โดยพ.อ.เศรษฐพงศ์ ชี้แจงว่า กสทช.ได้ดำเนินการจัดการประมูลโดยเป็นไปตามระเบียบและหลักเกณฑ์ของคณะ อนุกรรมรองรับการใช้งานคลื่น 3จี 2.1 กิกกะเฮิร์ทซ ทั้งการกำหนดคลื่นความถี่และราคา ที่มีความเหมาะสมเพื่อให้เกิดการแข่งขัน โดยยืนยันว่า การดำเนินงานเป็นไปตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคา ซึ่งมีความเป็นธรรมและโปร่งใส เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก และไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้กับบุคคลใด หรือบริษัทใดๆ
ด้านนายประวิทย์ หนึ่งในเสียงที่ไม่เห็นด้วยกับการประมูลดังกล่าว กล่าวว่า การกำหนดราคาแม้มีการตั้งราคาต่ำสุด แต่ควรมีการกำหนดราคาตั้งต้นที่สูงพอสมควร โดยค่าเฉลี่ยควรตั้งอยู่ที่ร้อยละ 82 จากต่ำสุดคือ ร้อยละ 67 และมีผู้ประกอบการอย่างน้อยหนึ่งรายที่มีพฤติกรรมไม่แข่งขัน โดยการรอช่องสัญญาณที่เหลือในระหว่างการประมูล
ขณะที่ น.ส.สุภา ชี้แจงถึงการทำหนังสือทักท้วงการประมูล ว่า เกิดจากการสังเกตพฤติกรรมการประมูล ที่เข้าข่ายสมยอมไม่มีการแข่งขัน รวมถึงการกำหนดราคาที่ไม่มีความสมเหตุสมผล จึงทำหนังสือทักท้วงว่าหน่วยงานต้นเรื่อง ควรจะมีการทบทวนการประมูลหรือไม่ ซึ่งโดยหลักทั่วไปแล้วจำเป็นจะต้องมีการแข่งขัน แต่กลับมีการจัดสรรคลื่นความถี่ตรงกับจำนวนของผู้ประกอบการที่ร่วมประมูลพอ ดี ทั้งหมดนี้จึงทำให้ ผู้ประมูลทั้ง เอไอเอส ทรู และดีแทค ได้ประโยชน์ ประหยัดค่าใช้จ่ายรวมกว่า 419,000 ล้านบาท และทำให้ทีโอที ขาดทุนทันที จึงไม่มีเหตุผลที่ต้องลดราคาลง ทั้งนี้การทำหนังสือทักท้วงของตนไม่ได้มีเจตนาแอบแฝงทางการเมืองแต่อย่างใด หากปล่อยเรื่องนี้ไปอาจมีปัญหาในภายภาคหน้า
ด้านนายสุทธิพล ชี้แจงว่า ตอนนี้กระแสข่าวหลายเรื่องเกี่ยวกับการประมูลคลาดเคลื่อน ยืนยันว่าการประมูลมีการพิจารณาหลักการอย่างรอบครอบแล้ว ซึ่งการกำหนดราคาประมูลต้องพิจารณาเป็นสองเรื่องคือราคาตั้งต้นและราคา มูลค่า ที่ในหลายประเทศมีการกำหนดราคาตั้งต้นเป็นสัดส่วนร้อยละ 50 ของราคามูลค่าเท่านั้น อีกทั้งตอนแรกการประมูลจะมีทั้งสิ้น 4 บริษัท แต่สุดท้ายเหลือ 3 บริษัท เพราะสู้ราคาไม่ไหว ส่วนกรณีที่รองปลัดกระทรวงการคลังส่งหนังสือให้ทบทวนการประมูลนั้น ยืนยันว่า การประมูลทำภายใต้กรอบของกฎหมายชัดเจน ไม่ได้ผิดพ.ร.บ.ฮั้วแต่อย่างใด เพราะเป็นเรื่องทางเทคนิคที่ กทค.สามารถกำหนดออกแบบเองได้ ไม่ได้มีการระบุไว้ว่าต้องเป็นไปตามระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างของสำนักนายก รัฐมนตรี รวมถึงกระบวนการประมูล ข้อสรุปการออกใบอนุญาต กทค.มีอำนาจทางกฎหมายที่จะสรุปผลโดยไม่ต้องส่งผ่านให้ กสทช.พิจารณา ตามความเห็นของผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายหลายท่าน ม.27 (4) ของพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง ดังนั้นขอตั้งข้อสงสัยว่ามีกระบวนการพยายามล้มการประมูลหรือไม่
นายพัชรสุทธี สุจริตตานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบการตลาดและการประมูลกล่าวว่า จากประสบการณ์ทราบมาว่าการประมูลคลื่นสัญญาณมี2แบบคือ การประมูลเพื่อเน้นประสิทธิภาพ และการประมูลเพื่อรายได้ของรัฐ ซึ่งการประมูลของไทยเป็นรูปแบบที่สากลใช้ตั้งแต่ปี 1994 ทั้งประเทศโปรตุเกส สิงคโปร์ ก็มีการประมูลคลื่นสัญญาณที่ใช้ราคาต่ำสุด เพื่อประสิทธิภาพให้มีการบริการสัญญาณอย่างทั่วถึง หากสร้างการแข่งขันปลอมเพื่อรายได้ของรัฐอาจเป็นการบิดเบือนกลไกตลาด
เดลินิวส์ 25 ต.ค. 2555