ASTVผู้จัดการรายวัน – สำรวจเก้าอี้ “บิ๊กไฝ” ประเสริฐ บุญสัมพันธ์ พนักงานเอกชนที่เป็น“เจ้าพนักงานของรัฐ” ถ่างขานั่งควบตำแหน่งบริษัทในเครือ ปตท. ถึง 6 บริษัท ฟันค่าตอบแทนกระเป๋าตุงปีละ 22 ล้าน
การอาศัยช่องกฎหมายกลายร่างรัฐวิสาหกิจเป็นบริษัทเอกชนแบบซ่อนรูปของ ปตท. เปิดโอกาสให้องค์กรแห่งนี้อาศัยอภิสิทธิ์ความเป็นรัฐวิสาหกิจแม้กระทั่งการ เข้าไปนั่งกินตำแหน่งบริษัทในเครือที่มีส่วนได้เสีย หรือมีผลประโยชน์ทับซ้อนกัน
จากการตรวจสอบของคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ระบุว่า ถึงแม้การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) จะแปลงสภาพเป็น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตั้งแต่ปลายปี 2544 แต่การที่กระทรวงการคลัง ถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 50 ซึ่งปัจจุบันถืออยู่ร้อยละ 51.69 ทำให้ ปตท. มีสถานะเป็น “รัฐวิสาหกิจ” ตามคำนิยามของกฎหมายหลายฉบับ
เช่น พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502, พระราชบัญญัติ คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงาน พ.ศ. 2518 พระราชบัญญัติพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2521 พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 และพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 ตามนิยามของกฎหมายดังกล่าว ทำให้เจ้าพนักงานของรัฐ สามารถเข้าไปเป็นกรรมการใน ปตท. และผู้บริหารของ ปตท. เข้าไปนั่งเป็นกรรมการบริษัทในเครือซึ่งเป็นบริษัทเอกชนได้
การ ศึกษาของคณะกรรมาธิการฯ พบว่า มีข้าราชการระดับสูงที่มีหน้าที่กำกับดูแลหรือเกี่ยวข้องกับนโยบายด้าน พลังงานหลายคนเข้าไปเป็นกรรมการบริษัทในเครือของ ปตท. หรือบริษัทในเครือของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยที่บริษัทเหล่านี้เป็นบริษัทเอกชนที่รัฐหรือรัฐวิสาหกิจอย่าง ปตท. หรือ กฟผ. ถือหุ้นไม่ถึงร้อยละ 50
ทั้งนี้ เนื่องจากมีการเอื้อประโยชน์กันด้วยการแก้ไขกฎหมายคือ พระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2550 โดยกำหนดข้อยกเว้นไว้ว่า กรรมการของรัฐวิสาหกิจ สามารถที่จะเป็นประธานกรรมการ กรรมการ หรือผู้บริหารของบริษัทที่รัฐวิสาหกิจมีหุ้นอยู่ด้วยได้หากรัฐวิสาหกิจนั้น ได้มอบหมายให้ไปดำรงตำแหน่ง
ด้วย ข้อยกเว้นดังกล่าว ทำให้ข้าราชการระดับสูงที่เป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจอย่าง ปตท. หรือ กฟผ. และมีบทบาทเกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบายด้านพลังงาน เข้าไปเป็นกรรมการและรับผลประโยชน์ตอบแทนจากบริษัทเอกชนหลายราย ก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ระหว่างรัฐกับเอกชนและปัญหาธรรมาภิบาล อย่างร้ายแรง
ในกรณีของ ปตท. นั้น ปตท. มีบริษัทในกลุ่มที่ไปลงทุนและถือหุ้น 45 บริษัท โดยเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ 7 บริษัท ซึ่งโดยปกติที่ผ่านมา กำไรสุทธิของ ปตท.ในปัจจุบันมาจากบริษัทในกลุ่ม ปตท.ที่ ปตท. ถือหุ้นประมาณร้อยละ 60 ดังนั้น การที่กรรมการหรือผู้บริหารจะดำรงตำแหน่งกรรมการเกิน 5 บริษัท จึงมีโอกาสสูง
นอกจากนั้นแล้ว ปตท. ยังถือว่าเป็นหน้าที่ของกรรมการและผู้บริหาร และเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติงานที่จะต้องเข้าไปเป็นกรรมการในบริษัทใน กลุ่ม ปตท. เพื่อกำกับดูแลให้บริษัทดังกล่าวกำหนดนโยบายและดำเนินธุรกิจที่สอดคล้องกับ นโยบายของ ปตท. เพื่อให้เกิดประโยชน์และสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม
ด้วย นโยบายดังกล่าวทำให้เจ้าพนักงานระดับสูง มีรายได้เกิดขึ้นจากการเป็นกรรมการบริษัทหลายแห่งอย่างสูง ยกตัวอย่างเช่น กรณีของนายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่เข้าไปดำรงตำแหน่งกรรมการในบริษัทในเครือ ปตท. หลายบริษัท โดยได้รับผลตอบแทนโดยรวมเมื่อปี 2551 ที่ผ่านมา รวมประมาณ 22 ล้านบาท ไม่นับผลประโยชน์การถือหุ้นอีกต่างหาก
////////////
ตารางแสดงตัวอย่างพนักงานเอกชนที่เป็นเจ้าพนักงานของรัฐในธุรกิจพลังงาน
นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์
บทบาทภาคธุรกิจ ผลตอบแทนเฉพาะจากการเป็นกรรมการในบริษัทต่าง ๆ ในปี 2551 (บาท)
ค่าตอบแทนรายเดือน/เบี้ยประชุม เงินโบนัส รวม
กรรมการและเลขานุการ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) 620,000 1,786,880 2,406,880
กรรมการ บริษัท ปตท. เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (PTTCH) 480,000 3,800,534 4,280,534
กรรมการ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (PTTEP) 990,625 2,219,264 3,209,889
กรรมการ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) (TOP) 1,020,000 3,859,778 4,879,778
กรรมการ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (IRPC) 1,530,000 3,681,723 5,211,723
กรรมการ บริษัท ปตท.อะโรเมติกส์และการกลั่น จำกัด (มหาชน) (PTTAR) 700,000 2,010,237 2,710,237
รวม 5,340,625 17,358,417 22,699,042
ที่มา : รายงานประจำปีของ บมจ.ปตท., PTTCH, PTTEP, TOP, IRPC, PTTAR พ.ศ.2551
////////////////////////
นอร์เวย์ ทำกำไรมากกว่า จ่ายค่าตอบแทนน้อยกว่า
ASTVผู้ จัดการรายวัน - นักวิชาการยกผลศึกษาเปรียบเทียบบริษัทพลังงานแห่งชาติของนอร์เวย์ จ่ายค่าตอบแทนให้คณะกรรมการน้อยกว่า ปตท. เท่าตัว ขณะที่มียอดขายมากกว่าปตท.2 เท่าและกำไรมากกว่าถึง 3 เท่า ชี้การให้โบนัสเชื่อมโยงผลกำไรบริษัทไม่มีประเทศไหนในโลกทำกัน เพราะจะทำให้เกิดการตัดสินใจเพื่อประโยชน์ของตัวเอง
รศ.ดร.ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์ สถาบันวิจัยสังคมและเศรษฐกิจ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต ได้ให้ข้อสังเกตว่า เมื่อเปรียบเทียบค่าตอบแทนของคณะกรรมการ ปตท. กับ คณะกรรมการบริษัทสแตทออยล์ ไฮโดร ซึ่งเป็นบริษัทพลังงานแห่งชาติของประเทศนอร์เวย์ พบว่า กรรมการของบริษัทสแตทออยล์ฯ ได้รับค่าตอบแทนต่อคนต่อปีน้อยกว่ากรรมการ ปตท. ร่วม 1 ล้านบาท
ในขณะที่บริษัทพลังงานแห่งชาติของนอร์เวย์แห่งนี้มียอดขายมากกว่า ปตท. 2 เท่า สามารถทำกำไรมากกว่า ปตท. 3 เท่า โดยที่มีกรรมการน้อยกว่าแต่ประชุมมากกว่า และค่าครองชีพของประเทศนอรเวย์สูงกว่าประเทศไทย จึงถือว่าการจัดค่าตอบแทนของ ปตท. ให้กับกรรมการนั้นมีอัตราที่สูงเป็นพิเศษและโครงสร้างค่าตอบแทนที่มีทั้ง เงินรายเดือน เบี้ยประชุม และเงินโบนัสที่สะท้อนและเชื่อมโยงกับผลกำไรของบริษัทนั้น จะส่งผลให้เจ้าพนักงานของรัฐที่เข้าไปเป็นกรรมการอาจหลงลืมบทบาทหน้าที่ใน ความเป็นเจ้าพนักงานของรัฐได้ ในขณะที่กรรมการของบริษัทพลังงานแห่งชาติในหลายประเทศได้รับค่าตอบแทนอย่าง ใดอย่างหนึ่งเท่านั้น
เช่น หากบริษัทต้องการให้กรรมการเข้ามาช่วยกำกับดูแลกิจการอย่างใกล้ชิดก็จะจัด เบี้ยประชุมให้ในอัตราที่สูง โดยได้รับค่าตอบแทนรายเดือนในอัตราที่น้อยหรือไม่ได้เลย แต่หากบริษัทไม่ต้องการให้กรรมการเข้ามามีบทบาทร่วมตัดสินใจในกิจการของ บริษัทมากจนเกินไป จะใช้วิธีให้ค่าตอบแทนรายเดือนในอัตราที่สูงและลดค่าเบี้ยประชุมให้น้อยลง แต่ทุกแห่งจะไม่มีการให้ผลตอบแทนที่เป็นโบนัสที่เชื่อมโยงกับผลกำไรของ บริษัทโดยเด็ดขาด เพื่อป้องกันมิให้กรรมการดำเนินการตัดสินใจใด ๆ เพื่อประโยชน์ของตัวเองเป็นสำคัญ
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 17 กรกฎาคม 2552 16:17 น.
ข่าวเชิงวิเคราะห์ “ธรรมาภิบาลระบบพลังงานไทย” (4) โดย ….. ทีมข่าวพิเศษ
http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9520000081002