สบท. ผนึกสมาคมผู้ดูแลเว็บ เปิดเว็บสปีดเทสต์ ทดสอบความเร็วบริการบรอดแบนด์อินเตอร์เน็ต พร้อมเก็บข้อมูลเชิงสถิติ เพื่อให้ผู้บริโภคตัดสินใจเลือกใช้บริการ ป้องผู้ให้บริการโฆษณาเกินจริง ตั้งเป้าผู้ใช้บริการราว 1 ล้านราย
น.พ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการ สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม(สบท.) เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่าสถาบัน ได้ร่วมกับสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย จัดทำโครงการสำรวจและทดสอบคุณภาพความเร็วอินเตอร์เน็ต (SpeedTest) ขึ้นเพื่อศึกษาข้อมูลการให้บริการอินเตอร์เน็ตของผู้ประกอบการถึงความเร็ว ของบริการอินเตอร์เน็ตตามการโฆษณาประชาสัมพันธ์ต่อผู้บริโภค และเพื่อให้ได้เป็นแนวทางในการคุ้มครองสิทธิของผู้ใช้บริการและรู้เท่าทัน ต่อผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ซึ่งไม่ได้มีจุดประสงค์ที่จะมุ่งจับผิดแต่อย่างใด โดยระบบทดสอบความเร็วและข้อมูลบริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง หรือบรอดแบนด์อินเตอร์เน็ตดังกล่าวนั้นจะให้บริการผ่านเว็บไซต์ www.speedtest.or.th
ทั้งนี้ระบบทดสอบความเร็วอินเตอร์เน็ตที่พัฒนาขึ้นมาจะแตกต่างจากระบบทดสอบความเร็วของบริการอินเตอร์เน็ตในต่างประเทศทั่วไป โดยระบบทดสอบความเร็วต่างประเทศ จะวัดความเร็ว ณ ช่วงเวลาที่ผู้ใช้บริการเข้าไปทดสอบเท่านั้น ไม่มีการเก็บข้อมูลเอาไว้ แต่ระบบที่สถาบันร่วมกับสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย พัฒนาขึ้นมาจะมีการจัดเก็บข้อมูลผลการทดสอบไว้ในระบบฐานข้อมูล และมีการวิเคราะห์ สรุปผลออกมาใช้เชิงสถิติ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะมีการแยกเป็นข้อมูลผู้ให้บริการ รายจังหวัดพื้นที่ให้บริการ
ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคในการตัดสินใจใช้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงว่าเป็นไปตามที่ผู้ให้บริการโฆษณาไว้หรือไม่ ขณะเดียวกันข้อมูลดังกล่าวก็จะเป็นประโยชน์กับผู้ให้บริการ ในการปรับปรุงบริการของตัวเองให้ดีขึ้น เพราะหากคู่แข่งขันมีความเร็วการให้บริการใกล้เคียงกับที่โฆษณาไว้ก็จะมีข้อได้เปรียบทางการค้า ซึ่งจำเป็นต้องปรับปรุงความเร็วการให้บริการให้ดีขึ้น สุดท้าย ผู้บริโภคสามารถนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้เป็นหลักฐานประกอบการฟ้องร้องกับผู้ให้บริการได้
"เดิมผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง มักอ้างว่าเครื่องมือวัดความเร็วอินเตอร์เน็ตในต่างประเทศไม่ได้มาตรฐาน ผู้ใช้บริการบางรายก็ใช้เครื่องมือวัดจากอเมริกา บางรายก็ใช้ในยุโรป แต่สำหรับเครื่องมือวัดความเร็ว ที่ สบท. และสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย พัฒนาขึ้นมานั้นมีการจัดตั้งเครื่องแม่ข่ายกลาง หรือเซิร์ฟเวอร์กลางขึ้นมา และเชื่อมต่อไปยังเครื่องแม่ข่าย ของผู้ให้บริการโดยตรง ซึ่งเป็นข้อมูลการจราจรที่แท้จริง ดังนั้นจะอ้างไม่ได้ว่าเครื่องมือวัดไม่ได้มาตรฐาน อีกทั้งยังมีองค์กรกลาง อย่างสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย เป็นผู้ดูแลระบบติดตามคุณภาพการให้บริการอินเตอร์เน็ต"
น.พ. ประวิทย์ กล่าวว่าได้เริ่มทำการทดสอบระบบทดสอบความเร็วอินเตอร์เน็ตมาระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งข้อมูลยังมีไม่มากนัก แต่หากมีผู้ใช้บริการเข้ามาทดสอบจำนวนมาก ข้อมูลคุณภาพการให้บริการจะมีความแม่นยำ หรือ ใกล้เคียงกับความเป็นจริง ซึ่งภายในสิ้นปีนี้คาดว่าจะมีผู้ใช้ระบบดังกล่าวทำการทดสอบความเร็วบริการอินเตอร์เน็ต ประมาณ 1 ล้านราย โดยหลังจากนี้จะมีการนำลิงก์เว็บไซต์ www.speedtest.or.th ไปฝากไว้ตามเว็บไซต์ชื่อดัง อาทิ สนุกดอทคอม หรือพันทิป เพื่อเป็นช่องทางให้ผู้ใช้บริการเข้ามาใช้บริการ
ด้าน พ.ต.อ. ญาณพล ยั่งยืน นายกสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย กล่าวว่า สมาคมจะเข้ามาเป็นคนกลางช่วยตรวจสอบและสรุปประมวลผล ถึงคุณภาพการให้บริการด้านความเร็วอินเตอร์เน็ต ซึ่งนอกจากจะใช้ระบบโปรแกรมที่ค่อนข้างจะเป็นมาตรฐาน ซึ่งคนไทยรู้จักคุ้นชินกันดี คือ OOKLA แล้ว ระบบยังจะทำการบันทึกจัดเก็บข้อมูลผลการตรวจสอบนั้น ลงในฐานข้อมูล เพื่อที่จะทำวิเคราะห์และสรุปในเชิงสถิติ เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้อง นำไปปรับปรุงแก้ไขต่อไป ซึ่งถือได้ว่า เป็นส่วนหนึ่งของการคุ้มครองผู้บริโภค ในภาพรวมอีกด้วย
ส่วนนายนนท์ อิงคุทานนท์ ผู้จัดการทั่วไป ธุรกิจบริการไวร์ไลน์บรอดแบนด์ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า ปกติผู้ให้บริการแต่ละรายตั้งเป้าคุณภาพการให้บริการของตัวเองไว้อยู่แล้ว ซึ่งเป็นเรื่องดี ที่มีหน่วยงานกลางมาทำหน้าที่ตรวจสอบคุณภาพให้บริการ โดยหากเครื่องมือมีคุณภาพ และผลการเก็บข้อมูล ตลอดจนการวัดผลมีประสิทธิภาพ หรือเป็นที่ยอมรับ ก็จะกระตุ้นผู้ให้บริการทุกรายปรับปรุงคุณภาพการให้บริการให้ดีขึ้น
ข้อมูลจาก จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 2456 27 ส.ค. - 29 ส.ค. 2552