ผู้บริโภคย้ำ 3G ต้องเอื้อประโยชน์ให้ผู้บริโภคและประเทศชาติ

เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคจัดเวทีสภาผู้บริโภค ระดมทางออก 3 G ประมูลอย่างไรผู้บริโภคไม่เสียเปรียบ ย้ำหากประมูลในราคาต่ำระวังจะใช้ มาตรา 11 ตามพระราชบัญญัติฮั้วการประมูลจัดการ


Consumerthai - วันนี้ (5 พ.ย.52) เวลา 08.00น. มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จัดโครงการปฏิบัติการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคขึ้น ณ ศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เป็นการประชุมผู้แทนองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศ ครั้งที่ 1 ในการทำหน้าที่ให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของหน่วยงานของรัฐในการบังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคกรณีการประมูลคลื่น 3G ของคณะกรรมการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.)

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวถึงการให้ความเห็นเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวว่า เวทีปฏิบัติการครั้งที่1 ขององค์กรเพื่อผู้บริโภค จัดขึ้นเพื่อตรวจสอบการบังคับใช้กฎหมายและตรวจสอบการดำเนินงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับงานคุ้มครองเพื่อผู้บริโภค โดยความเห็นที่ได้มี 5 ประเด็น ประเด็นแรกเกี่ยวกับราคาประมูลและจำนวนใบอนุญาต ประเด็นที่สองเกี่ยวกับ เงื่อนไขการประมูลระยะเวลาใบอนุญาต และความครอบคลุมในการให้บริการในเชิงพื้นที่และกลุ่มเป้าหมาย ประเด็นที่สามการติดตาม ตรวจสอบการดำเนินงานตามใบอนุญาตและเงื่อนไขการให้บริการ ประเด็นที่สี่เกี่ยวกับกลไกการกำกับเนื้อหา ในระบบ 3G และประเด็นที่ห้า คือประเด็นอื่น ๆ ตามแนวทางในการรับฟังความเห็นของกทช.

นางสาวจุฑา สังคชาติ ตัวแทนเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ภาคใต้ กล่าวถึงประเด็นราคาประมูลและจำนวนใบอนุญาตว่า ต้องมีการออกมาตรการเรื่องการแข่งขัน การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และการส่งข้อมูลหรือภาพ โดยนำมาตรการดังกล่าวไปเปิดรับฟังความคิดก่อนจะมีการนำเปิดประมูล รวมถึงควรกำหนดคุณสมบัติผู้ประมูลให้ชัดเจน เช่น ต้องเป็นผู้ประกอบการที่เป็นคนไทยเท่านั้น และมีหลักประกันในการตรวจสอบคุณสมบัติ จำนวนใบอนุญาตควรการแข่งขัน เมื่อได้รับการประมูลแล้ว ผู้ให้บริการควรดำเนินการอย่างมีธรรมภิบาล คิดค่าบริการที่เป็นธรรมแก่ผู้บริโภค

นางสาวบุญยืน ศิริธรรม ตัวแทนเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ภาคตะวันตก กล่าวว่า ประเด็นเงื่อนไขการประมูลระยะเวลาใบอนุญาต ความครอบคลุมการให้บริการ ในเชิงพื้นที่และกลุ่มเป้าหมาย)ต้องมีการกำหนดเงื่อนไขการประมูลให้ชัดเจน เช่น ต้องจัดบริการให้เข้าถึงอย่างครอบคลุมในพื้นที่ชนบทห่างไกล และกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ เช่น คนพิการ เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตมุ่งผลทางธุรกิจอย่างเดียวจะเป็นการตัดโอกาสการเข้าถึงโทรคมนาคมของคนกลุ่มต่างๆ และต้องสร้างโอกาสเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่เท่าเทียมกันโดยการใช้โครงข่ายร่วมกัน แจ้งโครงสร้างต้นทุนการให้บริการ เพื่อกำหนดราคาการให้บริการที่มีมาตรฐาน และเป็นธรรม กทช. ต้องดูแลสัดส่วนของยูเอสโอ โดยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายย่อยเข้าแข่งขัน และผู้ประกอบการรายใหม่สามารถเข้ามาในตลาดการแข่งขันได้ และกทช. ได้กำหนดสัมปทานไปแล้ว ต้องไม่มีข้อกำหนดที่ปิดโอกาสในการขอสัมปทานในระบบอื่นในครั้งต่อไป

ดร.เรืองชัย ตันติยนนท์ สมาคมคุ้มครองผู้บริโภคสงขลา กล่าวถึงประเด็นการติดตาม ตรวจสอบการดำเนินงานตามใบอนุญาตหรือเงื่อนไขการให้บริการว่า จะต้องมีกลไกการติดตามตรวจสอบการดำเนินงาน ทั้งก่อนและหลังการประมูล อีกทั้งต้องมีกติกาในการกำกับการดำเนินงานของผู้ประกอบการอย่างเข้มแข็งและจริงจัง พร้อมมีการปรับในเชิงลงโทษ และมีบทลงโทษที่สามารถปฏิบัติได้จริง ทั้งนี้กทช. ต้องสนับสนุนให้องค์กรผู้บริโภคเป็นกลไกเฝ้าระวังเพื่อติดตามตรวจสอบการดำเนินงาน และรัฐบาลต้องเร่งให้มีองค์การอิสระเพื่อผู้บริโภคตามรัฐธรรมนูญมาตรา 61

ด้านนายสวัสดิ์ เฟื่องฟู ตัวแทนเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคเหนือ กล่าวถึงประเด็นกลไกการกำกับเนื้อหา ในระบบ 3Gว่า ต้องจัดให้มีคณะกรรมการกำกับดูแลระดับประเทศ มีองค์ประกอบจากทั้ง 3 ฝ่าย คือ ผู้ให้บริการ ผู้กำกับดูแล ผู้บริโภค เข้าไปกำกับดูแลและมีบทบาททั้งเชิงการให้คุณและให้โทษ โดยทำงานร่วมกับศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคภาคประชาชน รวมทั้งผู้รับใบอนุญาตต้องกำหนดหรือสร้างเงื่อนไข สำหรับผู้ให้บริการเสริม ทั้งเนื้อหา ภาพ ข้อมูลให้ชัดเจน

นางสาวสารีกล่าวเพิ่มเติมว่า จะนำข้อเสนอ ไปยื่นต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อเร่งผลักดันให้มีการออกกฎหมายองค์การอิสระผู้บริโภคตามเจตนารมณ์ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 61 หลังจากนั้นจะนำเสนอข้อมูลให้กับคณะกรรมการโทรคมนาคมแห่งชาติในวันที่ 12 พ.ย. 52 นี้ และจะส่งข้อเสนอต่อคณะกรรมการไอซีที สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กรรมมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค และนักสิทธิมนุษยชนของวุฒิสภา เพื่อตรวจสอบว่าข้อเสนอดังกล่าวจะสามารถดำเนินการไปมากน้อยอย่างไร

นอกจากนี้จะนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงานของกทช. เกี่ยวกับกรณี 3G ให้ประชาชนรับทราบ ทั้งนี้หากข้อเสนอไม่ได้รับการปฏิบัติและดำเนินการ หรือการประมูลเกิดความไม่ชอบมาพากล มีการประมูลในราคาต่ำเกินไป อาจจะใช้ มาตรา 11 ตามพระราชบัญญัติฮั้วการประมูลมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการดำเนินการต่อไป












พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน