มิเช่นนั้น คงไม่ได้เห็นสถิติการปิดเว็บไซต์ผิดกฎหมายที่ดูเหมือนว่า ยิ่งปิด เหมือนยิ่งเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกที ล่าสุด "กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที)" เผยว่า ตั้งแต่เริ่มโครงการแจ้งภัยร้ายทางอินเทอร์เน็ตผ่านสายด่วน 1212 ตั้งแต่เดือน มี.ค.เป็นต้นมา สามารถตามปิดเว็บไซต์ด้านมืดเหล่านี้ไปแล้วกว่า 2.2 หมื่นเว็บ ในจำนวนนี้กว่า 1.3 หมื่นเว็บ เป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ
ขณะที่ 8,900 เว็บ เต็มไปด้วยข้อมูลยั่วยุทางลามก อนาจาร และอีกราว 72 เว็บ เกี่ยวข้องกับการพนัน
สถิติข้างต้นมีผลให้ภาพจำของอินเทอร์เน็ตสำหรับคนรุ่นใหม่ อาจกำลังกลายเป็นเครื่องมือด้านลบมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเป็นช่องทางให้เหล่ามิจฉาชีพ และผู้ไม่ประสงค์ดีใช้เป็นเครื่องมือก่อกวน ตักตวงผลประโยชน์เข้าตัว โดยไม่สนใจโลกเลยว่า จะส่งผลกระทบกับคนอื่นๆ อย่างไร
ไม่เว้นแม้กระทั่งคนในวงการบันเทิง ซึ่งตกเป็นเป้านิ่งให้ผู้ไม่ประสงค์ดีใช้หาผลประโยชน์จากเครื่องมือใกล้ตัวอย่างอินเทอร์เน็ต
"เก๋ ชลลดา เมฆราตรี" เซเลบริตี้แถวหน้าของเมืองไทย ควบด้วยตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัทในเครือจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ยอมรับว่า เป็นอีกคนหนึ่งที่เคยเผชิญกับการถูกละเมิดสิทธิจากคนในด้านมืดของอินเทอร์เน็ต
"เคยมีเคสที่โดนกับตัวเองเลยค่ะ อาจจะไม่เลวร้ายมาก แต่เชื่อว่าดาราไทยน่าจะโดนกันเยอะกับการถูกตัดต่อภาพ โดยโดนตัดต่อภาพหน้าไปโฆษณาบนปฏิทินของต่างประเทศ ที่รู้เพราะไปเทียบดูทุกรูป บรรยากาศมันใช่เลยว่า เป็นการถ่ายแฟชั่นของเราที่เมืองไทย แต่ไปปรากฏเป็นภาพโฆษณาบนปฏิทินในต่างประเทศ ส่วนอีกเคสหนึ่งเป็นน้องๆ ในคลับเอฟ ซึ่งตอนนั้น เรามีโปรเจคทำเป็นคลิปเบื้องหลังการทำงาน แต่กลายเป็นว่าถูกมิจฉาชีพนำไปตัดต่อภาพบางส่วน ให้กลายเป็นเหมือนกับภาพหลุด และเผยแพร่ไปทั่วอินเทอร์เน็ต ซึ่งทำให้ภาพลักษณ์ของดาราถูกมองแง่ลบไป" เก๋เล่า
แต่ก็ยังอาจไม่หนักเท่ากับกรณีของดาราสาว "แตงโม ภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์" ซึ่งเธอบอกว่า เจอภัยจากอินเทอร์เน็ตมาตั้งแต่ก่อนเข้าวงการ โดยถูกอ้างชื่อจากเว็บไซต์จัดหาคู่ และนำภาพของเธอไปอ้างอิงว่าเป็นตัวจริง เพื่อเป็นช่องทางหลอกลวงให้คนเข้าใจผิดว่า ได้คุยกับดาราสาวตัวจริงผ่านเว็บไซต์
"สิ่งที่เกิดขึ้น คือ มีคนเอารูปไปหาคู่ในเว็บไซต์ และปลอมเป็นโมจนกระทั่งได้เป็นแฟนกัน เพราะฝ่ายชายเข้าใจว่าเป็นโมจริงๆ แต่จริงๆ ไม่ใช่ โมไม่รู้เรื่อง ซึ่งตอนนั้นโมยังเด็ก ก็ไม่รู้ว่าต้องทำยังไง หรือจะสืบหาตัวได้ยังไง จนกระทั่งภายหลังโมได้รู้ว่า ผู้ชายคนนี้เป็นโรคหัวใจระยะแย่แล้ว และพยายามนัดเจอผู้หญิงคนนี้ แต่ก็ไม่มาให้เจอ จนสุดท้าย เขาเสียชีวิต ทั้งๆ ที่ตัวเขาและครอบครัวยังไม่รู้ว่า เป็นแตงโมตัวปลอม ซึ่งทำให้รู้สึกเลยว่า นอกจากจะทำให้เราเสียหายแล้ว ยังส่งผลกระทบกับครอบครัว หรือคนที่เขาไม่รู้เรื่องด้วยอย่างร้ายแรง" โมว่า
เธอฝากย้ำเตือนว่า ครอบครัวมีผลอย่างยิ่งกับการดูแลไม่ให้เกิดผลเสียบนโลกอินเทอร์เน็ต เนื่องจากเชื่อว่าความแพร่หลายของการใช้งานคอมพิวเตอร์ จะยิ่งเปิดกว้างให้ใครก็ได้สามารถเข้าสู่โลกไซเบอร์ ซึ่งต้องช่วยกันดูแลให้ดี เพราะจากแค่จุดเล็กๆ แต่อาจก่อให้เกิดความเสียหายใหญ่หลวงได้อย่างที่เคยเกิดขึ้นกับตัวเธอเอง
แต่ทั้งนี้ ก็อาจต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายๆ ฝ่าย ทั้งครอบครัว หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ซึ่งกิจกรรมรณรงค์ "สร้างสรรค์โลกออนไลน์ หยุดเว็บร้ายโทร 1212" ของกระทรวงไอซีทีก็เป็นอีกทางหนึ่ง ที่ช่วยให้เว็บไซต์บนโลกไซเบอร์กลายเป็นสีขาวมากขึ้น โดยสามารถแจ้งเบาะแส เมื่อพบเห็นเว็บไซต์ผิดกฎหมายในทุกรูปแบบผ่านคอลล์เซ็นเตอร์ 1212 หรืออีเมล This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. ตลอด 24 ชั่วโมง
นอกจากนี้ ยังได้รับความร่วมมือจากเว็บขวัญใจวัยรุ่น "เด็กดี ดอทคอม (dek-d.com)" สามารถแจ้งข่าวสารผ่านหน้าเว็บไซต์ได้ทันทีเช่นกัน
เพราะโลกอินเทอร์เน็ตสีขาว สร้างได้ด้วยมือเราทุกคน...
ข้อมูลจาก นสพ.กรุงเทพธุรกิจ 03/10/52