ประธานทีดีอาร์ไอเมินให้ข้อมูลคณะทำงานตรวจสอบการประมูล 3จีของ กทค. ซัดกรรมการบางคนไม่ทำหน้าที่ตรงไปตรงมา หวั่นถูกแอบอ้างไปสร้างความชอบธรรม ไล่ไปอ่านบทความเก่าๆ แต่พร้อมให้ข้อมูลผ่านสาธารณะ กสทช.แจงงบประชาสัมพันธ์ 3 จี 5 เดือน 128 ล้านยังถือว่าน้อยมาก
เมื่อวันจันทร์ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันทีดีอาร์ไอ ชี้แจงเหตุผลถึงการไม่ไปให้ข้อมูลแก่คณะทำงานตรวจสอบการประมูล 3G ของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) โดยระบุว่า "ตามที่คณะทำงานตรวจสอบพฤติกรรมการเสนอราคาของผู้เข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์ หรือใบอนุญาต 3G ที่แต่งตั้งโดย กทค. ได้ประสานงานให้ผมไปให้ข้อมูลนั้น ผมขอแจ้งให้ทราบว่า ผมประสงค์ที่จะไม่ไปให้ข้อมูลแก่คณะทำงานดังกล่าว ด้วยเหตุผลต่างๆ ดังนี้
ประการที่หนึ่ง ผมเห็นว่า ขอบเขตของคณะทำงานดังกล่าวไม่ถูกต้อง ดังปรากฏในชื่อของคณะทำงาน เนื่องจากปัญหาใหญ่ที่สุดในการประมูลคลื่น 3G นั้น เกิดจากการออกแบบการประมูลโดย กทค.เอง มากกว่าเกิดจากพฤติกรรมการเสนอราคาของผู้เข้าร่วมประมูล ซึ่งย่อมต้องเสนอราคาต่ำที่สุดเพื่อประโยชน์ของตน ทั้งนี้ การเสนอราคาต่ำดังกล่าวจะไม่สามารถทำได้ หาก กทค.ไม่ออกกฎการประมูลจำกัดให้แต่ละรายถือคลื่นได้ไม่เกิน 15 MHz. ตั้งแต่แรก การตรวจสอบพฤติกรรมการเสนอราคาของผู้เข้าร่วมประมูล จึงเป็นการเบี่ยงเบนประเด็น ให้สังคมเข้าใจว่าความผิดพลาดที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจาก กทค.
ประการที่สอง ผมเคยเข้าร่วมเป็นอนุกรรมการของ กทค.บางชุด เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของสัญญาประกอบกิจการด้านโทรคมนาคม และเห็นว่ากรรมการบางท่าน ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ น่าจะไม่ได้ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาในการรักษาผลประโยชน์ของประชาชน กรรมการรายเดียวกันนี้เองก็มีบทบาทสำคัญอยู่ในคณะทำงานตรวจสอบชุดนี้ ทำให้ผมไม่เชื่อมั่นในการทำงานของคณะทำงานชุดนี้
ประการที่สาม ที่ผ่านมา หลังการประมูล 3G ล้มเหลวและสร้างความกังขาแก่สังคม กทค.มักกล่าวอ้างว่า การตัดสินใจต่างๆ ของตนเกิดขึ้นจากการเสนอของคณะอนุกรรมการ 3G ซึ่งมีเพื่อนร่วมงานของผม และนักวิชาการอื่นร่วมอยู่ด้วย ทั้งที่ในความเป็นจริง การเปลี่ยนหลักเกณฑ์การประมูลให้ผู้ประกอบการถือคลื่นได้ไม่เกิน 15 MHz. ไม่ได้เป็นข้อเสนอของคณะอนุกรรมการตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด แต่เป็นการดำเนินการของ กทค.เอง ในครั้งนี้ ผมจึงเชื่อว่า หากผมไปให้ข้อมูล ชื่อของผมก็จะถูกนำไปอ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมของผลการตรวจสอบของคณะทำงาน ดังกล่าวในลักษณะเดียวกันอีก
"ผมเห็นว่า วิธีการที่ผมจะสามารถให้ข้อมูลแก่ กทค. โดยจะไม่ถูกนำไปแอบอ้างอย่างไม่เหมาะสมคือ การให้ข้อมูลแก่สาธารณะผ่านสื่อมวลชน ดังที่ได้เคยให้ความเห็นมาโดยตลอด ในครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน หาก กทค.ประสงค์ที่จะได้รับข้อมูลจากผม ก็สามารถหาอ่านจากบทความที่ผมเคยเขียน และเคยให้สัมภาษณ์ทางสื่อมวลชน หรือที่อยู่ในเว็บไซต์ของทีดีอาร์ไอ" ดร.สมเกียรติระบุ
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ออกมาแถลงข่าวชี้แจงกรณีกสทช.ซื้อสื่อโฆษณาในเครือบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) เป็นจำนวน 13,289,660 ล้านบาท ว่ามีการเข้าใจผิด อันเนื่องมาจากข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้าง ที่สำนักงาน กสทช.นำไปเผยแพร่บนเว็บไซต์มีความคลาดเคลื่อน ซึ่งเป็นความผิดพลาดของทางธุรการ ที่พิมพ์ตัวเลขผิดพลาดจากเงินจำนวน 1.07 ล้านบาท เป็น 10.7 ล้านบาท ซึ่งทางสำนักงานฯ ต้องขออภัยที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดจากข้อเท็จจริง ทำให้หลายหน่วยงานนำเสนอข้อมูลผิดพลาดไป ซึ่งได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่แก้ไขข้อมูลให้ถูกต้องแล้ว โดยมีมาตรการแก้ไขดังนี้ 1.แก้ไขเว็บไซต์ของทาง กสทช.ให้มียอดเงินที่ถูกต้อง 2.ส่งหนังสือไปชี้แจงกับทางสถาบันอิศรา 3.ส่งหนังสือไปชี้แจงกับทางบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน)
ทั้งนี้ นายฐากรยังชี้แจงอีกว่า งบประมาณการประชาสัมพันธ์ปี 2555 มีทั้งหมด 70 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นงบภายในองค์กร 10 ล้านบาท และเป็นสื่อภายนอกอื่นๆ อีก 60 ล้านบาท (ไม่รวมหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เพราะนายฐากรกล่าวว่า การซื้อสื่อไทยรัฐมีค่าใช้จ่ายที่สูง) โดยปีงบประมาณ 2556 อาจจะใช้งบประมาณน้อยกว่าปีนี้ หรือประมาณ 600 ล้านบาท คาดว่าจะได้ข้อสรุปเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการซื้อสื่อไม่เกินสิ้นเดือนนี้ ก่อนที่จะนำเงินส่งคืนรัฐบาล ส่วนในเรื่องการลงปกนิตยสารของ พ.อ.เศรษฐพงค์ ว่านำเงินส่วนใดไปใช้ เบื้องต้นขอตรวจสอบข้อมูลก่อน หากมีความคืบหน้าจะแจ้งให้สื่อมวลชนทราบในโอกาสต่อไป
"คิดว่างบประมาณตรงนี้มีความเหมาะสมแล้ว จริงๆ คาดว่าจะใช้งบประมาณถึง 200 ล้านบาท แต่จริงๆ แล้วใช้ไม่ถึง ซึ่งเรื่องนี้ได้หารือกับ พ.อ.เศรษฐพงค์แล้วว่า การประชาสัมพันธ์นั้นน้อยไป แต่ทางเราก็อยากใช้งบประมาณเท่าที่จำเป็น" นายฐากรกล่าว
ด้าน พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธาน กสทช. และประธาน กทค. กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่า กสทช.ใช้งบประมาณการประชาสัมพันธ์โครงการประมูลใบอนุญาต 3G ในระยะเวลา 5 เดือน สูงถึง 128 ล้านบาทว่า การใช้งบประชาสัมพันธ์ในสัดส่วนร้อยละ 2-3 ของงบประมาณในการประชาสัมพันธ์ทั้งหมด ถือว่าเป็นการใช้งบประมาณที่น้อยมาก อีกทั้ง กสทช.ถือเป็นองค์กรใหม่ ประกอบกับการประมูลคลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์ ก็ถือเป็นเรื่องใหม่ที่ประชาชนต้องทำความเข้าใจอีกมากเช่นกัน ดังนั้นไม่ถือว่าเป็นการใช้งบประมาณที่ผิดปกติ.