"คลัง"บี้รื้อสัมปทานก่อนประมูล3จี สกัดเอกชนย้ายลูกค้าไปบริษัทใหม่ทำรัฐสูญรายได้
เขียนโดย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) วันที่ . จำนวนผู้ชม: 2967
"คลัง" ทุบโต๊ะเอกชนผู้ให้บริการมือถือเดิมต้องแปรสัญญาสัมปทานก่อนเข้าประมูล 3จี แจงเพื่อสกัดไม่ให้เอกชนโอนย้ายลูกค้าไปอยู่บริษัทใหม่ที่ให้บริการ 3 จี หวั่นทำรัฐสูญเสียรายได้ ด้าน "ระนองรักษ์" ลั่นไม่มีนโยบายฉีกสัญญาสัมปทาน แค่เรียกเอกชนมาเคลียร์ปัญหาการใช้ทรัพย์สินและโอนลูกค้าเท่านั้น ด้าน กสทฯ-ทีโอทีดิ้น หวั่นมาตรา 78 ร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรใหม่ให้นำเงินสัมปทานส่งเข้าคลังทั้งหมด กระทบแผนการลงทุน
P { margin: 0px; }
นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เพื่อดูแลผลกระทบของ บมจ. ทีโอทีและ กสท โทรคมนาคม จากการประมูลใบอนุญาต 3 จี ผู้ที่จะเข้าประมูล 3 จี ต้องมีการแปรสัญญาสัมปทานเดิมให้เรียบร้อยก่อน เพราะโดยหลักการถ้าไม่แปรสัญญาสัมปทาน ผู้ให้บริการมือถือเดิมอย่างเอไอเอส ดีแทค ทรูมูฟ ถ้าได้ ใบอนุญาตใหม่ 3 จี ก็จะโอนย้ายลูกค้าไปอยู่บนโครงข่าย 3 จี ซึ่งจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ เสียประโยชน์จากส่วนแบ่งรายได้สัมปทานที่ลดน้อยลง ส่วนรายละเอียดเป็นเรื่องที่ต้องไปหารือกันต่อไป
นอกจากนี้ รัฐมนตรีคลังยังมีนโยบายที่จะให้ทั้งทีโอทีและ กสทฯนำเงินรายได้จากส่วนแบ่งสัญญาสัมปทานส่งเข้าคลังโดยตรงทั้งหมด แทนที่จะให้ส่งเข้าคลังในรูปแบบของกำไรสุทธิของบริษัท
แหล่ง ข่าวกล่าวว่า จากกรณีดังกล่าวจะเป็นการจำกัดไม่ให้ทีโอทีและ กสทฯนำเงินรายได้จากสัมปทานไปใช้จ่าย หรือนำไปชดเชยกับรายได้รวมของบริษัทที่ลดลง ส่วนหนึ่งเพื่อให้ทั้ง 2 หน่วยงานบริหารงานและดำเนินธุรกิจอย่างมีศักยภาพโดยไม่ต้องพึ่งพารายได้จาก สัมปทาน
ทั้งนี้รายงานข่าวจากคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุ โทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ...(กสช.) ของสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมาธิการเมื่อ 5 พ.ย.ที่ผ่านมาได้มีการพิจารณาแปรญัตติ มาตรา 78 ในการกำหนดให้รัฐวิสาหกิจนำส่งเงินรายได้ที่เกิดจากการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาที่ให้เอกชนใช้คลื่นความถี่ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วย การให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 หลังหักค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการดำเนินการตามสัมปทานหรือ สัญญาตามที่ กสช.กำหนด ให้กับ กสช.นำส่งเข้าเป็นรายได้แผ่นดินต่อไป
โดย ค่าใช้จ่ายที่สามารถนำมาหักก่อนนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินจะมีแค่ 3 กรณี คือ ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดทำบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการ เพื่อสังคม (ยูเอสโอ) และค่าใช้จ่ายในการบริหารสัญญา เพื่อให้อำนาจกระทรวงการคลังเข้าไปตรวจสอบดูแลการหักค่าใช้จ่ายก่อนนำรายได้ ส่งเข้าคลัง โดยให้บังคับใช้กับทุกสัญญาที่ยังมีผลใช้บังคับ
กสทฯ-ทีโอทีหวั่นกระทบการลงทุน
ด้าน นายกฤษดา กวีญาณ กรรมการ บมจ. กสท โทรคมนาคม เปิดเผยว่า ในที่ประชุมบอร์ด 6 พ.ย.ที่ผ่านมาได้มีความกังวลเรื่องการบัญญัติให้ทีโอทีและ กสทฯต้องส่งส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการตามสัญญาสัมปทานเข้ารัฐโดยตรง ในมาตรา 78 ของร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญของสภา ผู้แทนราษฎร บอร์ดจึงได้มอบหมายให้ฝ่ายบริหารเร่งชี้แจงผลกระทบกรณีดังกล่าวให้รัฐสภา ทราบ รวมถึงให้มีการตั้งคณะทำงานประเมินผลกระทบและตีมูลค่าของสัญญาสัมปทาน เพื่อเตรียมความพร้อมไว้หากรัฐบาลต้องการให้มีการแปรสัญญาสัมปทาน
นาย จิรายุทธ รุ่งศรีทอง กรรมการ ผู้จัดการใหญ่ บมจ. กสท โทรคมนาคม กล่าวเสริมว่า มาตรานี้จะมีผลกระทบโดยตรงกับเงินลงทุนของบริษัท เนื่องจากที่ผ่านมา กสทฯไม่มีนโยบายกู้เงินมาลงทุน ถ้ามีการดึงเงินจากส่วนแบ่งรายได้เข้าคลังโดยตรงทั้งหมดจะทำให้กระแสเงินสด ของบริษัทหายไป กระทบต่อเงินลงทุนผูกพันข้ามปีในโครงการที่ได้อนุมัติไปแล้วก่อนหน้านี้ รวมเป็นเงินราว 2-3 หมื่นล้านบาท กสทฯจึงต้องเดินหน้าชี้แจงผลกระทบต่อไป
ขณะ ที่การมีส่วนร่วมประมูล 3 จี ของ บมจ. กสท โทรคมนาคม นายจิรายุทธเปิดเผยว่า บอร์ดได้มีมติให้ กสทฯหาพันธมิตรเข้าร่วมประมูลคลื่น 2100 MHz จาก กทช. เพื่อเป็นการเสริมธุรกิจไร้สายของบริษัท นอกเหนือจากเทคโนโลยีซีดีเอ็มเอที่กสทฯให้บริการอยู่แล้ว ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการพูดคุยกับโอเปอเรเตอร์ต่างชาติหลายรายเกี่ยวกับไอเดีย การเข้าร่วมประมูล 3 จี ซึ่งหลังจากบอร์ดมีมติแล้วก็จะเร่งเจรจาอย่างจริงจัง เพื่อหาพันธมิตรในการเข้าประมูล คาดว่าภายในสิ้นปีนี้น่าจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนว่า กสทฯจะร่วมมือกับใคร
นาย วรุธ สุวกร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที เปิดเผยว่า แนวคิดที่จะให้ทีโอทีนำเงินรายได้จากส่วนแบ่งสัญญาสัมปทานส่งเข้าคลังโดยตรง ทั้งหมด รวมถึงแนวคิดที่จะให้แปรสัญญาสัมปทานต่าง ๆ นั้น ทีโอทียังไม่ได้รับคำสั่งหรือการเรียกไปหารืออย่างเป็นทางการแต่อย่างใด
" สิ่งที่ได้ทำตอนนี้ คือ ให้ฝ่ายการเงินทำรายงานมูลค่าทรัพย์สิน มูลค่าสัญญาสัมปทาน รวมถึงทำแผนการเงินต่าง ๆ มาเสนอก่อน ทีโอทีในฐานะที่เป็นรัฐวิสาหกิจใต้สังกัดกระทรวงไอซีที มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้น เราต้องพร้อมปฏิบัติตามนโยบายของทั้ง 2 กระทรวงอยู่แล้ว สิ่งที่ ทีโอทีจะทำได้ คือ ต้องเร่งหารายได้ใหม่ ๆ มาทดแทนรายได้จากสัญญาสัมปทานเพื่อให้บริษัทอยู่รอด"
"ไอซีที" เดินหน้าลงทุน 3จี ทีโอที
ร. ต.หญิงระนองรักษ์ สุวรรณฉวี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า กระทรวงไม่มีนโยบายที่จะทำให้สัญญาสัมปทานสิ้นสุดลงในปี 2553 แต่ต้องการให้ทั้ง บมจ.ทีโอทีและ บมจ. กสท โทรคมนาคม ได้หารือกับเอกชนผู้รับสัมปทานเพื่อแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับสัญญาสัมปทานต่าง ๆ ให้เรียบร้อยในปี 2553 โดยเฉพาะเรื่องการนำโครงข่ายที่เกิดจากสัญญาสัมปทานไปใช้ติดตั้งหรืออัพเกรด และการโอนย้ายลูกค้าจากระบบ 2 จี ไปเป็น 3 จี
"ขณะที่โครงการให้ บริการ 3 จี ของ บมจ.ทีโอที กระทรวงจะผลักดันให้เดินหน้าตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2551 แม้ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจที่ผ่านมาจะมีความเห็นแตกต่างกันแต่ไม่ ได้เห็นแย้ง และเรื่องนี้เป็นหน้าที่ของกระทรวงไอซีทีโดยตรง และสภาพัฒน์ได้ให้ความเห็นชอบแล้ว ใครก็มาหยุดโครงการไม่ได้ นอกจากนายกรัฐมนตรี"
นายธีรวุฒิ บุณยโสภณ ประธานกรรมการ บมจ.ทีโอที เปิดเผยว่า 3 จี ทีโอทีเฟสแรกได้เปิดให้ทดลองใช้บริการแล้วในงานคอมมาร์ตที่ผ่านมา ยืนยันว่า มีความพร้อมที่จะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ 3 ธ.ค.นี้ ส่วนเฟสต่อไปที่จะลงทุนให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ขณะนี้ร่างข้อกำหนดทางเทคนิคเสร็จเรียบร้อยแล้ว คาดว่าราว เม.ย.ปีหน้าจะได้ผู้ชนะประมูลติดตั้งโครงข่าย ส่วนแผนธุรกิจต่าง ๆ สภาพัฒน์ได้อนุมัติมาเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างการปรับให้สอดคล้องกับระเบียบพัสดุของทีโอที
ข้อมูลจาก ประชาชาติธุรกิจ 12/11/52
พิมพ์
อีเมล