บริษัทขายมือถือตกมาตรฐานต้องรับผิดชอบผู้บริโภคที่ซื้อเครื่องไปแล้วทั้งหมด

คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม ระบุบริษัทขายมือถือควรสำนึกผิดชดใช้ค่าเสียหายผู้บริโภคที่ซื้อเครื่องไปแล้วทั้งหมด พร้อมแนะ เร่งเผยแพร่รายชื่อ ๒๘๐ รุ่นให้ประชาชนตรวจสอบ เพื่อเร่งคืนและเลิกใช้สินค้าตกมาตรฐาน

วันนี้ (๔ มิ.ย.๕๕)  ในการประชุมคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม ได้มีการหารือกันอย่างกว้างขวางกรณีที่บริษัทผู้นำเข้าอุปกรณ์โทรศัพท์เคลื่อนที่ ๒๗ รายถูก กสทช. สั่งเพิกถอนใบรับรองเครื่องโทรคมนาคมและอุปกรณ์ จำนวน ๒๘๐ รุ่น โดยมีโทรศัพท์เคลื่อนที่จำนวนมากกว่า ๙ แสนเครื่องที่อยู่ในข่ายต้องถูกทำลายทิ้งนั้น

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง ประธานคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม กล่าวว่า ที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันว่า กรณีนี้ผู้ประกอบการทั้ง ๒๗ บริษัท ต้องรับผิดชอบต่อผลิตภัณฑ์ที่นำมาจำหน่ายรวมทั้งรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภคจากการใช้เอกสารเท็จเพื่อจำหน่ายอุปกรณ์โทรคมนาคมในท้องตลาด  จึงสนับสนุนให้ กสทช. เร่งรัด ดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ประกอบการทั้ง ๒๗ บริษัทอย่างเร่งด่วน รวมถึง สำนักงาน กสทช. ควรนำรายชื่อทั้ง ๒๘๐ รุ่น เผยแพร่ลงหนังสือพิมพ์รายวันให้ผู้บริโภคได้ตรวจสอบว่า ใช่โทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ตัวเองใช้อยู่หรือไม่

“ เรื่องนี้มีความสำคัญเพราะหากโทรศัพท์มือถือทั้งหมดได้จำหน่ายไปหมดแล้วเท่ากับว่า มีผู้บริโภคที่ใช้อุปกรณ์โทรคมนาคมที่ไม่ผ่านการรับรองมาตรฐานเพราะใช้หลักฐานเท็จอยู่มากกว่า ๙ แสนเครื่อง และแม้ว่าจะยังไม่ชัดเจนว่าอุปกรณ์นั้นมีความปลอดภัยหรือไม่ปลอดภัยก็ตาม แต่ถือว่าเป็นมือถือที่ไม่ผ่านการตรวจสอบผู้บริโภคจึงไม่ควรจะเสี่ยงใช้มือถือทั้ง ๒๘๐ รุ่นนี้  และสำนักงาน กสทช. ควรประกาศแจ้งผู้บริโภคด้วยการนำรายชื่อทั้ง ๒๘๐ รุ่นนี้ลงสื่อสิ่งพิมพ์รายวันอย่างชัดเจน ให้ผู้บริโภคได้ตรวจสอบเพื่อนำเครื่องทั้งหมดมาคืนให้กับ สำนักงาน กสทช. หรือบริษัทเพื่อทำลาย” นางสาวสารีกล่าว

ด้านนางสาวสุภัทรา นาคะผิว อนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม กล่าวว่า ควรมีการออกมาตรการในการเรียกคืนเครื่องโทรคมนาคมทั้งหมดและมีมาตรการเยียวยาผู้บริโภค ทั้งนี้ ผู้บริโภคที่ใช้เครื่องโทรคมนาคมทั้ง ๒๘๐ รุ่นนี้ ถือว่าเป็นผู้ได้รับความเสียหายใน ๒ ประเด็นคือ ความเสียหายจากการซื้อเครื่องที่ไม่ผ่านการรับรองมาตรฐาน หรือความเสียหายจากตัวเครื่อง และความเสียหายจากการไม่ได้ใช้เครื่อง ซึ่งประเด็นหลังนี้ผู้บริโภคสามารถรวมตัวกันเพื่อฟ้องแพ่งกับผู้ประกอบการได้

“ผู้ประกอบการควรหยุดโต้แย้งเพราะมีการใช้เอกสารปลอมในการขออนุญาต แต่ควรรับผิดชอบกับความเสียหายของผู้บริโภค ” นางสาวสุภัทรากล่าว

ทั้งนี้จากการรับเรื่องร้องเรียนของกลุ่มงานรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองผู้บริโภคพบว่า มีผู้ร้องโทรเข้ามาสอบถามและแจ้งว่า เป็นผู้ซื้อโทรศัพท์ในกลุ่ม ๒๘๐ รุ่นนี้ไปแล้วพบว่า มีปัญหาแบตเตอรี่บวม หลังจากใช้ไปได้ประมาณ ๑๐ วัน

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน