โฆษณาลวงโลก NGVพลังงานสะอาด จริงหรือ?

ปตท.โชว์อิทธิพลเหนือกระทรวงพลังงาน อ้างเหตุปรับคุณภาพได้สิทธิ์อัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงในก๊าซ NGV ถึง 18% เกินค่ามาตรฐานสากลถึง 6 เท่า ก่อมลพิษเพิ่มซ้ำถังก๊าซยังเสี่ยงกัดกร่อนกลายเป็น “คาร์บอม” เกลื่อนเมือง แฉปตท.ฟันรายได้จากค่าขาย “ก๊าซขยะ” ให้ปั๊มปีละพันกว่าล้าน แถมบีบงดจ่ายก๊าซ NGV ให้ถ้าไม่ลงทุนติดตั้งเครื่องเติมคาร์บอนฯ

การทุ่มงบโฆษณา NGV พลังงานสะอาด ของ ปตท.ที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง นับจาก ปตท. สามารถผลักดันให้รัฐบาลออกนโยบายสนับสนุนการใช้ก๊าซ NGV ซึ่งปตท.ผูกขาดแต่เพียงผู้เดียวเป็นผลสำเร็จ โฆษณาที่ทำทุกรูปแบบ นับชิ้นไม่ถ้วน ได้โน้มน้าวให้สังคมเชื่อโดยสนิทใจว่า “NGV พลังงานสะอาด” ยากจะหาก๊าซใดเท่าเทียม ยิ่งก๊าซ LPG ด้วยแล้ว หากนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงรถยนต์ นั่นทั้งสกปรก ทั้งเป็นผู้ร้ายไม่รู้จักใช้ก๊าซให้ถูกประเภท

ยิ่งถ้าเคลิบเคลิ้มไปตามคำโฆษณาโครงการ “ลดโลกร้อน ถวายพ่อ” ของกระทรวงพลังงาน ที่รวมเอากิจกรรมมากมายหลายหลากของ 11 หน่วยงานด้านพลังงาน รวม 22 โครงการ โดยตั้งเป้าหมายลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ให้ได้ 207,759 ตันต่อปี จะมีใครเชื่อว่า กระทรวงพลังงาน นี่แหละคือผู้ออกประกาศอนุญาตให้ ปตท.สามารถเติมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ลงในก๊าซ NGVได้ถึง 18% เกินกว่าประเทศที่ศิวิไลซ์แล้วเขาเติมกันอยู่ที่ 3% เท่านั้น

หาก คิดตัวเลขง่ายๆ NGV ที่ใช้กันอยู่ประมาณปีละ 1,450,000 ตันต่อปี (ข้อมูลจากรายงานสถานการณ์พลังงานในประเทศ ปี 2552 ของกระทรวงพลังงาน) เมื่อเติมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ลงไป 18% ก็เท่ากับ 261,000 ตันต่อปี มากกว่าเป้าหมายลดคาร์บอนฯ ในโครงการ “ลดโลกร้อน ถวายพ่อ” ของกระทรวงพลังงานเสียอีก

คำโฆษณา ของ ปตท. และกระทรวงพลังงาน ที่ว่า “นับจากปี 2527 ที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้เริ่มศึกษาและทดลองนำ NGV มาใช้ในรถยนต์ เนื่องจากพิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นเชื้อเพลิงที่มีการเผาไหม้ได้อย่างสมบูรณ์ และปล่อยมลพิษสู่บรรยากาศต่ำสุด เมื่อเปรียบเทียบกับการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงอื่น” กระทั่งนำมาสู่วลีเด็ด “NGV พลังงานสะอาด” จะยังเชื่อถือได้และเป็นจริงหรือไม่ ??

ความ สับสนนโยบายและการกระทำที่สวนทางกับคำโฆษณา กลายเป็นข้อสงสัยทำไมทั้งกระทรวงพลังงาน และ ปตท.เจ้าของรางวัลเกียรติยศ “ธรรมาภิบาลดีเด่น” ในทุกด้าน ถึงได้โฆษณาลวงโลก โกหกคำโต ได้ขนาดนี้ ?

การติดตามตรวจสอบธรรมาภิบาลในกิจการพลังงาน ของคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ที่มีนางรสนา โตสิตระกูล เป็นประธาน ซึ่งจัดงานเสวนาเรื่อง “ก๊าซเอ็นจีวี พลังงานสะอาด จริงหรือ?” ที่ รัฐสภา เมื่อเร็วๆ นี้ ได้ฉายภาพให้เห็นถึงอิทธิพลของ ปตท. ที่มีอำนาจเหนือกระทรวงพลังงาน การตัดสินใจใดๆ ของหน่วยงานรัฐแห่งนี้ จึงถูกตั้งคำถามว่าอยู่บนพื้นฐานที่เอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทธุรกิจพลังงาน ยักษ์ใหญ่อันดับหนึ่งยิ่งกว่าการรักษาชีวิต สิ่งแวดล้อม และประโยชน์ของประชาชน

หากไม่ใช่คนในวงการที่ติดตามเรื่องก๊าซ NGV อย่างใกล้ชิด จะไม่รู้เลยว่า เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2552 นายเมตตา บันเทิงสุข อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน ได้ออกประกาศกรมธุรกิจพลังงาน เรื่อง กำหนดลักษณะและคุณภาพของก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ พ.ศ. 2552ที่กำหนดให้มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ในก๊าซ NGV ได้ไม่เกินกว่าร้อยละ 18

เหตุผลในการออกประกาศดังกล่าวตัวแทนกรมธุรกิจพลังงาน ชี้แจงในงานเสวนาว่า เพื่อควบคุมคุณภาพก๊าซให้มีความเสถียร ไม่ให้แกว่งจากการเติมก๊าซต่างปั๊ม เพราะก๊าซมาจากหลายแหล่งคุณภาพไม่เท่ากันต้องปรับคุณภาพ จึงตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาและได้ข้อสรุปจนนำไปสู่การออกประกาศว่า ให้เติมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 18% ออกมาก่อนในระยะแรก ซึ่งต่อไปกรมธุรกิจพลังงาน จะกำหนดให้อยู่ในอยู่ในมาตรฐานสากลคือ 3% แต่ต้องมีระยะเวลาเตรียมการเนื่องจาก ปตท. มีข้อจำกัดในทางปฏิบัติ

การอ้างเหตุผลเช่นนี้ กรมธุรกิจพลังงาน จึงถูกผู้เข้าร่วมเสวนาต้อนเข้ามุมตั้งคำถามทันทีว่า ถ้าอย่างนั้นหมายความว่า ทั้งรัฐบาลและปตท.รณรงค์ให้ให้ก๊าซ NGV โดยที่ผู้ใช้ต้องทนรับสภาพคุณภาพก๊าซไม่คงที่ ปตท.จะขายอะไรก็ขาย ช่างเครื่องยนต์ก็จูนไปเรื่อย เครื่องยนต์ติดๆ ดับๆ กระทั่งต้องออกประกาศให้เติมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ลงไปในก๊าซ NGV เพื่อเพิ่มค่าความร้อนมาแก้ไขปัญหา การออกประกาศนี่แท้จริงแล้วก็เพื่อเอาใจ ปตท.ทำให้ ปตท.ขายก๊าซได้ การตัดสินใจเรื่องนี้ไม่ได้ถามผู้ใช้ ไม่ฟังผู้บริโภคเลย อย่างนี้สมควรยุบกระทรวงพลังงาน ตั้งกระทรวง ปตท. ไปเลย ดีไหม ?

“การ ประชุมของคณะทำงานที่บอกว่ามีนักวิชาการจากจุฬาฯ อยู่ด้วย พิจารณาหารือกันอย่างไรถึงออกประกาศมาแบบนี้ ทำไมเอาของดีๆ ไปเติมขยะเข้าไป กรมธุรกิจพลังงาน ร่วมมือกับ ปตท. เติมก๊าซขยะเข้าไปให้ประชาชนใช้” นายวิโรจน์ วงศ์ธีเรส เลขาธิการสมาคมกิจการรถโดยสารประจำทางไทย ตั้งคำถาม

นอกจากนั้นแล้ว ระยะเวลาเตรียมการก่อนจะไปถึงการกำหนดให้อยู่ในมาตรฐานสากล คือ 3% จะใช้เวลาอีกนานแค่ไหน หากไม่มีการตั้งคำถามกับประกาศฉบับนี้ กระทรวงพลังงานจะหยิบยกเรื่องนี้มาพิจารณา ทบทวนใหม่หรือไม่ ?

คาร์บอน ไดออกไซด์ หรือ “ก๊าซขยะ” ที่ ปตท. เติมลงไป ไม่ใช่ของฟรี งานนี้ ปตท. เอาก๊าซคาร์บอนฯ ของเสียจากกระบวนการผลิตก๊าซธรรมชาติมาขายให้ปั๊มได้ตังค์ถึงกิโลกรัมละ 5 บาท แล้วปั๊มนำมาขายต่อให้ผู้ใช้ในราคากิโลกรัมละ 8.50 บาท หากคิดคำนวนจากตัวเลขการเติมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 18% จำนวน 261,000 ตันต่อปี คิดเป็นเม็ดเงินเข้ากระเป๋า ปตท. ตกประมาณ 1,000 กว่า ล้านบาทต่อปี

ไม่เพียงเท่านั้น ปั๊มยังต้องเป็นผู้ลงทุนติดตั้งเครื่องเติมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ในราคาประมาณ 5 ล้านบาทด้วย หากไม่ติดตั้ง ปตท. ก็จะงดจ่ายก๊าซให้ปั๊มที่ “ไม่มีความพร้อม”

“ประกาศของกรมธุรกิจพลังงานทำให้เกิดปัญหาขึ้นแล้ว ตอนนี้มีปั๊มที่ปตท.ลงทุนแต่ให้เอกชนบริหาร 30 ปั๊ม และปั๊มที่เอกชนลงทุนเองประมาณ 40 ปั๊ม เดือดร้อน ต้องปิดเพราะยังไม่ลงทุนติดตั้งเครื่องเติมคาร์บอนฯ” เลขาธิการสมาคมกิจการรถโดยสารประจำทางไทย ให้ข้อมูลเพิ่มเติม

การอนุญาตให้เติมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณที่มากเกินค่ามาตรฐาน สากล เพื่อธุรกิจก๊าซของปตท.ไม่เพียงแต่ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม เพิ่มโลกร้อน สร้างความเดือดร้อนแก่ปั๊มก๊าซเท่านั้น แต่ยังได้สร้างความกังวลอย่างใหญ่หลวงในเรื่องความปลอดภัยต่อชีวิตและ ทรัพย์สินของประชาชนโดยทั่วไปอีกด้วย

ชุม พล สายเชื้อ ผู้แทนจากสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ชี้ว่า ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ คือส่วนประกอบหนึ่งของก๊าซ NGV หากปริมาณสัดส่วนของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มีปริมาณมากในถังเมื่อกระทบกับน้ำในถังอาจทำให้ถึงเกิดการกัดกร่อนได้

ถึงประเด็นนี้ จึงเกิดคำถามและข้อกังวลว่า การกัดกร่อนกี่ปีที่จะทำให้ถังไม่สามารถใช้งานได้ นี่หมายความว่าเรามี “คาร์บอม” ทั้งรถขนส่ง รถยนต์ส่วนตัว วิ่งอยู่ทั่วประเทศ จะเกิดโศกนาฏกรรมขึ้นเมื่อไหร่ไม่มีใครรู้??

อิฐบูรณ์ อ้นวงษา อนุกรรมาธิการสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา แสดงความเป็นห่วงว่า ถังก๊าซที่ใช้ในประเทศไทยส่วนใหญ่ถูกนำเข้าและใช้มาตรฐานสากลที่ให้มีก๊าซ คาร์บอนไดออกไซด์ได้ไม่เกิน 3% จึงน่าห่วงว่าเมื่อเวลาผ่านไปประสิทธิภาพและการกัดกร่อนของถังและอุปกรณ์ชุด ดัดแปลงเสริมอื่นๆ จะมีการเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น จะมีผลต่อประสิทธิภาพของรถยนต์ มีผลต่อความปลอดภัยในการขนส่งหรือใช้งานหรือไม่

นอกจากนั้น ประกาศของกรมธุรกิจพลังงาน ยังเป็นการฟอกความผิดให้กับธุรกิจพลังงานและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ในฐานะที่เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษสำคัญที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ สู่บรรยากาศโลก ใช่หรือไม่ ?

ใน มุมของผู้บริโภค การเติมก๊าซคาร์บอนฯ ลงใน NGV ทั้งๆ ที่ผู้บริโภคไม่ได้ต้องการที่จะจ่ายเงินเพื่อซื้อ “ก๊าซขยะ” นี้เลย ยังถือว่าเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคอีกด้วย

เมื่อเจอการตั้งคำถามและข้อสงสัยมากมาย นายปุณณชัย ฟูตระกูล ตัวแทนจาก ปตท. ได้ ชี้แจงว่า เนื่องจากก๊าซธรรมชาติจากหลุมต่างๆ ที่นำมาผลิต NGV มีคุณภาพไม่เท่ากัน แต่เดิมก็นำมาใช้เลยโดยไม่มีมาตรฐานทำให้รถที่เติม NGV ในแต่ละพื้นที่มีปัญหาเพราะค่าความร้อนของก๊าซแต่ละแหล่งไม่เท่ากัน จึงตัดสินใจเติมก๊าซคาร์บอนฯ ใน NGVเพื่อปรับคุณภาพของก๊าซให้มีความคงที่ไม่ว่าจะเติมจากปั๊มในพื้นที่ไหนก็ ตาม

ตัวแทนของ ปตท. ยังยืนยันว่าถังก๊าซที่นำมาใช้ได้มาตรฐานอุตสาหกรรม และก๊าซ NGV ที่นำมาใช้เป็นก๊าซแห้ง ไม่มีน้ำไปทำปฏิกิริยาต่อการกัดกร่อนของถัง อีกทั้งก๊าซแห้งไม่ได้กำหนดค่าคาร์บอนฯ การเติมคาร์บอนฯ 18% ลงใน NGVจึงไม่มีปัญหา และรถที่ใช้เชื้อเพลิง NGV มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ออกมาน้อยกว่ารถที่ใช้น้ำมัน

ส่วนประเด็นราคาขายก๊าซคาร์บอนฯ ที่ปตท.ฟันกิโลกรัมละ 5 บาทจากปั๊มนั้น ก็เพราะว่าปตท.ต้องมีค่าการลงทุน

ยศพงษ์ ลออนวล หนึ่งในคณะนักวิจัยจากภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้ ตอบข้อสงสัยในประเด็นการกัดกร่อนของถังก๊าซ NGV ในฐานะที่เป็นผู้วิจัยในเรื่องนี้ว่า หากก๊าซที่อัดลงถังเป็นก๊าซแห้งไม่น่ากังวลว่าจะไปทำปฏิกิริยากับน้ำทำให้ เกิดการกัดกร่อน เรื่องนี้ต้องเอาข้อมูลทางเทคนิคมาพูดคุยกัน และถังก๊าซที่ใช้ต้องมีการตรวจสอบสภาพเป็นประจำ ซึ่งจะช่วยตอบข้อกังวลในเรื่องนี้

หลังการเสวนา แลกเปลี่ยน อย่างเข้มข้น ประธานคณะกรรมาธิการฯ ได้สรุปว่า อยากให้กระทรวงพลังงานไปทบทวนประกาศที่ออกมานี้ใหม่ และควรกำหนดมาตรฐานที่สูงขึ้นเพื่อคนส่วนใหญ่ เพราะการออกมาตรฐานอิงตามผู้ประกอบการมีแต่จะทำให้เกิดคำถามจากสังคม ส่วนเรื่องการกัดกร่อนของถังและการอัดก๊าซแห้งที่ว่าไม่ต้องกำหนดค่า คาร์บอนฯ ที่เติมลงไปก็ต้องมีคำตอบให้ชัดเจนว่าจริงหรือไม่

อย่างไรก็ตาม เรื่อง นี้เห็นได้ชัดว่ากระทรวงพลังงานมีความสับสนในนโยบาย คือ ด้านหนึ่งเชิญชวนให้ประชาชนใช้ NGV แต่อีกด้านหนึ่งกลับผลักภาระทุกอย่างมาให้ผู้ใช้ อีกทั้งราคาก๊าซซึ่ง ปตท.ผูกขาดแต่เจ้าเดียวมีแนวโน้มสูงขึ้น รวมถึงอุปกรณ์ต่างๆ ที่จำเป็น

ที่ สำคัญ การสร้างโรงแยกก๊าซฯ เพื่อแก้ปัญหาให้ค่าความร้อนมีความเสถียร ปตท.กลับไม่ลงทุน เพราะรัฐบาลยังไม่ประกาศลอยตัวราคา LPG ตามราคาตลาดโลกตามที่ ปตท.ต้องการ

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 11 สิงหาคม 2553

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน