แนะผู้บริโภคศึกษาบทเรียนไอโฟน3 ก่อนตัดสินใจซื้อไอโฟน4

สบท.เตือนบทเรียนจากไอโฟน3 ระวังถูกล็อคด้วยสัญญา แนะผู้ใช้ไอโฟนพิจารณาให้ดีก่อนตัดสินใจ  ชื่นชมโปรโมชั่นมีพัฒนาการดีขึ้น อย่างน้อยก็ไม่เลือกปฏิบัติแล้ว

     นายประวิทย์  ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) เปิดเผยถึงกระแสความสนใจในการซื้อเครื่อง iphone 4 พร้อมบริการว่า มีหลายเรื่องต้องพิจารณาและผู้บริโภคควรทราบ อย่างไรก็ตามสำหรับเรื่องโปรโมชั่นถือว่าดีกว่าการส่งเสริมการขายiphone ครั้งที่ผ่านมา

     “การส่งเสริมการขายครั้งที่แล้วมีการกำหนดโปรโมชั่นที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย เช่น มีโปรโมชั่นที่ทำให้คนใช้เครื่องคนละรุ่นได้รับบริการที่ไม่เหมือนกัน ทั้งที่เลือกแพ็คเกจเดียวกันราคาเดียวกัน”   นายประวิทย์กล่าว

     ทั้งนี้เมื่อต้นเดือนกันยายนนี้  คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติได้มีมติเกี่ยวกับกรณีการส่งเสริมการขาย iphone 3G ของบริษัทแห่งหนึ่งแล้วว่าได้เปิดให้บริการในลักษณะที่มีโปรโมชั่นเลือกปฏิบัติทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับผู้ใช้บริการ   เนื่องจากเรื่องการเรียกเก็บค่าบริการ กฎหมายกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตจะต้องเรียกเก็บจากผู้ใช้บริการของตนในอัตราเดียวกันสำหรับบริการโทรคมนาคมลักษณะหรือประเภทเดียวกัน ทั้งนี้ เป็นไปตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 มาตรา 57 และประกาศ กทช. เรื่องมาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ข้อ 16   แม้ภายหลังบริษัทฯ ได้ปรับรายการส่งเสริมการขายเพื่อเพิ่มผลประโยชน์ทดแทนให้แก่ผู้ใช้บริการ แต่ไม่สามารถชดเชยค่าบริการได้ครบทุกแพ็คเก็จ และไม่เพียงพอต่อส่วนต่างของอัตราค่าบริการในบางแพ็คเกจ

     “ตามกฎหมายแล้วไม่อนุญาตให้มีการกีดกันแบ่งแยก พูดง่ายๆก็คือ จะใช้โทรศัพท์รุ่นไหนก็ตามแต่ถ้าเลือกแพ็คเกจเดียวกัน ราคาเดียวกัน ต้องได้บริการเท่ากัน  ดังนั้นผู้บริโภคที่เคยซื้อไปรู้ว่าซื้อแพ็คเกจมาราคาเท่ากันแต่ได้รับบริการน้อยกว่า มีสิทธิไปทวงโปรโมชั่นคืนมา เพื่อให้เท่ากับโปรโมชั่นที่จ่ายเท่ากันแต่สำหรับ iphone4 ก็ถือว่ามีการคิดโปรโมชั่นที่ดีขึ้น”นายประวิทย์ กล่าว

     อย่างไรก็ตาม ผอ.สบท.ฝากเตือนผู้ใช้บริการ iphone ที่ประสบปัญหาและต้องการยกเลิกสัญญาว่า ในเรื่องนี้พิจารณาได้ 3 กรณี คือ กรณีที่ผู้ใช้บริการได้รับบริการที่ไม่มีคุณภาพ ผู้ใช้บริการมีสิทธิยกเลิกสัญญาได้ทันที เช่น หากบริษัทฯประกาศจะเปลี่ยนโปรโมชั่นที่ผิดเงื่อนไข ผู้บริโภคก็มีสิทธิยกเลิกสัญญาได้

     กรณีที่สอง หากผู้ใช้บริการต้องการยกเลิกสัญญาเอง จะต้องแจ้งเป็นหนังสือให้บริษัททราบล่วงหน้าอย่างน้อย 5 วัน โดยสามารถทำได้ทั้งการคืนเครื่องโทรศัพท์และไม่คืนเครื่องโทรศัพท์ หากต้องการคืนเครื่องโทรศัพท์ ผู้ใช้บริการจ่ายเฉพาะค่าบุบสลายของเครื่อง แต่ไม่เกินราคาเครื่อง  แต่ถ้าผู้ใช้บริการต้องการเก็บเครื่องโทรศัพท์ไว้ก็ต้องซื้อเครื่องจากผู้ใช้บริการตามราคาตลาด

     “ การที่บริษัทบอกว่า เอาโทรศัพท์ไปแล้วผูกสัญญากันไม่สามารถยกเลิกได้ จริงๆก็ยกเลิกได้ บริษัทมีสิทธิคิดแค่ค่าตัวเครื่องตามราคาตลาดเท่านั้นเอง เช่น ราคาตลาดสองหมื่นบาท ลดให้ลูกค้าเหลือหมื่นแปด หากต้องการยกเลิกสัญญาผู้ใช้บริการจ่ายไปสองหมื่นก็ยกเลิกสัญญาได้” ผอ.สบท.กล่าว

     แต่ในกรณีที่ 3 หากบริษัทใช้วิธีให้ผู้ใช้บริการต้องทำสัญญาโดยต้องหักบัญชีผ่านบัตรเครดิตนั้น ถือเป็นการทำสัญญาด้วยกฎหมายที่เกี่ยวกับบัตรเครดิตโดยเฉพาะ ซึ่งตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่องให้ธุรกิจบัตรเครดิตเป็นธุรกิจควบคุมสัญญา พ.ศ. 2542 ผู้บริโภคมีเวลา 30 วันในการยกเลิกสัญญาพ้นจากนั้นจะยกเลิกไม่ได้

     “ในกรณีนี้หากพ้นกำหนด 30 วันไปแล้วถือว่า สัญญานั้นผูกมัดเราอยู่และเป็นไปตามสัญญาบัตรเครดิต ไม่ใช่สัญญาโทรคมนาคม  สัญญาโทรคมนาคมยกเลิกได้แต่สัญญาบัตรเครดิต คู่สัญญาจะเป็นธนาคารเจ้าของบัตรกับผู้บริโภค ไม่ใช่ผู้ให้บริการโทรคมนาคมแล้ว” นายประวิทย์กล่าว

ภาพประกอบจาก อินเทอร์เน็ต

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน