ตั้งหน่วยเคลียร์...นิวเคลียร์

ท่ามกลางสถานการณ์การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ปัญหาหนึ่งที่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ คือ การใช้พลังงาน ซึ่งถูกตั้งคำถามมาโดยตลอด

มีการวางแผนกันอย่างไร โรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะเป็นคำตอบหรือไม่


สำหรับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์กับประเทศไทยแล้ว มีการพูดกันมานาน แต่ไม่มีใครกล้าแตะของร้อนนี้ แต่ขณะนี้แนวทางการพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อยู่ในมือของ นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นที่เรียบร้อยแล้วตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม 2553 ที่ผ่านมา ซึ่งขั้นตอนต่อไปจะมีการเสนอในคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และนำเข้า ครม. ตามลำดับ


แผน PDP 2010 มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เข้าระบบรวม 5,000 เมกะวัตต์ ในปี 2563-2564 และ 2567-2568 และปี 2571 ตามลำดับ หรือปีละ 1,000 เมกะวัตต์ นั้น ใครเป็นผู้มีบทบาทกำหนด แล้วใครให้อำนาจ หน่วยงานราชการ และรัฐบาลมีอำนาจเต็มในการกำหนดโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่จะกระทบความเป็นอยู่ ของประชาชนได้จริงหรือ การเป็นตัวแทนประชาชน ทำแทนประชาชน บริการประชาชน เพื่อวัตถุประสงค์ในการพัฒนาเศรษฐกิจ และความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ เป็น "วาทกรรม" ที่ใช้อ้างให้ประชาชนยอมจำนนได้ตลอดกาลอีกต่อไป หรือไม่


ชั่งกันแล้วบทเรียนที่ชาวบ้านได้รับจริง และความไว้เนื้อเชื่อใจที่มีต่อรัฐซึ่งมีเหลือน้อยลงมาก น่าจะมีน้ำหนักมากกว่า


ต้องติดตามกันต่อไปว่า การต่อสู้ทางความคิดว่าด้วยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จะปรับให้เข้าหากันเป็นถนนสายเดียวกันหรือยังเป็นทางแยก


ตราบใดที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ถูกกำหนดในแผน PDP และเป็นตัวชี้วัดผลงานข้าราชการ ขณะที่งบประมาณที่จะตามเข้ามาเป็นจำนวนมากแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งฝ่ายการเมือง ราชการ และ เอกชน ต้องเดินหน้ากันอย่างสุดลิ่ม ทั้งทางตรงและทางอ้อม


ล่าสุด กระทรวงพลังงาน มีเครื่องมือใหม่ออกมา โดยตั้งสำนักงานใหม่ขึ้น เพื่อให้มีกลไกการปฏิบัติรองรับตามแผน เรียกว่า "สำนักงานประสานความร่วมมือกับภาคประชาสังคม" อยู่ภายใต้สำนักปลัดกระทรวงพลังงาน


คอนเซปต์หลัก คือ ให้หน่วยงานนี้ประสานความร่วมมือ และทำความเข้าใจกับประชาชน เรียกว่าเป็นกลไกในการเบิกทาง ก่อนที่กระทรวงพลังงานจะเปิดให้เอกชนเข้าบริหารจัดการโครงการ ทั้งโครงการโรงไฟฟ้าทุกประเภท รวมโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และสัมปทานปิโตรเลียม หากบอกว่าเป็นหน่วย "เคลียร์" อาจไม่ผิด


แน่นอนว่า หน้ากระดาษอาจบอกว่าเป็นหน่วยงานประสานงาน แต่การปฏิบัติจริงอาจประสานงา และถูกประเมินว่าเป็นทีมบู๊เต็มขั้น เพื่อหันหน้าสู้กับ "ประชาชน" แทนเอกชน หากผู้คิดโครงการพลังงานยังไม่ปรับความเข้าใจภายในใจตนเองก่อน ว่า การทำงานเชิงรุกนั้นมีคอนเซปต์แบบไหนกันแน่ รุกแบบปฏิวัติระบบราชการ และยอมเดินเท้าเปล่าถอดสูทพูดคุยกับชาวบ้านแบบพี่น้องร่วมชาติที่ทุกข์สุข ร่วมกัน หรือรุกแบบสู้รบปรบมือ


หากว่า รุกแบบแรก ข้อมูลที่ออกไปยังประชาชนก็ต้องพร้อมที่จะบอกถึงข้อเสียของโรงไฟฟ้า นิวเคลียร์อย่างรอบด้าน แต่หากรุกแบบหลัง ข้อมูลที่เผยแพร่ประชาชนก็จะเหมือนที่ผ่านๆ มา ที่เน้นข้อดีของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เช่น ต้นทุนต่ำ และ ช่วยลดปริมาณการปล่อย CO2 และ อ้อมแอ้มพูดข้อเสีย


หากมีการก่อกระแสต่อต้านก็เตรียมรอพบ "หน่วยเคลียร์" ได้เลย โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ถูกเล็งไว้แล้ว

ข้อมูลจาก นสพ.กรุงเทพธุรกิจ 24 ม.ค.54

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน