคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ เพราะตามเอกสารที่จริงมีหลักเกณฑ์ว่าต้องกำหนดราคาขั้นต่ำ 67% ของ 6,440 ล้านบาทแต่กสทช.ปรับเป็น 70% ราคาขั้นต่ำจึงอยู่ที่ 4,500 ล้านบาท สรุปเบื้องต้นว่าการประมูลแข่งขันจึงไม่เข้าข่ายฮั้ว
ข้อมูลจาก ข่าวสด 29/11/55