ศ.เมธี ครองแก้ว กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" กรณีคณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2554 เห็นชอบมาตรการป้องกันการทุจริตห้ามไม่ให้ข้าราชการระดับสูง ตั้งแต่ระดับปลัดกระทรวงลงมาถึงระดับอธิบดี เป็นกรรมการ(บอร์ด) ในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจเกิน 3 แห่ง โดยให้นับรวมการเป็นกรรมการโดยตำแหน่งและการได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติราชการ แทนในตำแหน่งกรรมการด้วยว่า จุดประสงค์หลักของการเสนอเรื่องนี้ เพราะต้องการให้ ครม.ยืนยันมติ ครม.เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2523 ซึ่งห้ามไม่ให้ข้าราชการระดับสูงเป็นบอร์ดในรัฐวิสาหกิจเกิน 3 แห่งอยู่แล้ว แต่เนื่องจากปัจจุบันพบว่ามีการเลี่ยงบาลีแนวปฏิบัตินี้ ส่งผลให้เบียดบังเวลาการทำงานปกติของราชการ แทนที่จะใช้เวลาการทำงานในหน้าที่ของตนเองได้อย่างเต็มที่
นอกจากนี้ ต้องการให้ข้าราชการระดับเปลี่ยนแนวคิดใหม่เกี่ยวการเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจ แทนที่จะไปทำหน้าที่เป็นบอร์ดเสียเอง น่าจะมีทางออกอื่น เช่น ปลัดกระทรวงสามารถมอบอำนาจให้รองปลัดเป็นตัวแทนหน่วยงานได้ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ของรัฐในองค์กรตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 หมวดที่ 11 (องค์กรอิสระ ) อาทิ อัยการ หากเข้าไปนั่งเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจ เมื่อมีคดีความฟ้องร้องกับ ป.ป.ช. อัยการที่เป็นบอร์ดในรัฐวิสาหกิจนั้น ต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วย ซึ่งไม่เหมาะสมหากทนายของแผ่นดินต้องตกเป็นจำเลยเอง
ศ.เมธี กล่าวว่า ข้าราชการระดับสูงที่ไปนั่งเป็นบอร์ดในรัฐวิสาหกิจมีไม่กี่ตำแหน่ง เช่น ปลัดกระทรวงการคลัง ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เลขาธิการคณะรัฐมนตรี โดยบุคคลเหล่านี้เข้าไปตามตำแหน่ง ส่วนใหญ่ไม่ต่ำกว่า 10 แห่ง บางคนรับมากถึง 20 แห่ง ผลที่ตามมาคือกระทบต่อเวลาในงานหลัก ขณะเดียวกันบุคคลนั้นจะมีรายได้มากกว่าปกติ
" ข้าราชการระดับสูงที่เป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจจะได้ค่าตอบแทนเป็นเบี้ยประชุม และโบนัส แตกต่างกันไปแล้วแต่องค์กรและผลประกอบการ โดยเฉพาะเบี้ยประชุมมีความแตกต่างกันมากตั้งแต่ 200 - 50,000 บาท ซึ่งจะอ้างว่าหน่วยงานแห่งนั้นมีผลกำไรเป็นหลายหมื่นล้านบาท ควรให้ผลตอบแทนให้บอร์ดสูงด้วย ซึ่งป.ป.ช.ถือว่า การออกระเบียบให้ค่าตอบแทนสูงเกินไปเช่นนี้ เข้าข่ายการทุจริตเชิงนโยบายด้วย"
ขณะที่นางสาวรสนา โตสิตระกูล สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กรุงเทพมหานคร ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิ บาล วุฒิสภา กล่าวว่า ข้อห้ามข้าราชการระดับสูงเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจเกิน 3 แห่งดังกล่าว กฎหมายเดิมมีอยู่แล้ว แต่เนื่องจากในปี 2550 สมัยรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้มีการแก้ไข พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ 2 ฉบับ คือฉบับที่ 5 ให้ข้าราชการระดับสูง สามารถไปดำรงตำแหน่งในนิติบุคคลที่รัฐวิสาหกิจเป็นผู้ถือหุ้น ส่วนฉบับที่ 6 ให้ข้าราชการที่เป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจสามารถเข้าไปดำรงตำแหน่งเป็น ประธานกรรมการ กรรมการ หรือผู้บริหารในนิติบุคคลที่รับสัมปทาน ร่วมทุน หรือมีประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้องกับกิจการของรัฐวิสาหกิจนั้น เมื่อได้รับมอบหมายจากรัฐวิสาหกิจที่ตนเองเป็นกรรมการ
"การแก้ไข พ.ร.บ.ดังกล่าว เป็นการขัดต่อหลักธรรมาภิบาล เรื่องการแยกบทบาทหน้าที่ และการแยกบทบาทอำนาจอย่างร้ายแรง เนื่องจากข้าราชการที่เข้าไปเป็นผู้บริหาร หรือมีอำนาจจัดการในบริษัทผู้รับสัมปทานย่อมได้ผลประโยชน์ตอบแทนที่มีมูลค่า สูงในรูปเงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยประชุม และประโยชน์ที่มาจากผลกำไรทางธุรกิจ ซึ่งอาจนำไปสู่การครอบงำนโยบายของรัฐโดยธุรกิจเอกชนได้ และผลจากการแก้กฎหมายดังกล่าว เท่ากับเป็นการเปิดช่องให้กว้างมากขึ้น ในการที่จะให้ข้าราชการที่ถูกจำกัดโดยกฎหมายให้อยู่ได้แค่ไม่เกินบอร์ดรัฐ วิสาหกิจ 3 แห่ง ให้สามารถไปนั่งอยู่ในบริษัทลูก บริษัทร่วมทุน และบริษัทที่รับสัมปทาน หรือเป็นบริษัทที่เป็นผู้ค้า มีส่วนได้เสียกันได้ เรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญ" นางสาวรสนา กล่าว
ทั้งนี้นางสาวรสนายังได้กล่าวแสดงความคิดเห็นด้วยว่า สิ่งที่ป.ป.ช. ควรทำคือ การแก้กฎหมายในเรื่องนี้ให้ปิดช่องไม่ให้ข้าราชการเข้าไปนั่งในตำแหน่งของ กรรมการบริษัทลูกเหล่านี้ด้วย (อ่านบทสัมภาษณ์พิเศษหน้า 38)
อย่างไรก็ตามในมุมของข้าราชการระดับสูงอย่าง ดร.พรชัย รุจิประภา ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้ความเห็นว่า การที่ข้าราชการมีตำแหน่งในบอร์ดรัฐวิสาหกิจนั้น ทางหนึ่งเป็นเครื่องมือที่จำเป็นในการถ่ายทอดนโยบายจากภาครัฐไปสู่การบริหาร งานของรัฐวิสาหกิจ พร้อมทั้งควบคุมดูแลรักษาผลประโยชน์ของประเทศและประชาชน ซึ่งถือเป็นหน้าที่ที่จำเป็น และเชื่อว่าข้าราชการส่วนใหญ่ไม่ต้องการที่จะมีตำแหน่งในบอร์ดรัฐวิสาหกิจ เนื่องจากมีภาระที่ต้องรับผิดชอบสูง รัฐวิสาหกิจบางหน่วยงานก็มีปัญหามาก หากตัดสินใจผิดพลาดก็ต้องรับผิดชอบและมีโทษจำคุก จึงอยากให้เข้าใจบทบาทของข้าราชการที่มีตำแหน่งในบอร์ดรัฐวิสาหกิจในส่วนนี้ ด้วย
"ผมเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมระหว่างนโยบายรัฐกับการ บริหารงานของรัฐวิสาหกิจ ที่ผ่านมาการทำงานที่ กฟผ. รักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติไม่ให้รั่วไหลเป็นหมื่นล้านบาท และคอยพยุงไม่ให้ค่าเอฟทีสูงขึ้นจนเดือดร้อนผู้บริโภค ข้าราชการมีกฎระเบียบมีวินัยที่ต้องปฏิบัติ การนั่งในบอร์ดรัฐวิสาหกิจคือหน้าที่หนึ่งที่ต้องทำ และต้องใช้ความรับผิดชอบสูง"
ปัจจุบัน ดร.พรชัย มีตำแหน่งในคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ 3 แห่ง ได้แก่ 1.ประธานกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้รับเบี้ยประชุมเดือนละประมาณ 10,000 บาท และเงินโบนัสปีละ 300,000 บาท 2.ประธานกรรมการบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก ที่ กฟผ. เป็นผู้ถือหุ้น ได้รับเบี้ยประชุมเดือนละ 20,000 บาท และเงินโบนัสปีละประมาณ 1,000,000 บาท 3.ประธานกรรมการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ได้รับเบี้ยประชุมเดือนละ 10,000 บาท ไม่มีเงินโบนัส
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,608 10 - 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554