แหล่งข่าว กทช.เปิดเผยว่า ขณะนี้มีนักลงทุนจากต่างชาติ 4-5 ราย คือ กลุ่มทาทา กรุ๊ป และผู้ให้บริการโทรคมนาคมในประเทศสวีเดน สนใจเข้าประมูลใบอนุญาต โดยส่งที่ปรึกษาทางการเงิน (เอฟเอ) มาสอบถามความคืบหน้า และความชัดเจนในการจัดทำร่างประกาศ กทช. ซึ่งหลังจากที่ร่างไอเอ็มประกาศลงในราชกิจจานุเษกษาปลายเดือนนี้ จะมีความชัดเจนมากขึ้นว่ามีต่างชาติรายใดสนใจเข้าร่วมประมูล ส่วนการปรับราคาเริ่มต้นจาก 1 หมื่นล้านบาท เป็น 1.28 หมื่นล้านบาทนั้น นักลงทุนต่างชาติมีความเข้าใจดี เพียงแต่สอบถามว่านำหลักเกณฑ์ใดมาใช้คำนวณอยู่บนพื้นฐานทางเศรษฐศาสตร์หรือไม่
ขณะที่นักลงทุนต่างชาติ หากเข้ามาประมูลต้องยึดตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว คือต่างชาติห้ามถือหุ้นเกิน 49% เป็นหลักด้วยเช่นกัน
ด้าน พ.อ.นที ศุกลรัตน์ กรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) และประธานคณะทำงาน 3 จี กล่าวว่า หลังประกาศร่างไอเอ็มในราชกิจจานุเษกษาแล้ว ปลายเดือนกรกฎาคมนี้ กทช.จะประเมินสถานการณ์ และดูกระแสตอบรับจากภาคเอกชน ที่จะเข้าร่วมประมูล หากยังไม่มีความสนใจ กทช.จะพิจารณาจัดโรดโชว์เชิญชวนนักลงทุนต่างประเทศ หรือผู้ประกอบการที่สนใจอีกครั้ง
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายเดิมที่อาจได้รับใบอนุญาต (ไลเซนส์) 3 จีเพิ่มเติมจากการเปิดประมูลเดือนกันยายนนี้ ต้องทยอยส่งคลื่นคืนให้เจ้าของสัมปทาน บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท โทรคมนาคม ตามพื้นที่ที่เปิดให้บริการ 3 จีหลังจากได้ใบอนุญาตใหม่จาก กทช.แล้ว เช่น ถ้าต้องการเปิด 3จี ที่ภูเก็ต ต้องคืนคลื่น 2 จี ที่ภูเก็ต แม้ผู้ประกอบการรายเดิมต้องคืนคลื่นความถี่ 2 จีให้คู่สัมปทาน แต่การให้บริการตามสัญญาสัมปทานยังเป็นเช่นเดิม คือยังมีภาระผูกพันตามสัญญา เช่น ต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้ โดยการกำหนดหลักเกณฑ์นี้เป็นเพียงการเปลี่ยนสิทธิ์การบริหารคลื่นความถี่จากผู้ประกอบการมือถือ มาเป็นเจ้าของสัมปทาน
"การที่ กทช.กำหนดสเปกตั้มแคป เพราะปัจจุบันผู้ให้บริการ 2 จี ถือครองคลื่นความถี่มากเกินความจำเป็น ซึ่งกทช.จะไม่เข้าแตะสัมปทานเดิม แต่ร่างไอเอ็มจะกำหนดให้ผู้ที่รับใบอนุญาตใหม่ทยอยส่งคลื่นคืนที่มีอยู่" พ.อ.นที กล่าว
อ้างอิง: หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก วันพฤหัสบดีที่ 8 กรกฎาคม 2553