กำจัด จุดอ่อน ใน..พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ปี 50

แม้จะล่วงเลยมากว่า 2 ปี แต่ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ 2550 ยังคงเป็นกฎหมายที่ถูกท้วงติงถึงขอบเขต และประสิทธิภาพของการบังคับใช้อย่างต่อเนื่อง กระทั่งก่อให้เกิดเสียงเรียกร้องให้มีการแก้ข้อกำหนดที่บัญญัติไว้ในหลายๆ มาตรา
ขณะที่บทสรุปบนเวทีสัมมนา “กฎหมายเกี่ยวกับอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ : มุมมองจากสากลและหลักปฏิบัติ” โดยเครือข่ายพลเมืองเน็ต ไม่ว่าจะเป็นนักกฎหมาย หรือนักวิชาการไทย-เทศต่างเห็นตรงกันว่า ตัวบทกฎหมายที่ไม่ชัดเจน และคลุมเครือ” ยังเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับการบังคับใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ให้มีประสิทธิภาพอย่างที่หลายฝ่ายตั้งใจ

กูรูมะกันเทียบ พ.ร.บ.ไทยคล้าย “บราซิล”
นายเอดเด็น แคตซ์ ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการต่างประเทศมูลนิธิพรมแดนอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Frontier Foundation หรือ EFF) องค์กรอิสระที่เน้นการเคลื่อนไหวด้านสิทธิดิจิทัลจากสหรัฐ บอกว่า ภาพรวมของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ไทยมีปัญหาคล้ายกับกฎหมายอินเทอร์เน็ตใน “บราซิล” คือ “ความไม่ชัดเจนของกฎหมาย” โดยเฉพาะประเด็นเรื่อง "เจตนา"

เนื่องจากการออก พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่มักอ้างอิงจากหลักกฎหมายอาญา ซึ่งจะพิจารณาความผิดจาก “เจตนาในการกระทำ” เป็นหลัก แต่เนื่องจากความซับซ้อนของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ อาจทำให้ไม่สามารถพิสูจน์เจตนาที่แท้จริงได้

นอกจากนี้ก็ยังมีหลายกรณีที่คอมพิวเตอร์เป็นผู้กระทำผิดเอง เช่น เกิดไวรัส หรือโทรจันทำให้ระบบผิดพลาดในการรับ-ส่งข้อมูล ก็เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ไม่สามารถสะท้อนเจตนารมณ์ที่แท้จริงของผู้ใช้งานได้

“ปัญหาหลักๆ ที่เจอเหมือนกันคือ ความไม่ชัดเจนของกฎหมาย ทำให้เกิดการตีความที่แตกต่างกันไป กลายเป็นข้อโต้แย้งกัน ซึ่งในต่างประเทศมีคดีฟ้องร้องเกิดขึ้นมากมาย ไม่เฉพาะเรื่องการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างที่เป็นประเด็นเด่นชัดในไทย แต่ยังมีเรื่องของอนาจาร การละเมิดสิทธิ ที่ลุกลามมาบนอินเทอร์เน็ต ประเด็นคือ แม้จะมีการลงโทษรุนแรง แต่ก็ยังไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้ใช้” นายแคตซ์กล่าว

ขณะที่การเขียนกฎหมายที่กว้าง หรือคลุมเครือมากเกินไป นอกจากจะส่งผลเสียต่อเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายแล้ว ยังทำให้เกิดช่องโหว่ในการนำกฎหมายไปใช้ในเรื่องเล็กน้อย ที่ไม่ตรงกับจุดมุ่งหมายของ พ.ร.บ.ควบคุมการใช้คอมพิวเตอร์ เช่น การฟ้องร้องกรณีเด็กทะเลาะกัน เพียงเพราะนำภาพของอีกฝ่ายไปโพสต์ในทางเสียหาย

หนุนอินเทอร์เน็ตระบบ “เปิด”
อย่างไรก็ตาม นายแคตซ์ ยืนยันว่า เขายังสนับสนุนแนวคิดการสร้างอินเทอร์เน็ตในระบบเปิด เพราะเป็นแนวคิดการสร้างสถาปัตยกรรมที่มีมาแต่ดั้งเดิม เนื่องจากเป็นระบบที่เอื้อต่อการสร้างนวัตกรรม และทำให้เกิดรูปแบบเศรษฐกิจใหม่ๆ

“การมี พ.ร.บ.เข้ามาทำให้รัฐมีอำนาจควบคุมอินเทอร์เน็ตมากขึ้น ซึ่งยังคงเป็นเรื่องโต้แย้งกันว่าขอบเขตของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต และเจ้าหน้าที่รัฐอยู่ที่ไหน อยากให้มองว่ากฎหมายไม่ใช่แค่จับคนผิด หรือเรียกร้องเสรีภาพบนอินเทอร์เน็ตเท่านั้น แต่ประเด็นคือ ระบบอินเทอร์เน็ตแบบเปิดทำให้เกิดนวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ใหม่ที่ช่วยเสริมสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจได้ดีกว่าอินเทอร์เน็ตในระบบปิด” นายแคตซ์กล่าว

เชื่อ “การเมือง” เบื้องหลังกฎหมาย
ขณะที่ นายทศพล ทรรศนกุลพันธ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เชื่อว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ของไทยถูกประกาศให้ใช้ช่วงที่การเมืองไทยมีปัญหา อาจส่งผลให้รัฐมีอำนาจควบคุมการใช้อินเทอร์เน็ตมากขึ้น

แม้ว่าปัจจุบันจะมีการใช้เครื่องมือใหม่ๆ เช่น โซเชียล เน็ตเวิร์ค เป็นช่องทางในการต่อสู้ทางการเมือง ซึ่งก็เป็นสิทธิของแต่ละคนที่สามารถทำได้ ตราบใดที่เนื้อหานั้นไม่ไปละเมิดผู้อื่น

เขาแนะว่า ทางออกที่น่าจะเป็นไปได้นอกจากการแก้กฎหมายแล้วคือ การจัดตั้งคณะกรรมการพิจารณากลาง เพื่อใช้อำนาจรัฐ ซึ่งอาจจะเป็นผู้ใช้อินเทอร์เน็ต เอ็นจีโอ หรือ คนของรัฐเข้ามาร่วมในการบังคับใช้กฎหมาย ไม่ใช่ยกอำนาจให้เจ้าหน้าที่รัฐเพียงไม่กี่คนในปัจจุบันเป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย

ไอซีทีหวัง “ทุกฝ่าย” ร่วมมือ
ด้าน นายธงชัย แสงศิริ ผู้อำนวยการศูนย์ตรวจสอบและวิเคราะห์การกระทำผิดทางเทคโนโลยีสารสนเทศ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เผยว่า หลังบังคับใช้ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวแล้ว 1 ปี กระทรวงไอซีทีก็ได้เริ่มสำรวจความคิดเห็น และผลตอบรับจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในมุมมองต่างๆ เพื่อนำมาปรับปรุงให้เหมาะสมกับการบังคับใช้มากขึ้น ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็วๆนี้

อย่างไรก็ตาม เขามองว่า กระทรวงไอซีทียังจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจาก ”ภาคเอกชน”และ "ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทุกคน" ด้วย เนื่องจากปัจจุบันกระทรวงไอซีทียังทำงานโดยใช้หลักกฎหมายเพียงอย่างเดียว ทำให้ผลลัพธ์ไม่เป็นไปในทิศทางที่ต้องการ

เครือข่ายพลเมืองเน็ตยื่นข้อเสนอ
ขณะที่เครือข่ายพลเมืองเน็ตได้ยื่นขอเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลักๆ 3 ด้าน คือ "เจ้าหน้าที่ควรพยายามจับกุมผู้กระทำผิด ไม่ใช่ตัวกลาง เช่น ผู้ให้บริการหรือเว็บ โฮสติ้งอย่างในปัจจุบัน"

นอกจากนี้ "เจ้าหน้าที่รัฐ สังคม และสื่อสารมวลชน จำเป็นต้องปฏิบัติกับผู้ต้องหาในฐานะผู้บริสุทธิ์" ตามสิทธิที่ได้รับรองตามรัฐธรรมนูญ รวมทั้ง "ผู้คนในสังคมควรมีทัศนคติต่อพื้นที่ออนไลน์ เกม และร้านอินเทอร์เน็ต ว่าเป็นกิจกรรม และพื้นที่ทั่วไปในสังคมซึ่งมีความปลอดภัยมากน้อยปะปนกันไป

ทั้งนี้ ทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการเสนอ และแก้ไขกฎหมายได้ผ่านเว็บ ilaw.or.th
ข้อมูลจาก นสพ.กรุงเทพธุรกิจ 28/7/52

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน