ปตท. เปิดสงคราม "แอลพีจี" หากอุ้มต่อเลิกลงทุน-ตะเพิดรัฐให้ไปเปิดปั๊มเอง

บิ๊กไฝ ปตท. เปิดศึกรถบ้านติด "แอลพีจี" เปิดเวทีเตือน รบ.ดันทุรังอุ้มระวังเจอปัญหาใหญ่ในอนาคต หวั่นกระแสรถดัดแปลงติด "แอลพีจี" ทะลักสวนทางรถติด "เอ็นจีวี" ส่งผลให้กองทุนน้ำมันแบกภาระไม่ไหว พร้อมยื่นโนติสขอขึ้นราคาแก๊ส กก.ละ 2 บาท เพราะขาดทุนปีละกว่าหมื่นล้าน ลั่นหากไม่ยอมให้ขึ้นราคา ปตท. เลิกแผนลงทุนแน่ พร้อมโยนให้รัฐไปเปิดปั๊มเอง

นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงนโยบายประชาวิวัฒน์ของรัฐบาลในการตรึงราคาแก๊สหุงต้ม (แอลพีจี) โดยมองว่าตอนนี้ปริมาณการใช้แก๊สแอลพีจีเพิ่มขึ้นมากจนต้องนำเข้าสูงถึงปีละ 1 ล้านตัน โดยใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอุดหนุนราคา

ส่วนการปรับโครงสร้างราคาแก๊สแอลพีจีในระยะสั้นคงยังไม่มีการขึ้น ราคา แต่ในระยะกลางและยาวควรขยับราคาบ้าง เพราะถ้าไม่ขยับขึ้นเลยจะทำให้ปั๊มแอลพีจีและจำนวนรถใช้ก๊าซแอลพีจีเพิ่ม ขึ้น ซึ่งหนีไม่พ้นที่กองทุนน้ำมันฯ ต้องรับภาระตรึงราคาต่อ

ทั้งนี้ รัฐบาลไทยตรึงราคาแก๊สแอลพีจีตั้งแต่สมัยราคาน้ำมันอยู่ที่ระดับ 20 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จนล่าสุดขึ้น 4-5 เท่าอยู่ที่ระดับ 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ไปแล้ว ยิ่งเป็นการจูงใจให้รถยนต์บ้านหันมาดัดแปลงใช้แก๊สแอลพีจีมากขึ้น

"ถ้ารัฐบาลยังปล่อยไว้แบบนี้ คาดว่าระยะกลางและระยะยาวแอลพีจีจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ ขณะเดียกวันหากรัฐไม่ขึ้นราคาแอลพีจีขนส่ง ก็ทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติ(เอ็นจีวี) ปรับขึ้นไม่ได้ เพราะทุกวันนี้ปตท.จำหน่ายอยู่ 8.50 บาทต่อกิโลกรัม (ก.ก.) ต่ำกว่าต้นทุนที่อยู่ในระดับ 14 บาท/ก.ก. ซึ่งแบกรับภาระขาดทุนปีละ 1 หมื่นล้านบาท ถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไปในปี 2555 คงจะลงทุนในเรื่องเอ็นจีวีต่อไปไม่ไหว ยิ่งขยายการลงทุนมากต้องรับภาระขาดทุนมากขึ้น ซึ่งรัฐควรพิจารณาว่าจะเข้ามารับผิดชอบตรงนี้อย่างไร หากจะให้มีการลงทุนต่อ"

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. ย้ำว่า หากปล่อยเอาไว้แบบนี้ อาจทำให้ปี 2555 ปตท.จะลงทุนไม่ไหว และคงต้องเป็นหน้าที่ของรัฐบาลต้องเข้ามารับภาระ เพราะก่อนหน้านี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) เคยมีมติขึ้นราคาเอ็นจีวีแบบขั้นบันได จนป่านนี้ยังไม่ได้ขึ้น จึงขอประชาสัมพันธ์ให้รู้ว่าราคาเอ็นจีวีต้องขยับขึ้นบ้าง

นายณัฐชาติ จารุจินดา รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลยุทธ์องค์กร ปตท. กล่าวเสริมว่า การตรึงราคาพลังงานและก๊าซแอลพีจี ทำให้ต้องนำเข้าแก๊สแอลพีจีในระดับสูงต่อไป จากปัจจุบันอยู่ที่เดือนละ 1.3 แสนตัน บางเดือนสูงถึง 1.5 แสนตันต่อเดือน ซึ่งในหลักการราคาพลังงานควรปรับสะท้อนต้นทุนแท้จริงบ้าง อย่างประเทศกลุ่มเศรษฐกิจชั้นนำ (จี20) มีมติให้ลดการอุดหนุนราคาพลังงาน จีนและอินโดนีเซียเริ่มประกาศลดการอุดหนุนเพราะไม่เป็นผลดีในระยะยาว ขณะที่ไทยยังอุดหนุนราคาพลังงานจนบิดเบือนโครงสร้าง

ดังนั้น การที่รัฐบาลตรึงราคาแก๊สแอลพีจีที่ระดับ 333 ดอลลาร์ต่อตัน ขณะที่ราคาในตลาดโลกอยู่ที่ 921 ดอลลาร์ต่อตัน หรือตรึงราคาภาคขนส่ง 18.13 บาทต่อลิตร หากไม่ปรับราคาในภาคขนส่งเลยจะทำให้การใช้แก๊สแอลพีจีในภาคขนส่งสูงขึ้น โดยปี 2553 การใช้แก๊สแอลพีจีในภาคขนส่งโต 13% ภาคครัวเรือนโตเพียง 2-3%

ล่าสุด ปตท.เสนอไปยังกระทรวงพลังงานว่า ราคาก๊าซเอ็นจีวีไม่ควรผูกติดกับราคาแก๊สแอลพีจี และควรขึ้นราคา 2 บาทต่อ ก.ก. จากปัจจุบันอยู่ที่ 8.50 บาทต่อ ก.ก. เพราะต้นทุนขณะนี้อยู่ที่ 14 บาทต่อ กก. และให้กองทุนน้ำมันฯ อุดหนุนอีก 2 บาทต่อ ก.ก. จนครบกำหนดมาตรการตรึงราคาในเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ซึ่ง ปตท.ได้หารือกับกลุ่มผู้ใช้แก๊สเอ็นจีวีกลุ่มต่างๆ แล้วก็เข้าใจเรื่องที่ ปตท.ขอขึ้นราคาเอ็นจีวีอีก 2 บาทต่อ ก.ก. เพื่อให้มีรายได้ลงทุนปั๊มเอ็นจีวีครอบคลุมมากขึ้น

นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงขอดูมติ ครม.เรื่องนโยบายประชาวิวัฒน์ก่อน ซึ่งแก๊สครัวเรือนและแก๊สรถยนต์ไม่ได้หมายความว่าหลังหมดเวลาการตรึงราคา ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2554 นี้แล้ว ราคาจะไม่ขยับขึ้น แต่ขึ้นหรือไม่ต้องดูความเหมาะสม และแก๊สเพื่ออุตสาหกรรมในช่วงการเปลี่ยนถ่ายเพื่อปรับราคาลอยตัวตามนโยบาย นายกรัฐมนตรีในเดือนกรกฎาคม 2554 นั้น กระทรวงพลังงานจะหารือผลกระทบกับภาคอุตสาหกรรม

ASTVผู้จัดการออนไลน์ 10 มกราคม 2554

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน