อนุฯโทรคมนาคม หนุนเครือข่ายประชาชนมีส่วนร่วมคุ้มครองผู้บริโภค

อนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม หนุน MOU องค์กรภาคประชาชน ระบุ  การสนับสนุนให้ประชาชนเข้มแข็ง หน่วยงานรัฐต้องสร้างแขนขา และให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา

นางสาวสุภัทรา นาคะผิว  อนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม กล่าวถึงความสำคัญของการสนับสนุนภาคประชาชนในการทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมว่า ตามแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม ที่เพิ่งประกาศลงในราชกิจจานุเบกษานั้นได้ระบุไว้ว่า กสทช. จะส่งเสริมการคุ้มครองผู้บริโภคให้เกิดกระบวนการเรียนรู้และการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เครือข่ายผู้บริโภคในการพิทักษ์และคุ้มครองสิทธิของตน เสริมสร้างให้ประชาชนตระหนักในสิทธิของตนเองในการการใช้บริการโทรคมนาคม และสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ซึ่งถือเป็นคำประกาศที่ยืนยันว่า กสทช.ทุกท่าน จะสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการทำงานด้านคุ้มครองผู้บริโภค

“แผนแม่บทได้กำหนดไว้ชัดเจนว่า จะมีการสนับสนุนเครือข่ายองค์กรภาคประชาชน และนี่ไม่ใช่การเริ่มต้นจากศูนย์ แต่เรามีต้นทุนที่ กทช. เคยทำมาแล้ว มีกลุ่มคนที่มีแนวทางและมีความรู้อยู่แล้ว คือ ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคทั้ง 26 ศูนย์ หรือ แม้แต่ในต่างประเทศเอง เช่น เยอรมัน อังกฤษ ก็ยังมีการสนับสนุนเครือข่ายด้านการคุ้มครองผู้บริโภคที่เข้มแข็ง และมีบทบาททั้งด้านการเฝ้าระวัง กระจายความรู้ การทำความเข้าใจด้านเทคโนโลยีกับประชาชน การสนับสนุนการมีส่วนร่วมเป็นหลักการที่สำคัญเพราะ กสทช. 11 คน และเจ้าหน้าที่ไม่กี่ 100 คน คงไม่สามารถคุ้มครองผู้บริโภคทั้งประเทศได้ แต่เราต้องสร้างแขนขาเข้ามาช่วย” อนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านโทรคมนาคมกล่าว

ด้านนายศรีสะเกษ สมาน อนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม สายองค์กรภาคประชาชนกล่าวว่า   จากการสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมระดับจังหวัด จำนวน 27 ศูนย์ และจุดประสานงานการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคกลุ่มชาติพันธุ์ โดยผ่านการทำข้อตกลงความร่วมมือที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2553 ทำให้สามารถดำเนินงานรณรงค์และพัฒนาช่องทางให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมผ่านสื่อในท้องถิ่นและพบว่า ในปี 2553 ศูนย์ฯจำนวน 27 ศูนย์ สามารถรับเรื่องร้องเรียนปัญหาโทรคมนาคม จำนวน 5,029 กรณี และสามารถแก้ไขปัญหาได้จำนวน 4,714 กรณี คิดเป็นร้อยละ 93.73 ขณะที่ในปี 2554 จำนวน 2,574 แก้ไขปัญหาได้จำนวน 2,421 กรณี หรือคิดเป็นร้อยละ 90.17  นอกจากนี้ยังเป็นช่องทางในการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจไปถึงระดับรากหญ้าได้รวดเร็ว และทันสถานการณ์ ที่สำคัญคือ ศูนย์คุ้มครองสิทธิที่มาจากองค์กรภาคประชาชนนั้น คือผู้รวบรวมข้อมูลและสะท้อนปัญหาจากการใช้บริการในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี เช่น คนกรุงเทพฯจะไป 3G 4G ขณะที่ครูบนดอยต้องพกโทรศัพท์ 3 เครื่อง 3 เครือข่าย เพราะความไม่ครอบคลุมของสัญญาณ  สภาพปัญหาการใช้บริการโทรคมนาคมของคนพิการ เป็นต้น

“เครือข่ายภาคประชาชนจึงมีความสำคัญ และเป็นการทำงานเชิงรุกในระดับพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการสะท้อนปัญหาที่เกิดจากการใช้บริการโดยตรง และมีส่วนร่วมในการคุ้มครองสิทธิในการใช้บริการ และยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นการส่งเสริมให้องค์กรประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่ เท่ากับเป็นการสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพบริการโทรคมนาคมด้วย”อนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมกล่าว

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน