ประธานอนุฯคุ้มครองผู้บริโภค เสนอให้กทค. หาทางจัดการราคาดาต้าไม่ใช่บริการเสียง

ประธานอนุฯคุ้มครองผู้บริโภค เสนอให้กทค. หาทางจัดการราคาดาต้าไม่ใช่บริการเสียง พร้อมย้ำ ที่ผ่านมาทำข้อเสนอแนะก่อนเกิดเหตุการณ์ฮั้ว 3G แต่ไม่ได้รับการพิจารณา

 

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง ประธานอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม เปิดเผยถึงกรณีที่สังคมกำลังแสดงความเห็นกันอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวในกรณีการฟ้องร้องการประมูลคลื่นความถี่ 2.1 GHz เพื่อเปิดให้บริการ 3G ว่า เข้าใจได้ว่า คนไทยต้องการใช้บริการนี้มาก และอยากให้บริการนี้เกิดขึ้นในประเทศได้แล้ว อย่างไรก็ตามข้อเท็จจริงที่ต้องพูดก็คือ ผลของการประมูลในครั้งนี้เป็นสิ่งที่คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม ได้ทำความเห็นให้กับ กทค. เพื่อพิจารณาแล้วตั้งแต่เดือนกรกฏาคม ที่ผ่านมา โดยข้อความตอนหนึ่งได้ระบุไว้ชัดเจนว่า การประมูลในรูปแบบนี้จะเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการรายใหญ่มีการฮั้วกันโดยแบ่งคลื่นความถี่กันไปรายละ 15 MHz  ซึ่งถือว่าเพียงพอต่อการให้บริการนั้นมีความเป็นไปได้สูง และส่งผลให้ราคาประมูลเท่ากับมูลค่าขั้นต่ำของการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่แต่ละชุด (reserve price)

“เราติดตาม เราให้ความเห็น เราเตือนแล้ว โดยทำทุกอย่างเพื่อให้ความเห็นไปถึง กทค.  และไม่ใช่ว่า กลุ่มองค์กรต่างๆ หรือนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ทั้งหลายต้องการขวางการประมูลครั้งนี้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้น เป็นสิ่งที่หลายฝ่ายพยายามบอกและพยายามพูดให้ฟังมาตลอด ตั้งแต่การจัดเวทีประชาพิจารณ์เมื่อวันที่ 20 กรกฏาคม และทำความเห็นเสนอให้อีกในเดือนเดียวกัน เราให้ความเห็นทั้งในเวทีและทำเป็นหนังสือจากอนุกรรมการฯ แต่สิ่งที่ถูกพิจารณาในการแก้ไขร่างประกาศ กสทช.เรื่องหลักเกณฑ์การประมูลนั้น มีเพียงคำร้องขอของผู้ให้บริการเท่านั้น นั่นคือขอให้มีการจัดแบ่งคลื่นในการประมูลเป็น 15 MHz” นางสาวสารีกล่าว

นางสาวสารีกล่าวต่อไปว่า สำหรับมาตรการในการควบคุมราคานั้น คณะอนุกรรมการฯก็ได้ทำหนังสือไปเพื่อพิจารณาแล้วเช่นกัน เนื่องจาก สำนักงานกสทช. ไม่มีอำนาจในการกำกับดูแลผู้ได้รับใบอนุญาตประเภทที่ไม่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง (ประเภท๑) รวมถึงผู้ให้บริการข้อมูล (Data Provider) เนื่องจากบริการ 3G เป็นบริการที่เน้นการให้บริการข้อมูลเป็นหลัก ทำให้ผู้ประกอบการรายใหญ่สามารถหลีกเลี่ยงการกำกับดูแลด้วยการไปตั้งบริษัทลูกขึ้นมาเป็นผู้ถือใบอนุญาตประเภท ๑ และให้บริการข้อมูลเท่านั้น ซึ่งจะส่งผลให้ไม่สามารถกำกับดูแลราคาบริการ 3G ได้ ยกเว้น กสทช.จะยกเลิกข้อยกเว้นในการกำกับดูแลดังกล่าว

“มาตรการกำหนดราคาค่าบริการนั้น ขอให้ กทค. มีความจริงใจมากกว่านี้ เพราะสิ่งที่ผู้บริโภครอคอยคือ ค่าบริการดาต้าที่มีราคาถูกลง ไม่ใช่ค่าบริการเสียง อีกทั้งยังมีประเด็นทางข้อกฎหมายว่า กทค.สามารถกำกับดูแลค่าบริการได้จริงหรือไม่ กรณีที่ผู้ให้บริการตั้งบริษัทลูกขึ้นมารองรับ อย่างไรก็ตาม ในเมื่อมูลค่าการประมูลในครั้งนี้ที่ต่ำมาก เป้าหมายของการกำหนดราคาค่าบริการนั้น กทค. จึงควรกำหนดตั้งเป้าหมายให้มีราคาค่าบริการถูกที่สุดในอาเซียน ” นางสาวสารีกล่าว

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 20 กรกฏาคม 2555 สำนักงาน กสทช. ได้จัดให้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล ย่าน 2.1 GHz  โดยในการประชุมได้มีการแสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมและกลุ่มผู้บริโภค  ซึ่งมีการให้ความเห็นและตั้งข้อสังเกตในประเด็นสำคัญ อาทิ ผู้ขอรับอนุญาตแต่ละรายมีสิทธิยื่นประมูลคลื่นความถี่ได้สูงสุดไม่เกิน ๔ ชุด หรือ ๒x๒๐ เมกะเฮิรตซ์ ,ราคาเริ่มต้นการประมูล , การใช้โครงข่ายร่วมกันและขยายโครงข่ายให้ครอบคลุมในระดับอำเภอ รวมถึงการวางมาตรการด้านการคุ้มครองผู้บริโภคที่มีความชัดเจน

ต่อมาวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๕๕ คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม ได้ทำหนังสือเสนอความเห็นไปยัง กทค. โดยมีสาระสำคัญดังนี้

๑. คณะอนุกรรมการฯ สนับสนุนให้ กทค. เพิ่มมูลค่าขั้นต่ำของการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่แต่ละชุด (reserve price) จากที่กำหนดไว้ชุดละ ๔,๕๐๐ ล้านบาท เนื่องจากราคาประมูลที่ตั้งไว้นี้ หากผู้เข้าร่วมประมูลได้ความถี่ ๑๕ เมกะเฮิรตซ์ซึ่งเพียงพอสำหรับการให้บริการ ๓G ผู้เข้าร่วมประมูลจะต้องจ่ายในราคา ๑๓,๕๐๐ ล้านบาทต่อระยะเวลาใช้งาน ๑๕ ปี หรือคิดเป็นเงินที่ผู้ประมูลต้องจ่ายปีละ ๙๐๐ ล้านบาท ซึ่งถือว่า ยังน้อยกว่าราคาที่ผู้ประกอบการทั้ง ๓ รายผู้ครองตลาดในปัจจุบันต้องจ่ายให้แก่รัฐจำนวน ๔๐,๐๐๐ ล้านบาทต่อปี

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ สำนักงาน กสทช. ได้ว่าจ้างให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทำการศึกษาเรื่องราคาเริ่มต้นของการประมูลคลื่นความถี่ย่าน ๒.๑ GHz และผู้วิจัยได้เสนอราคาเริ่มต้นไว้ที่ชุดละ ๖,๔๔๐ ล้านบาท แต่ในที่สุด กทค. ได้กำหนดตัวเลขสุดท้ายไว้ที่ราคาชุดละ ๔,๕๐๐ ล้านบาท โดยคณะกรรมการอ้างว่าต้อง การส่งเสริมธุรกิจโทรคมนาคม ทั้งที่ในความเป็นจริงนั้นราคาประมูลคือกำไรที่ผู้ประกอบการจะได้รับจากการนำคลื่นความถี่ไปใช้ มิใช่ต้นทุนของผู้ประกอบการ การอ้างเช่นนั้นจึงไม่สมเหตุสมผลและเป็นการกำหนดราคาตามอำเภอใจ นอกจากนี้ โอกาสที่ผู้ประกอบการรายใหญ่จะมีการฮั้วกันโดยแบ่งคลื่นความถี่กันไปรายละ 15 MHz ซึ่งถือว่าเพียงพอต่อการให้บริการก็มีโอกาสเป็นไปได้สูง และจะส่งผลให้ราคาประมูลเท่ากับมูลค่าขั้นต่ำของการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่แต่ละชุด (reserve price)

ดังนั้น คณะอนุกรรมการฯ จึงขอให้ กทค. ทบทวนราคาเริ่มต้นของการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน ๒.๑ GHz โดยให้ยึดผลการศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและผลประโยชน์ของรัฐเป็นหลัก

๒. ด้านมาตรการเพื่อสังคมและคุ้มครองผู้บริโภค ตามข้อ ๑๖.๘ ซึ่งประกอบด้วย แผนความรับผิดชอบต่อสังคม แผนการคุ้มครองผู้บริโภค การจัดให้มีบริการโทรคมนาคมสาธารณะ และบริการอำนวยความสะดวกในการใช้บริการโทรคมนาคมสาธารณะอย่างทั่วถึงแก่ผู้มีรายได้น้อย คนพิการ เด็ก คนชรา ผู้อยู่ห่างไกล และผู้ด้อยโอกาส การมิให้ผู้ใดใช้โครงข่ายโทรคมนาคมของผู้รับใบอนุญาตในการประกอบธุรกิจโดยมิชอบนั้น อนุกรรมการฯ เห็นว่า กทค. ควรมีมาตรการในการลงโทษ เช่น มาตรการเรียกค่าปรับ มาตรการเชิงสังคม เพื่อเป็นหลักประกันในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ และเพื่อเป็นการกระตุ้นเตือนให้ผู้รับใบอนุญาตให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างแท้จริง และขอเสนอให้ กทค.  เปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะจากประชาชนทั่วไปและองค์กรเครือข่ายผู้บริโภค เมื่อมีการกำหนดมาตรการเพื่อสังคมและคุ้มครองผู้บริโภค

๓. การจัดให้มีโครงข่ายโทรคมนาคมเพื่อการประกอบกิจการ ตามข้อ ๑๖.๓ ซึ่งกำหนดขอบเขตการให้บริการครอบคลุมเพียงในระดับจังหวัดนั้น คณะอนุกรรมการฯ เห็นว่า ควรกำหนดให้มีการกระจายพื้นที่ให้บริการครอบคลุมถึงในระดับอำเภอ เพื่อให้สอดคล้องวัตถุประสงค์ของการบริหารคลื่นความถี่ และการใช้ประโยชน์คลื่นความถี่ โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ในด้านการศึกษา วัฒนธรรม ความมั่นคงของรัฐและประโยชน์สาธารณะอื่น ส่วนประเด็นที่เป็นข้อกังวลอีกประการหนึ่ง คือขีดความสามารถของสำนักงาน กสทช. ในการติดตามการติดตั้งโครงข่ายว่าเป็นไปตามเป้าหรือไม่ เช่น ร้อยละ ๕๐  ของจำนวนประชากรภายใน ๒ ปี และร้อยละ ๘๐  ของจำนวนประชากรภายใน ๔ ปี คณะอนุกรรมการฯ จึงขอเสนอให้ กทค. กำหนดมาตรการในการติดตามการติดตั้งโครงข่ายอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้สำนักงาน กสทช. นำไปปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

๔. เนื่องจากสำนักงาน กสทช. ไม่มีอำนาจในการกำกับดูแลผู้ได้รับใบอนุญาตประเภทที่ไม่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง (ประเภท ๑) รวมถึงผู้ให้บริการข้อมูล (Data Provider) เนื่องจากบริการ ๓G เป็นบริการที่เน้นการให้บริการข้อมูลเป็นหลัก ทำให้ผู้ประกอบการรายใหญ่สามารถหลีกเลี่ยงการกำกับดูแลด้วยการไปตั้งบริษัทลูกขึ้นมาเป็นผู้ถือใบอนุญาตประเภท ๑ และให้บริการข้อมูลเท่านั้น ซึ่งจะส่งผลให้ไม่สามารถกำกับดูแลราคาบริการ ๓G ได้ ดังนั้น คณะอนุกรรมการฯ จึงมีความเห็นว่า กสทช. ควรยกเลิกข้อยกเว้นในการกำกับดูแลดังกล่าว

๕. ขอให้ กทค. มีแนวทางในการให้ข้อมูลกับผู้บริโภคเกี่ยวการให้บริการ ๓G เพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความเท่าทัน และสามารถใช้บริการได้อย่างถูกต้องเหมาะสมต่อไป

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน