จากกรณีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายภายในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ไปศึกษาถึงความเป็นไปได้ของการนำผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม (สปส.) เข้ามาร่วมโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เฉพาะสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพนั้น
ล่าสุด วานนี้ (9 มี.ค.)นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีการศึกษาอย่างชัดเจน แต่โดยหลักการไม่ใช่เรื่องยาก เนื่องจากเป็นการขยายจำนวนผู้ใช้บริการเพิ่มอีกราว 9.4 ล้านคน ซึ่ง สปสช.มีระบบรองรับทั้งการขึ้นทะเบียน ทั้งระบบการบริการ รวมทั้งการคำนวณงบประมาณอัตราค่าเหมาจ่ายรายหัว ซึ่งมีระบบในการคำนวณตามกลุ่มอายุ โดยในกลุ่มผู้ประกันตนจะอยู่ที่อายุราว 18-60 ปี ดังนั้น การดำเนินการจึงไม่ยุ่งยาก ขณะเดียวกันในด้านกฎหมายตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ก็ระบุชัดเจนในมาตรา 10 ให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติขายบริการสาธารณสุขให้ครอบคลุมสิทธิ สวัสดิการอื่นๆ เพื่อสิทธิประโยชน์ที่เท่าเทียม โดยหากมีความพร้อมก็สามารถดำเนินการได้ผ่านการประกาศเป็นพระราชกฤษฎีกา
“จาก พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทำให้สามารถขยายการครอบคลุมไปยังสิทธิสวัสดิการอื่นๆได้ในกรณีที่มีความ พร้อม แต่ที่ผ่านมาทุกๆ ปี ยังไม่มีความพร้อมในจุดนี้ จึงเลื่อนมาโดยตลอด ส่วนครั้งนี้ก็เป็นเพียงจุดเริ่มเท่านั้น ต้องรอผลการศึกษาก่อน” นพ.ประทีป กล่าว
ด้าน นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์สาธารสุข กล่าวถึงแนวทางในการโอนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม สังกัดสำนักงานประกันสังคม(สปส.) กระทรวงแรงงาน ให้เท่าเทียมกับสิทธิรักษาฟรี สังกัดสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ว่า แนวทางของการแก้ไขเรื่องนี้เป็นไปได้ โดยการแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ให้ปรับแก้โดยในส่วนของการรักษาพยาบาลให้เป็นสิทธิของบัตรรักษาฟรีดูแล ซึ่งหาก สปส.มีการโอนผู้ประกันตนที่มีอยู่ราว 9.4 ล้านคน ให้ สปสช.รับผิดชอบในเรื่องรักษาพยาบาล คาดว่า ต้องใช้งบประมาณราว 20,000 ล้านบาท ซึ่งไม่ได้มากมายเท่ากับงบประมาณที่รัฐบาลจ่ายให้สิทธิข้าราชการเลย และคิดว่าเรื่องนี้คงทำได้ไม่ยาก
นพ. พงศธร กล่าวต่อว่า หากไม่แก้กฎหมายประกันสังคม ก็เสนอว่า ให้แก้มาตรา 10 ใน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ ปี 2545 ที่ระบุว่า ระบบหลักประกันสุขภาพฯ ควรขยายสิทธิด้านการบริการสาธารณสุขไปยังระบบอื่นๆ ซึ่งก็หมายความว่า สปสช.ควรที่จะเปิดช่องทางให้ผู้ประกันตนมีสิทธิเท่าเทียม ผู้ที่อยู่ในระบบรักษาฟรี ทั้งนี้หากมีการปรับแก้คาดว่าจะเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกันตนสามารถเข้า รับการรักษาพยาบาลได้ทั้งในโรงพยาบาลสังกัดรัฐและเอกชน
ASTVผู้จัดการออนไลน์ | 10 มีนาคม |