คณะกรรมการสถาบันคุ้มครองผู้บิโภคในกิจการโทรคมนาคม ติงบริการ 3จี ของทีโอที มีหลายแง่ที่ยังไม่สอดคล้องกฎหมาย กทช. เสนอ 7 ประเด็นที่ควรกำกับดูแล ทั้งเรื่องแบบสัญญา พื้นที่บริการที่ครอบคลุม อัตราค่าบริการและคุณภาพบริการ การลงทะเบียนและจัดเก็บข้อมูลผู้ใช้บริการ ตลอดจนด้านความเป็นธรรมในการแข่งขัน โดยหนุนเรื่องการโรมมิ่งที่ไม่ผูกขาด และส่งเสริมผู้ให้บริการรายย่อยด้วย
กรณีการเปิดให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3G ของ บมจ. ทีโอที ตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2552 เป็นที่จับตามองของหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้รวมถึงคณะกรรมการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (คบท.) ที่ได้พิจารณาเรื่องนี้และนำเสนอความเห็นถึงคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) โดยตั้งข้อสังเกตและแสดงความห่วงใยในหลายแง่มุม ที่เกี่ยวกับมิติการคุ้มครองผู้บริโภคและความเป็นธรรมในการแข่งขัน
ในมิติการคุ้มครองผู้บริโภค ประเด็นสำคัญที่มีการติงคือเรื่องของแบบสัญญาให้บริการ ซึ่งตามกฎหมายมีข้อกำหนดว่า ผู้ให้บริการต้องจัดส่งแบบสัญญาให้ กทช. พิจารณาล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 60 วัน หากจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงต้องเสนอล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน แต่ในกรณีการให้บริการ 3G ของ บมจ. ทีโอทีนี้มีการจัดส่งแบบสัญญาให้ กทช. พิจารณาเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2552 โดยแจ้งว่าได้เคยส่งให้กทช. พิจารณาแล้วแต่ยังไม่ได้ให้ความเห็นชอบ ดังนั้นจึงต้องพิจารณาว่าแบบสัญญาที่ว่าเคยส่งให้ก่อนนั้นเป็นแบบสัญญาของบริการประเภทเดียวกันหรือไม่
นอกจากนี้ในกรณีของผู้ให้บริการรายอื่นที่เป็น MVNO ซึ่งก็คือเป็นผู้ให้บริการที่ไม่มีระบบโครงข่ายโทรคมนาคมเป็นของตนเอง ก็มีหน้าที่ต้องส่งแบบสัญญามาให้ กทช. พิจารณาเช่นกัน ซึ่งในปัจจุบันบางรายได้เปิดให้บริการแล้ว เช่น i-mobile และ IEC เป็นต้น
อีกเรื่องคืออัตราค่าบริการ ซึ่งเป็นที่ชัดเจนว่า ประโยชน์ของบริการระบบ 3G คือความสามารถในการรับส่งข้อมูลความเร็วสูง จากข้อมูลของบริษัทพบว่าจะมีการเก็บค่าบริการตามปริมาณข้อมูลอยู่ที่ 0.20 – 1 บาท/MB ซึ่งเป็นอัตราที่ประหยัดกว่าอัตราทั่วไปของระบบเดิมที่มีการคิดประมาณ 0.12 บาท/KB
“แต่ปัญหาของการคิดอัตราค่าบริการข้อมูลตามปริมาณข้อมูลคือ ผู้บริโภคจะประมาณการค่าใช้จ่ายหรือจำกัดการใช้งานได้ยาก ขณะที่การคิดค่าบริการตามระยะเวลาใช้งานทำได้ง่ายกว่า แต่บริการ 3G ของทีโอทียังไม่มีการคิดค่าบริการข้อมูลตามระยะเวลาใช้งาน ดังนั้น คบท. จึงเสนอแนะว่า ควรให้มีระบบการคิดค่าบริการทั้งสองแบบ เพื่อเป็นทางเลือกแก่ผู้บริโภค ในทำนองเดียวกัน เรื่องของพื้นที่ให้บริการที่ขณะนี้จำกัดเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล ก็ควรมีการขยายให้ประชาชนในภูมิภาคต่างๆ ได้มีโอกาสได้ใช้บริการด้วย เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่นอกโครงข่าย รวมถึงกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ เช่น คนหูหนวก” น.ส.สารี อ๋องสมหวัง หนึ่งในกรรมการ คบท. ระบุ
ข้อน่าห่วงใยอีกประการหนึ่งในความเห็นของ คบท. คือ การที่บริการ 3G ของทีโอทีมีการจำกัดระยะเวลาการใช้งานการให้บริการระบบเติมเงิน เช่น เติม 50 บาทใช้งานได้ 5 วัน ซึ่งไม่สอดคล้องกับประกาศ กทช. เรื่องมาตรฐานของสัญญาฯ
นายชัยรัตน์ แสงอรุณ กรรมการ คบท. ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายขยายความว่า “เรื่องนี้ ในกรณี บมจ. ทีโอทีอาจแย้งว่าสัญญาให้บริการเดิมได้รับการคุ้มครองตามบทเฉพาะกาลของประกาศดังกล่าว แต่กรณีบริการของ MVNO นั้น ไม่เคยมีสัญญาให้บริการเดิมมาก่อน การจำกัดระยะเวลาใช้งานจึงไม่น่าจะชอบด้วยกฎหมาย”
ในความเห็นของ คบท. ยังมีผลกระทบที่ควรมีการคำนึงถึงอีกประการหนึ่งคือเรื่องของการจัดเก็บข้อมูลผู้ใช้บริการ เพราะเมื่อผู้บริโภคนำบริการ 3G ไปใช้เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต จะส่งผลกระทบต่อการบังคับใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 เนื่องจากจะไม่สามารถระบุตัวผู้ใช้บริการได้
จากประเด็นที่น่าห่วงใยทั้งหมด ที่ประชุม คบท. จึงมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการให้บริการ 3G บนโครงข่าย TOT ในหลายประเด็น ได้แก่ 1) ควรเร่งพิจารณาแบบสัญญาให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ3G โดยเฉพาะของผู้ให้บริการ MVNO เนื่องจากไม่เคยมีสัญญาเดิมมาก่อน 2) ควรกำหนดอัตราค่าบริการขั้นสูงของบริการข้อมูล และส่งเสริมให้มีการคิดค่าบริการทั้งตามระยะเวลางานและตามปริมาณข้อมูล 3) ควรแก้ปัญหาการจำกัดระยะเวลาใช้งานของโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบเติมเงินอย่างจริงจัง 4) ควรมีระบบติดตามตรวจสอบคุณภาพและพื้นที่บริการของระบบ 3G และกำกับดูแลให้เกิดการ โรมมิ่ง เพื่อผู้บริโภคสามารถใช้บริการปกติได้นอกพื้นที่ให้บริการ 3G ซึ่งส่งผลให้ประหยัดทรัพยากรเลขหมาย 5) ควรกำกับดูแลการแข่งขัน เพื่อให้ผู้ให้บริการรายใหม่หรือรายย่อยสามารถอยู่รอดได้ โดยเฉพาะกรณีผู้ให้บริการรายใหญ่จะ โรมมิ่ง บริการข้อมูลกับโครงข่าย 3G ของ บมจ.ทีโอที 6) ควรกำกับดูแลให้มีการขยายพื้นที่ให้บริการ เพื่อให้ประชาชนในส่วนภูมิภาคเข้าถึงบริการได้ 7) ควรกำชับให้มีการลงทะเบียนหรือจัดเก็บข้อมูลผู้ใช้บริการในระบบเติมเงินอย่างเคร่งครัดเพื่อให้สามารถตรวจสอบผู้กระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ได้