ในวันที่ประเด็นปัญหาโทรคมนาคมไทยกลายเป็นปัญหา ระดับชาติ ทั้งเรื่องการประมูล 3จี ที่ยังต้องลุ้นกันตัวโก่ง หรือแม้กระทั่งความพยายามแก้ปมปัญหาของโลกแห่งสัมปทาน 2จี ที่ยังคาราคาซัง ปัญหาค่าเชื่อมโยงโครงข่ายในบริการมือถือ หรือไอซี ก็เป็นปมปัญหาหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงกันในวงกว้าง ณ ขณะนี้
“ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา” ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม สะท้อนมุมมองในฐานะที่สวมหมวกเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อผู้บริโภค ในยุคสมัยที่สมการของสังคม คือ นักวิชาการเท่ากับเสือกระดาษ และประชาชนเท่ากับผู้รับชะตากรรม แต่วันนี้กลับเริ่มเปลี่ยนเป็นเสียงสะท้อนที่ดังขึ้น และก้องขึ้น
+++สบท.ร่วมเสนอทางออก
"ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา" ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) เสนอว่า ทางออกของปัญหานี้ต้องดูว่าคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทช.มีอำนาจกับการกำหนดค่าไอซีหรือไม่ ในขั้นต้นที่กำหนดให้ถูกลงไปแล้ว 50% เหลือนาทีละ 0.50 บาท หวังว่าต่อไป กทช.จะลดค่าไอซีลงไปอีก ถือเป็นบันไดขั้นแรก ปีแรก 0.50 บาท ปีต่อไปอาจเป็น 0.30 บาทก็ได้
“โดยหลักการแล้ว บทบาทของ กทช.ถ้ากฎหมายให้อำนาจ ควรกำหนดเป็นค่าโทรขั้นสูงไปเลย จากนั้นบริษัทเอกชนจะไปเจรจาลดค่าไอซีกันเอง เราตั้ง กทช.มาเพื่อทำให้กระบวนการเป็นธรรม ทำให้ราคาถูกลงเพื่อสะท้อนต้นทุน ไม่ใช่ได้กำไรมหาศาล หากทำได้ผู้ประกอบการเพียงแค่ขาดทุนกำไรเท่านั้นเอง ในทางกลับกันเมื่อราคาถูกลงคนจะโทรกันมากขึ้นด้วย”
ประวิทย์ ยกตัวอย่างว่า มีตัวอย่างมาแล้วในสหรัฐอเมริกาที่บริษัทผู้ให้บริการมือถือลดค่าเอสเอ็มเอส ลง ปรากฏว่า ยอดผู้ใช้พุ่งสูงขึ้นมาชัดเจน สำคัญคือ ขอแค่ให้บังคับได้จริง บริษัทไม่ได้ขาดทุน ไม่ได้เดือดร้อนเลย แสดงข้อเท็จจริงให้เห็น ให้เขาตอบคำถามว่า ค่าโทรที่กำหนดมันถูกแล้วจริงหรือ ไม่ใช่ปล่อยให้เกิดการกีดกันทางการค้าเรื่อยไป
ทั้งนี้ ในความเป็นจริงผู้ประกอบการย่อมไม่ยอมอยู่แล้ว ดังที่ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ รองประธาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวไว้ วิธีแก้อาจต้องให้ฟ้องศาลปกครอง ทำให้สังคมรับรู้ แล้วจะเกิดพลังขึ้นมาเอง ไม่ใช่ให้ผู้ประกอบการมาหลอกว่าของเขาถูก แต่ต้องมองให้ออกว่าเขาเอาเปรียบหรือไม่
“คนไทยอ่อนไหวเรื่องการถูกเอาเปรียบมากกว่าราคา แพงหรือไม่แพง เราให้ผู้ประกอบการเขาลดค่าโทรลงหนึ่งสลึงเขาไม่เดือดร้อนหรอก เอาข้อเท็จจริงมาพูดกันดีกว่า หากไม่จริงก็แย้งได้ ถ้าไม่จริงก็ไม่ได้ว่าอะไร เอาวิชาการมาเถียงกันได้เลย”
+++แก้ปัญหาให้ได้ชาตินี้
ขณะที่ บทบาท สบท.เอง ไม่เพียงพยายามเรียกร้องเรื่องค่าโทรเท่านั้น ขณะนี้ยังมีเรื่องนัมเบอร์พอร์ตที่ต้องเร่งดำเนินการ โดยอยากเห็นเรื่องเหล่านี้สำเร็จชาตินี้ไม่ใช่ชาติหน้า ปล่อยไว้กลัวว่าจะเลื่อนกันไปเรื่อยๆ จึงควรมีกำหนดเวลาให้ชัดเจน
“ในต่างประเทศเมื่อเขารณรงค์กัน ช้าสุดไม่เกิน 9 เดือน เมืองไทยลากยาวปาเข้าไปปีกว่าแล้ว ประเทศนี้แปลกปัญหาที่เกิดไม่ใช่เรื่องเทคนิค แต่เป็นเรื่องการยื้อกัน ดึงกัน ไม่ปล่อยให้เป็นเรื่องของการแข่งขันที่ผู้บริโภคมีสิทธิเลือก”
ประวิทย์ ยังแสดงความไม่มั่นว่าด้วยว่า แท้ที่จริงแล้ว กทช.จะเอาจริงกับเรื่องนี้มากน้อยเพียงใด เพราะเคยทราบมาว่าหากเรื่องนัมเบอร์พอร์ตไม่สำเร็จจะไม่ให้ประมูล 3จี เหมือนเป็นคำมั่นสัญญาแล้วตกลงจะจัดการอย่างไร ปล่อยให้เข้าประมูล แล้วรอให้เป็นเรื่องฟ้องร้องกันต่อไปวุ่นวาย ให้เรื่องยิ่งยืดยาวต่อไปหรือ
"ก้าวแรกและก้าวสำคัญทุกฝ่ายต้องสางปัญหาเก่า ให้คลี่คลาย ปรับฐานให้เท่ากันก่อน เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม ไม่กีดกันรายใหม่ที่จะเข้ามา เกิดการแข่งขันที่ยั่งยืนจริงๆ"
+++ปลุกพลังมวลชนป้อง ปย.
ขณะที่ มุมของการทำงาน สถาบัน สบท.คือการสร้างความเข้มแข็งให้ผู้บริโภค แต่ก่อนหวังแต่จะพึ่ง กทช. และจริยธรรมของผู้ประกอบการ แต่มันช้าไป ยุทธศาสตร์ที่สำคัญ คือ สร้างการรับรู้ และรวมตัวกันเป็นเครือข่าย พยายามผลักดันให้เกิดการปฏิรูปสังคมเหมือนในประเทศที่เขาพัฒนาแล้ว โดยองค์กรผู้บริโภคมีที่นั่งอยู่ในคณะกรรมการทุกๆ ชุด
"ความสำเร็จอาจมองไม่เห็นวันนี้ มันต้องใช้ระยะเวลา ขณะนี้ในระหว่างทางต้องทำให้มีประเด็นชัดเจนขึ้นมา ทำหนังตัวอย่างออกมาให้ต่อเนื่องเป็นรูปธรรม ไม่ใช่แค่หลักการ หากมัวนั่งรอ คิดหวังพึ่งแค่ กทช. กสทช. คิดแบบนี้ถือว่าสอบตก ต้องร่วมด้วยช่วยกัน มันถึงจะเกิดพลัง"
ความเชื่อหรือไม่เชื่อเรื่องใดอยู่ที่ว่า เชื่อในทฤษฎีไหน ถ้าเชื่อในประชาธิปไตย ต้องช่วยกันเปลี่ยนให้ประชาชน ตระหนักรับรู้ ร่วมผลักดันมากขึ้น ไม่ใช่แค่มีสีเสื้อเล็กๆ มันไม่มีประโยชน์ ต้องสร้างให้ประชาชนมีอำนาจต่อรองกับชนชั้นผู้นำ เมื่อโครงสร้างเริ่มเปลี่ยน ประชาสังคมเข้มแข็ง กฎหมายก็จะตามมาเอง
“ผมมีความเชื่อในพลังของสังคม ให้สังคมช่วยกันกดดัน มาตรฐานต้องชัดเจน ไม่ใช่ปล่อยให้ฮั้วกัน ให้ความรู้กับสังคม ตีกรอบไม่ให้ละเลยผู้บริโภค เริ่มตั้งแต่ตอนนี้สร้างให้เกิดเป็นบรรทัดฐาน เมื่อสังคมรับรู้แพร่หลาย บริษัทต่างๆ ก็จะปรับตัว โอเปอเรเตอร์ไม่มีสิทธิอมได้อีกต่อไป”
ทั้งนี้เมื่อมองเชิงภาพพจน์ทางธุรกิจ หากเขาจะเล่นบทผู้ร้ายคนจะหนี ถ้าทำธุรกิจแล้วไม่ฟังเสียงลูกค้าคงอยู่ไม่รอด เมื่อมีรายหนึ่งตอบสนอง ก็จะมีรายต่อๆ ไป ระบบฮั้วถ้าล้มได้เมื่อไหร่ ก็จะเกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม
+++ตั้งความหวังรัฐจะชัดเจน
ประวิทย์ เล่าต่อว่า ธุรกิจด้านโทรคมในต่างประเทศเขาเดินหน้าด้วยการแข่งขัน ขณะนี้ผู้เล่นในเมืองไทยยังน้อยเกินไป อย่างต่ำควรมี 5 ราย สร้างกติกาให้เอื้ออำนวย เปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้ามาแข่งขันได้ ไม่กีดกันค่าไอซี ไม่เล่นตุกติก ขณะนี้ตลาดยังอยู่ในภาวะรวมศูนย์ เป็นไปได้อย่างไรที่หนึ่งบริษัทมีลูกค้ามากถึง 30 ล้านคน ถ้าเสรีจริงผู้เล่นรายเดิมได้รับผลกระทบแน่นอน
เขาประเมินว่า แม้วงจรธุรกิจโทรคมไทย จะมี บมจ.กสท โทรคมนาคม และ บมจ.ทีโอที แต่ก็คงไม่มีผลอะไรมาก หากให้เข้าแข่งขันได้ รัฐต้องปฏิรูปการบริหารงานให้เขา เปลี่ยนโครงสร้าง เปลี่ยนกรอบ ขณะนี้ทุกเรื่องยังคงต้องรอการอนุมัติจาก ครม. อยากสั่งของอะไรก็ต้องรอจนตกรุ่นไป ระบบบริหารจัดการมันต่างกัน จริงอยู่ที่มันทำยากแต่สุดท้ายถ้าไฟลนก้นก็ต้องทำ หรือมิเช่นนั้นก็ต้องปล่อยให้เจ๊งไป
ทั้งนี้ ถ้ารัฐไม่มีแผนปฏิบัติการชัดเจน ประชาชนที่ไหนจะมาเชื่อมั่น ใครจะกล้าวางแผนลงทุน ผลที่จะสำเร็จได้ไม่ใช่แค่พูดปีนี้แล้วได้ปีนี้ ยังมีคำถามที่ต้องตอบกับประชาชนให้ได้ว่า พร้อมหรือไม่ วางกำลังคนไว้อย่างไร แม้มีนโยบายออกมาแล้ว แต่มีไหมที่ตั้งวงเงิน หรือแผนลงทุนที่เป็นรูปธรรม ไม่ใช่แค่คำพูดลอยๆ
ประวิทย์ บอกว่า ปัญหาที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือรัฐบาลไทยเปลี่ยนบ่อยไม่ต่อเนื่องจึงควรวางเป็น แผนในรูปแบบกึ่งๆ กฎหมายไว้เพื่อว่าแม้รัฐบาลเปลี่ยนแต่งานยังอยู่
+++แนะกูรูอย่าเป็นแค่เสือกระดาษ
เขายังวิเคราะห์ด้วยว่า ไทยยังมีปัญหาขาดแคลนนักวิชาการด้านโทรคมนาคม ยังหาคนคอยเป็นปากเป็นเสียงยากมาก เรื่องนี้มีผลประโยชน์ทับซ้อนมากมาย อาจารย์ในมหาวิทยาลัยแทบไม่มี ที่มี ก็เน้นเทคนิค เน้นเทคโนโลยี ใครถนัดกฎหมายก็มุ่งไปแต่ในทางนั้น โทรคมนาคมเป็นเรื่องการสั่งสมของประสบการณ์ ฝ่ายที่จะเสียประโยชน์เขาปกปิดข้อมูลกันอยู่แล้ว คนทำงานต้องค้นหาข้อมูลมาปะติดปะต่อวิเคราะห์เอง ซึ่งยุ่งยากพอควร
ส่วนปัญหาว่าถึงมีแล้วจะกล้าพูดไหม จะเป็นแค่เสือกระดาษหรือเปล่า จะกล้าออกมาเรียกร้องเพื่อประชาชนหรือไม่ คิดว่าถ้ายิ่งมีมาก ย่อมมีคนกล้าพูดอยู่แล้ว มี 10 กล้า 1 มี 100 ก็กล้า 10 ขั้นแรกจึงต้องพัฒนานักวิชาการให้มีมากขึ้นเสียก่อน เพื่อจะได้มีความคิดเห็นที่หลากหลาย ไม่ใช่เป็นเจ้าลัทธิกันอยู่ไม่กี่คน
“ปัญหาการเข้าถึงเทคโนโลยีไม่ใช่เรื่องราคาแต่ เป็นเรื่องของความเป็นธรรมในสังคม เกิดการแบ่งแยกคนเป็น 2 ชนชั้น ถ้าปล่อยไว้คนรวยก็จะรวยยิ่งขึ้นคนจนไม่มีโอกาสหายใจ ยุทธศาสตร์การเคลื่อนไหวเมื่อทำแล้วจะเป็นการเพิ่มโอกาสให้คนทุกชนชั้นเข้า ถึงเทคโนโลยีได้ สร้างให้เป็นพื้นฐานของทุกชีวิต ไม่ให้สังคมถูกแบ่งแยก” ประวิทย์ ว่า
ข้อมูลจาก นสพ.กรุงเทพธุรกิจ 10/08/53
โดย วริยา คำชนะ