ร้านเน็ตเถื่อนเกือบ 60,000 แห่ง เสนอกระทรวงวัฒนธรรมออกกฎหมายลูก พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฯ

กรุงเทพฯ 24 มิ.ย.- ประธานคณะกรรมาธิการพัฒนาสังคมและกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา เผยยังพบร้านอินเทอร์เน็ตเกือบ 60,000 แห่ง ไม่มีใบอนุญาต และยังพบพระสงฆ์เล่นเกม ถึงเวลา 02.00 น. นั่งหลับคาคอมพิวเตอร์ เสนอกระทรวงวัฒนธรรมออกกฎหมายลูก พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฯ ด้าน “ธีระ”ลุยคลอดเรตติ้งเกม 7 ประเภท เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีเร็ว ๆ นี้

กระทรวงวัฒนธรรม จัดประชุมหารือ ร่วมกับคณะกรรมาธิการพัฒนาสังคมและกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา กรณีปัญหาการจัดระเบียบร้านเกมและโครงการร้านเกมสีขาว โดย นางยุวดี นิ่มสมบุญ ประธานคณะกรรมาธิการพัฒนาสังคมฯ กล่าวว่า ทางคณะกรรมการได้มาติดตามความคืบหน้ากรณีการผลักดันกฎกระทรวงตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 เนื่องจากได้พบปัญหาจากการลงพื้นที่ตรวจสอบร้านเกมในจังหวัดอุบลราชธานี หลายแห่งได้เปิดบริการร้านเกม แต่ไม่มีใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) เนื่องจากยังไม่มีกฎหมายรองรับ เพียงแต่มีการขึ้นทะเบียนรายชื่อขอใบอนุญาตไว้เท่านั้น  จึงเป็นการผ่อนผันให้เปิดไปก่อนได้รับใบอนุญาต  ขณะนี้มีร้านเกมทั่วประเทศกว่า 59,000 แห่ง มาขึ้นทะเบียนรอขอใบอนุญาต  แต่ยังไม่สามารถจดทะเบียนได้ และมีร้านเกมเพียง 2,000-3,000 แห่ง เท่านั้น  ที่สมัครใจเปิดเป็นร้านเกมสีขาว หากยังไม่มีการควบคุมจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ และน่าเป็นห่วงมาก

นางยุวดี กล่าวอีกว่า หากเป็นร้านเกมที่มีเจตนาดีที่จะเปิดบริการร้านเกมสีขาว เมื่อไม่มีใบอนุญาตจะถูกรีดไถจากเจ้าหน้าที่ ทำให้ท้อแท้ไม่อยากเปิดให้บริการต่อ  ส่วนร้านเกมที่มีเจตนาไม่ดีจะเป็นโอกาสกระทำความผิด  เช่น  ติดฟิลม์ทึบ เปิดให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เข้ามาเล่นอินเทอร์เน็ตหลังเวลา 22.00 น. หรือจัดโปรโมชั่นล่อใจเด็ก จากที่ทางการกำหนดไว้ให้เล่นคนละไม่เกิน 3 ชั่วโมง มีการจัดโปรโมชั่นเล่น 5 ชั่วโมง แถม 1 ชั่วโมง ซ้ำร้ายปล่อยให้พระเข้าไปเล่นอินเทอร์เน็ต จนถึงเวลา 02.00 น. จนหลับคาเครื่องคอมพิวเตอร์ เป็นต้น  จึงอยากให้ วธ. เร่งผลักดันกฎกระทรวงเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตเปิดร้านเกมให้เร็วที่สุด  เพื่อจัดระเบียบร้านเกมและควบคุมร้านเกมให้อยู่ในทิศทางที่ถูกต้อง  นอกจากนี้ ยังขอให้ วธ. ช่วยดูแลการนำเสนอเนื้อหาละครน้ำเน่า ภาพการข่มขืน ฆ่ากันทางสื่อมวลชนด้วย ในเมื่อมีการจัดทำเร็ตติ้งแล้ว ทำไมยังมีภาพที่รุนแรง ลามก ออกมาเผยแพร่ตามสื่อ ๆ ต่างอยู่

ด้านนายธีระ สลักเพชร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ทราบปัญหาที่เกิดขึ้นมาตลอด และเห็นความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ  เห็นได้จากวันแรกที่เข้ามารับตำแหน่งได้ลงนามในร่างกฎกระทรวง 5 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฯ และพยามผลักดันให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบโดยเร็วที่สุด  ส่วนความคืบหน้าการวิจัยอายุที่เหมาะสมของผู้เล่นเกม หรือเร็ตติ้งเกม  วธ.ได้สรุปเนื้อหาของเรตติ้งแล้ว อยู่ระหว่างสอบถามความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีในการพิจารณาถึงการปรับแก้ พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฯ  โดยจะให้มีการเพิ่มเรตติ้งเกมใน พ.ร.บ.ดังกล่าวเร็ว ๆ นี้


สำหรับเรตติ้งเกมมีทั้งหมด 7 เรต ประกอบด้วย 1. เกมที่เหมาะสมสำหรับผู้เล่นทุกวัย  2.เกมที่เหมาะสมสำหรับผู้เล่นอายุตั้งแต่ 3-5 ปี  3.เกมที่เหมาะสมสำหรับผู้เล่นอายุตั้งแต่ 6-12 ปี  4.เกมที่เหมาะสมสำหรับผู้เล่นอายุตั้งแต่ 13 ปีขึ้นไป  5. เกมที่เหมาะสมสำหรับผู้เล่นอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป  6.เกมที่เหมาะสมสำหรับผู้เล่นอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป  และ7.เกมที่ห้ามผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปีเล่น  ทั้งนี้ ตนเห็นว่า เมื่อมีเรตติ้งภาพยนตร์มีแล้ว ควรจะมีเรตติ้งเกมด้วย เพราะจะทำให้ลดขั้นตอนในการตรวจพิจารณาเกม และทำให้ผู้ปกครองทราบว่าเกมไหนเหมาะกับบุตรหลานของตนเองหรือไม่ .

- สำนักข่าวไทยอัพเดตเมื่อ 2009-06-24 17:38:55
ภาพประกอบจาก อินเทอร์เน็ต

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน