นายเศรษฐพร กล่าวถึงการดำเนินโครงการ 3 จี ว่า จะเป็นประโยชน์อย่างมาก ทั้งในแง่การลงทุน ของผู้ที่ได้รับสัมปทาน ในการขยายเครือข่ายในการให้บริการ และเป็นการให้บริการด้านข้อมูลที่หลากหลายแก่ประชาชน และทำให้เข้าถึงประชาชนมากขึ้นและรวดเร็ว ทั้งนี้ ในส่วนขั้นตอนการประมูลนั้น จะมีการออกหนังสือเชิญชวนแก่ผู้ที่สนใจ แต่การกำหนดวันประมูลต้องกำหนดอีกครั้ง โดยจะมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ในวันที่ 12 พ.ย. เพื่อนำมาประกอบการพิจารณากำหนดวันประมูล พร้อมทั้งยืนยันว่า กทช. จะต้องดำเนินการทุกอย่างเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม นอกจากนี้ หากมีรายได้จากการประมูลก็จะส่งเป็นรายได้ของแผ่นดินทั้งหมด จึงเชื่อว่าการประมูลในครั้งนี้จะไม่มีปัญหาแต่อย่างใด
ขณะที่นายเดชอุดม กล่าวว่า โดยส่วนตัวไม่ได้คัดค้านโครงการ 3 จี เพราะเห็นว่ามีประโยชน์ต่อประชาชน แต่ขอตั้งคำถามว่า ทำไมต้องมีการเร่งดำเนินการ ขณะที่ยังไม่มีความชัดเจน ในเรื่องของอำนาจหน้าที่ของ กทช. อย่างไรก็ตามตนเห็นว่าควรให้คณะกรรมาธิการของทั้ง 2 สภาที่เกี่ยวกับกิจการโทรคมนาคมเร่งตรวจสอบความถูกต้องของการดำเนินการขององค์กรอิสระของกทช.และขอเสนอให้ผู้ที่มีประโยชน์เกี่ยวข้อง หรือต้องเสียหายเสนอเรื่องนี้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง เพื่อพิจารณาอำนาจหน้าที่ของ กทช.ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2550 ให้ได้ข้อวินิจฉัยที่เป็นมาตรฐานแก่การปฏิบัติ และขอให้รัฐบาล หรือองค์กรที่เกี่ยวข้องยับยั้งโครงการการประมูลไว้ก่อนจนกว่าจะได้มีความชัดเจนในเรื่องข้อกฎหมายดังกล่าว
“ผมอยากให้มีการพิจารณาประโยชน์และส่วนได้ ส่วนเสียในการดำเนินการของ กทช. ในเรื่องของการดำเนินการคงสิทธิเลขหมายของ กทช. ประกอบกับการจัดสรรคลื่นความถี่ IMT หรือ 3G and Beyond ของ กทช. เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองดูแลทรัพยากรโทรคมนาคม ซึ่งเป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติ และเป็นการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะตามครรลองแห่งบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ” นายเดชอุดม กล่าว
น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า หากกรอบการประมูลยังคงเป็นเช่นเดิม ก็จะมีเพียง 3 บริษัทเดิมที่เข้าประมูลซึ่งทำให้ทั้ง 3 บริษัทเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์อย่างแน่นอน แต่หากต้องการให้ภาครัฐได้ประโยชน์อย่างแท้จริง รัฐจะต้องได้รับประโยชน์ในอัตราที่ไม่ต่างจากผู้ได้สัมปทานที่เคยจ่ายให้รัฐก่อนหน้านี้ ส่วนการให้บริการต้องครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ด้อยโอกาส ซึ่งจะต้องมีการติดตามตรวจสอบ และจำเป็นต้องมีกลไกติดตามการดำเนินการอย่างชัดเจน โดยกระบวนการทั้งหมดควรให้ภาคประชาชนได้มีส่วนร่วม เพื่อเกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง
นายสุขุม ชื่นมะนา ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจบริษัท กสท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สหภาพไม่ได้คัดค้าน แต่เห็นว่า คลื่นความถี่ 3 จี เป็นของประชาชน ถามว่าเมื่อให้ใบอนุญาต 3 จี กับบริษัทเอกชน จะมีใครรับประกันได้ว่า บริษัทเอกชนจะไม่ได้เป็นนอมินีของคนต่างประเทศ แม้จะมีกฎหมายบังคับเรื่องการถือหุ้นของต่างชาติก็ตาม คลื่นความถี่ของชาติอาจตกอยู่ในมือของคนต่างชาติได้
นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องอื่น ๆ อีก ทางสหภาพเห็นว่า รัฐควรชะลอการเรื่องนี้ออกไปก่อนจนกว่าปัญหาจะได้รับการแก้ไข ทั้งเรื่องข้อกฎหมาย สังคม และเศรษฐกิจ เพราะคลื่นความถี่ไม่ใช่ของคณะกทช.เพียง 3 คนแต่เป็นของประชาชน จึงขอให้ดำเนินการอยู่บนพื้นฐานของความเป็นธรรม
นายอนันต์ วรธิติพงศ์ ส.ว.สรรหา รองประธานคณะกรรมการการวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี การสื่อสารและการคมนาคม วุฒิสภา กล่าวว่า จากการศึกษาของกรรมาธิการฯเห็นว่า ควรเร่งรัดให้มีการดำเนินการเรื่อง 3 จีอย่างเร่งด่วน ซึ่งรัฐบาลก็ได้ประกาศนโยบายว่าจะส่งเสริมด้านการสื่อสารและสร้างความเท่าเทียมกัน แต่ที่ผ่านไม่มีความคืบหน้าในเรื่องนี้ ซึ่งตนเสียดายโอกาสนักลงทุนและเสียดายที่เงินที่จะเข้าสู่รัฐกว่า 300,000 ล้านบาท โดยที่รัฐไม่จำเป็นต้องออกพันธบัตรเพื่อระดมเงินเข้าสู่รัฐ
นอกจากนี้รายได้ของรัฐไม่เพียงแต่การให้สัมปทานในเรื่องคลื่นความถี่ รายได้ก็จะมาจากอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ส่วนผลพลอยได้อื่น ๆ คือการที่ประเทศจะได้พัฒนาเทคโนโลยีการติดต่อสื่อสาร ระบบการสื่อสารทางไกล เป็นต้น ส่วนข้อกังวลเรื่องการผูกขาดนั้นไม่มีเพราะความถี่จะมีการพัฒนาไปเรื่อยๆแม้ว่า กทช.จะออกใบอนุญาตให้กับบริษัทสื่อสารหรือโทรคมนาคม 2-3 บริษัทแต่ไม่ปิดกั้นคลื่นความถี่ ซึ่งยังสามารถเปิดคลื่นความถี่ได้อีก โดยในอนาคตก็สามารถเปิดคลื่นความถี่ 4 จี
นายธัช บุษฏีกานต์ รองหัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกฎหมาย บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า การพัฒนาระบบ 3G ในประเทศไทย ถือว่าเป็นสิ่งที่มีประโยชน์เพราะจะทำให้ประชาชนในเมืองและชนบทได้รับข้อมูลข่าวสารเท่าเทียมกัน ทั้งด้านการศึกษา สังคมและบันเทิง ดังนั้นการพัฒนาระบบ 3G จึงไม่ควรถูกปิดกั้นด้วยปัญหาข้อขัดแย้งเรื่องการประมูลคลื่น เนื่องจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก ที่ใช้ 3G นั้น ในบางประเทศ เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และมาเลเซีย มีการจัดเก็บค่าคลื่นไม่สูง จึงทำให้การพัฒนาระบบ 3G เป็นไปอย่างรวดเร็ว แต่ในประเทศอังกฤษที่มีการเรียกเก็บค่าสัมปทานจากเอกชน ทำให้การพัฒนาโครงข่ายของอังกฤษมีปัญหาโดยเฉพาะบริษัทที่รับสัมปทานแต่เป็นเพราะบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีความแข็งแกร่งจึงไม่ล้ม ดังนั้นจะต้องคิดให้ดีว่าการจัดสรรคลื่น 3จีจะเอารัฐหรือประชาชนเป็นตัวตั้ง
สำนักข่าวเนชั่น 28 ตค. 2552