เลขาฯผู้ตรวจการแผ่นดิน คาดศาลปกครอง มีคำสั่งต่อคำร้อง 3G สัปดาห์หน้า ด้าน “ฐากร” รอรับฟังเพื่อนำไปประกอบการตัดสินใจออกใบอนุญาตให้กับบริษัทมือถือ 3 รายพร้อมกำหนดเพดานค่าบริการทั้งค่าโทร.-ค่าอินเตอร์เนตโดยให้เอกชนเข้ามา ให้ข้อมูลด้านต้นทุน
นายเฉลิมศักดิ์ จันทรทิม เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2555 ว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่ไดรับคำสั่งจากศาลปกครอง ในประเด็นที่ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องไปที่ศาลปกครองเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน คาดว่าศาลปกครอง อาจจะมีคำสั่งในวันจันทร์ที่ 12 พฤศจิกายนนี้ เนื่องจากตามขั้นตอนก็จะต้องตั้งองค์คณะเพื่อพิจารณาเนื้อหาที่ผู้ตรวจการ ยื่นฟ้องก่อน
ก่อนหน้านี้ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่งเรื่องให้ศาลปกครอง วินิจฉัยว่าการประมูล 3G เป็นการดำเนินการที่เป็นการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรมตามรัฐธรรมนูญแห่ง ราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 47 และพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบการกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 มาตรา 45 ประกอบมาตรา 41 วรรค 1 และวรรค 7 หรือไม่พร้อมกับขอให้มีการไต่สวนฉุกเฉิน และมีคำสั่งมาตรการคุ้มครองชั่วคราวด้วยการระงับการออกใบอนุญาต 3G เอาไว้ก่อน
นายเฉลิมศักดิ์กล่าวว่า ทั้งนี้ผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้ยื่นฟ้องสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(สำนักงาน กสทช.) โดยไม่ได้ฟ้องคณะกรรมการ(บอร์ด) กสทช.โดยตรงเนื่องจากเห็นว่าแม้คำสั่งต่างๆ จะถูกลงนามโดยคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม(กทค.)ภายใต้ กสทช. แต่ฝ่ายปฏิบัติ คือ สำนักงานกสทช.
ด้านนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกสทช.กล่าวในเรื่องเดียวกันว่า ขณะนี้ยังไม่รับทราบคำฟ้องว่ามีเนื้อหาอย่างไร แต่หากได้รับแล้วก็จะต้องทำคำให้การเพื่อชี้แจงต่อศาลฯ พร้อมยืนยันว่า สำนักงานกสทช. และในฐานะเลขาธิการ กสทช. ไม่ใช่ผู้ยกร่างประกาศจัดประมูล และเข้าใจว่า การปฏิบัติหน้าที่ของผู้ตรวจการ เป็นกระบวนการทำงานตามปกติที่กฎหมายให้อำนาจไว้ ซึ่งอำนาจที่จะยกเลิกการจัดประมูลมีอยู่ 2 ปัจจัยเท่านั้นคือ มีคำสั่ง โดยศาลปกครอง และมติของบอร์ด กทค.เอง
นายฐากรยังชี้แจงมติบอร์ด กทค. เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2555 ด้วยว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้สำนักงาน กสทช.เดินหน้ากำหนดอัตราขั้นสูงชั่วคราวสำหรับค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ระบบ 3G บนคลื่นความถี่ย่าน 2.1 กิกะเฮิรตซ์ (GHz) ทั้งในการให้บริการด้านเสียง (วอยซ์) และบริการสื่อสารข้อมูลอินเตอร์เนต (ดาต้า) โดยไม่ใช่กำหนดเฉพาะบริการด้านเสียงเพียงด้านเดียว
ทั้งนี้เมื่อได้ข้อสรุปแล้วจะนำไปแนบท้ายในใบอนุญาต (ไลเซ่นส์) ก่อนออกใบอนุญาตคลื่นความถี่ 2.1 GHz ให้กับผู้ประกอบการทั้ง 3 ราย คือ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด, บริษัท ดีแทค เนทเวอร์ค จำกัด, และบริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด โดยในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2555 นี้ กสทช. จะเชิญผู้ประกอบการเข้ามาหารือเรื่องการกำหนดอัตราค่าบริการ 3G ให้ลดลง 15-20% ของอัตราค่าบริการในปัจจุบัน เพื่อประโยชน์ของผู้บริโภค ส่วนอัตราขั้นสูงถาวรคาดว่าจะออกมาเพื่อกำหนดการให้บริการอย่างเป็นทางการ อีกใน 6 เดือน หลังจากผู้ให้บริการได้รับใบอนุญาตแล้ว และในการประชุมหารือจะเชิญทั้งผู้ประกอบการรายใหม่รวมทั้งผู้ประกอบการราย เดิมคือ 5 ราย ได้แก่ บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส, บริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค, บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT, และบริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ TOT
สำหรับการประกาศอัตราขั้นสูงค่าบริการวอยซ์ และดาต้าที่จะบังคับใช้กับผู้ให้บริการอยู่ในกรอบเวลาภายในวันที่ 18 ธันวาคม 2555 และหากไม่มีปัญหาจะให้ใบอนุญาตกับเอกชนได้ภายในวันที่ 18มกราคม 2556 ตามกรอบ 90 วัน ที่ กสทช.กำหนด แต่ทั้งนี้จะต้องรอฟังคำสั่งศาลปกครองกลาง รวมทั้งผลสอบการประมูลของคณะทำงานสอบสวนชุดที่ กสทช.ตั้งขึ้นด้วย
“หลังจากนั้นในวันที่ 23 พฤศจิกายน กสทช.จะให้ผู้ประกอบการทั้ง 3 ราย ส่งรายงานประมาณการต้นทุน และข้อเสนออัตราขั้นสูงที่เห็นว่าเหมาะสมให้กับสำนักงานกสทช.ต่อไป” ฐากร กล่าว
ส่วนความคืบหน้าในการสอบสวนของ คณะกรรมการสอบสวนการจัดประมูล ชุดที่ กสทช.แต่งตั้งขึ้น ล่าสุด ได้ขอขยายเวลาสอบสวนจากวันที่ 10 พฤศจิกายน ออกไปอีก 2 เดือนนั้น เลขาธิการกสทช.ยืนยันว่า จะขยายให้ได้แค่ภายใน 25 พฤศจิกายนนี้เท่านั้นเพื่อไม่ให้สังคมเกิดความสับสน ซึ่งคณะอนุกรรมการอาจต้องเรียกประชุมกันสัปดาห์ละ 3 ครั้ง เพื่อให้ผลสอบเดินหน้าอย่างรวดเร็ว
นายฐากรยังแถลงการนำส่งรายได้แผ่นดินให้กับกระทรวงการคลัง ประจำปี 2553 ว่า ได้ส่งเป็นจำนวน 1,658,939,039 บาท ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวมาจากรายได้ของ สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.) ที่ต่อมาเปลี่ยนเป็นกสทช.โดยรายได้ทั้งหมดมาจากกิจการโทรคมนาคมจำนวน 3,800 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นรายได้จากค่าธรรมเนียม และค่าเลขหมาย เป็นต้น แต่หักเงินที่ใช้จ่ายไปอีกจำนวน 2,000 ล้านบาท โดยจะเหลือเงินส่งคลังจำนวนดังกล่าวเท่านั้น ซึ่งได้มีสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) เป็นผู้ตรวจรับรองแล้ว