ผู้บริโภคบี้รายการทีวี เสียภาษีโฆษณาแฝง

เครือข่ายผู้บริโภค จี้สคบ.คุมผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ แจงรายได้โฆษณาแฝงเก็บภาษีเข้ารัฐ
นางอัญญาอร พานิชพึ่งรัถ ประธานเครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยว่า ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อโฆษณาแฝง พบว่าส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางที่สำนักงานคณะกรรมการ คุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กำหนดว่าการปรากฏให้เห็นสินค้าในรายการโทรทัศน์ ไม่ถือเป็นการโฆษณาแฝง ทำให้มีโฆษณาแฝงเกิน 12.30 นาทีต่อชั่วโมง ถือว่ารุกล้ำสิทธิของผู้บริโภค จึงควรเปิดเผยรายได้จากโฆษณาแฝง เพื่อเสียภาษีให้รัฐ

“แม้นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จะมีเจตนาดี ที่กล้าเข้ามาดูแลปัญหาเรื่องนี้ แต่ร่าง แนวทางการปรากฏของสินค้าในรายการโทรทัศน์ที่ออกมาโดยสคบ. เรียกได้ว่า ไม่ได้สอดคล้องกับความพยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าวเลย ในทางกลับกันจะยิ่ง ทำให้โฆษณาแฝงมีความถูกต้องชอบธรรมตามกฎหมาย และยังจะทำให้มีโฆษณาแฝงมากยิ่งขึ้นกว่าที่เคยมี” นางอัญญาอร กล่าว

น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล กรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ได้เสนอให้ ระบุไว้ในแนวทางที่กำลังร่างนี้ว่า ผู้บริโภคสามารถฟ้องร้องได้ หากมีการโฆษณาแฝงเกินกว่าเวลาที่กำหนดเอาไว้ตามกฎหมาย และจะเสนอให้นายสาทิตย์ลงนามว่า ร่างแนวทางดังกล่าวนี้จะต้องไม่มีผลผูกพันกับกฎหมายใดๆ ในอนาคตทั้งสิ้น เพราะ เกรงว่าอาจจะถูกใช้เป็นบรรทัดฐานในการออกกฎหมายเพื่อควบคุมโฆษณาแฝงต่อไปใน อนาคต

น.ส.ทัศนีย์ แน่นอุดร หัวหน้าฝ่ายเผยแพร่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า การที่ร่างแนวทางระบุให้การปรากฏของสินค้าในรายการโทรทัศน์ อาทิ ผู้แสดงใส่เสื้อโลโก้สินค้า การหยิบจับสินค้า ไม่ถือว่าเป็นการโฆษณาแฝง แต่ต้องแพร่ภาพ 1 ชั่วโมง ไม่เกิน 1 นาที และแต่ครั้งละไม่เกิน 5 วินาที

“สคบ.พยายามทำสิ่งผิดกฎหมายให้ถูกกฎหมาย ซ้ำยังถือว่าไม่ได้เป็นการบรรเทาปัญหาในเรื่องการโฆษณาแฝงที่มีอยู่ เพราะปัจจุบันนี้โฆษณาแฝงในรายการต่างๆ คิดเป็นเวลา 12.30 นาทีต่อชั่วโมง ถือว่า มากเกินไปแล้ว ซึ่งไม่มีที่ใดในโลกทำ แนวทางดังกล่าวแม้จะไม่ใช่กฎหมาย แต่อาจถูกนำไปใช้เป็นบรรทัดฐานในการออกกฎหมายในอนาคตได้ ซึ่งความจริงแล้วควรจะจำกัดให้ทั้งโฆษณาปกติและโฆษณาแฝงรวมเวลาอยู่ในระยะ เวลานี้” น.ส.ทัศนีย์ กล่าว


พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน