เครือข่ายผู้เสียหายจากอาคารสูง ยื่นร้องเรียนผู้ตรวจการแผ่นดิน เหตุเจ้าหน้าที่รัฐไม่บังคับใช้กฎหมาย และไม่ปฏิบัติตามหน้าที่
จากกรณีที่เมื่อปลายเดือนเมษายน เครือข่ายผู้เสียหายจากอาคารสูงเสนอให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) จัดการกับโครงการอาคารสูงที่ก่อสร้างขึ้นบริเวณชุมชนต่างๆ ในเขตกรุงเทพมหานครอย่างไม่ถูกต้องนั้น
วันที่ 19 มิถุนายน 2561 เวลา 10.00 น. ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ นำโดยนางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) พร้อมด้วยเครือข่ายผู้เสียหายจากอาคารสูงทั้ง 7 ชุมชน ในเขตกรุงเทพมหานคร ได้แก่ ชุมชนบ้านเจ้าพระยา (ซอยสมเด็จเจ้าพระยา 17) ชุมชนอนุรักษ์พญาไท กลุ่มชุมชนมหาดเล็กหลวง 1 - 2 กลุ่มชุมชนสุขุมวิท 28 - 30 กลุ่มชุมชมถนนส่วนบุคคลราชเทวี ชุมชน อารียา เมโทร ลาดปลาเค้า และชุมชนซอยร่วมฤดี เข้าพบนายสงัด ปัถวี รองเลขาธิการ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อยื่นหนังสือร้องเรียนกรณีขอให้ดำเนินการตรวจสอบการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องไม่บังคับใช้กฎหมาย ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
ภาพตัวแทนเครือข่ายผู้เสียหายจากอาคารสูง (จากซ้ายไปขวา) กลุ่มชุมชนบ้านเจ้าพระยา กลุ่มชุมนมหาดเล็กหลวง และชุมชนอนุรักษ์พญาไท
อีกทั้งยังหารือเพื่อหาแนวทางช่วยเหลือผู้บริโภคและสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้บริโภคที่ประสบปัญหาจากการก่อสร้างโครงการอาคารสูงต่างๆ ซึ่งเรื่องที่ต้องการร้องเรียน มีดังต่อไปนี้
1. พระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติมทุกฉบับ เรื่องประโยชน์การใช้ที่ดินไม่เป็นไปตามสัดส่วนที่กำหนด (FAR) ผิดข้อกำหนดว่าด้วยสัดส่วนพื้นที่ (OSR) ผิดข้อกำหนดว่าด้วยพื้นที่ชีวภาพ (BAF)
2. พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติมทุกฉบับ เรื่อง การทำผิดต่อระยะร่นของการก่อสร้างอาคาร สร้างอาคารขนาดใหญ่ ติดเขตทางสาธารณะที่แคบกว่าข้อกฎหมายกำหนด ปัญหาเกี่ยวกับการก่อสร้างอาคารไม่ตรงตามแบบที่ขออนุญาต เช่น สร้างอาคารสูงเกินเกณฑ์ที่ได้รับอนุญาตจริง ไม่สร้างทางรอบอาคารตามขนาดความกว้างที่กฎหมายกำหนด ไม่ทำพื้นที่ว่าง 30% ตามที่กฎหมายกำหนด ไม่จัดทำที่จอดรถตามที่กฎหมายกำหนด และการต่อใบอนุญาตไม่ชอบตามกระทรวง ฉบับที่ 57
3. ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องควบคุมอาคาร พ.ศ. 2544 เรื่อง การไม่จัดทำที่จอดรถตามจำนวนข้อที่ข้อบัญญัติกำหนด
4. พระราชบัญญัติตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติมทุกฉบับ เรื่อง ผู้บริหารบริษัทมหาชน ลงทุนในโครงการที่กระทำผิดกฎหมายตามข้อ 1 ถึง 3 ข้างต้น
5. พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติมทุกฉบับ เรื่อง คณะกรรมการชำนาญการพิเศษ ด้านสิ่งแวดล้อม ไม่พิจารณาการทักท้วง การร้องเรียนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ กระบวนการการทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนหรือชุมชนที่ได้รับผลกระทบ และคณะกรรมการฯ ใช้ข้อมูลเท็จในการพิจารณาอนุญาตโครงการ
ภาพนายสงัด ปัถวี รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน
ด้านนายสงัด ปัถวี กล่าวว่า สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินจะรับพิจารณาเรื่องร้องเรียน และจะจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว รวมทั้งในกรณีที่ชุมชนหรือคนใดมีปัญหาได้รับความเดือดร้อน หรือได้รับความไม่เป็นธรรมอันเนื่องมาจากหน่วยงานของรัฐไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ สามารถส่งคำร้องเข้ามาที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อให้ผู้ตรวจการแผ่นดินรายงานข้อเสนอแนะให้คณะรัฐมนตรีได้ทราบและรีบดำเนินการต่อไปโดยเร็ว
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ สภาผู้บริโภคเรื่อง ‘บทเรียนการใช้สิทธิของผู้บริโภคกับการจัดการปัญหาอาคารสูงผิดกฎหมาย’