ปตท.ขายเพิ่มหุ้นกู้ 5 พันล้าน น้ำมันดันไตรมาส 2 กำไรโต

ปตท.เตรียมเปิดขายหุ้นกู้เพิ่มเติมอีก 5,000 ล้านบาท หลังจากมีความต้องการจากกลุ่มสถาบันการเงินล้น พร้อมศึกษารายละเอียดร่วมมือกับบริษัทในเครือเพิ่มเติม เพื่อลดค่าใช้จ่าย ส่วนผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 2 ปี 2552 แย้มออกมาดีกว่าไตรมาสแรก อานิสงส์ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น

นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. (PTT) ผู้ประกอบกิจการพลังงานรายใหญ่ของไทย กล่าวว่า บริษัทมีแผนที่จะขายหุ้นกู้เพิ่มเติมในส่วนของหุ้นกู้ส่วนเกิน (กรีนชู) อีก 5,000 ล้านบาท จากที่ได้ออกจำหน่ายล็อตแรก 3 หมื่นล้านบาท เนื่องจากมีความต้องการเข้ามาสูง โดยเฉพาะสถาบันต่างๆ ที่ต้องการหุ้นกู้อายุ 15 ปีจำนวนมาก และประชาชนทั่วไป ต้องการหุ้นกู้ อายุ 3 ปี 7 ปี

ทั้งนี้ ปตท.ได้เปิดขายหุ้นกู้วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท ระหว่างวันที่ 27-30 ก.ค.นี้ โดยแบ่งเป็น 3 ชุด มีอายุ 3 ปี, 7 ปี และ 15 ปี ซึ่งเม็ดเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ ปตท.จะนำไปชำระคืนหนี้บางส่วน และใช้ในการลงทุนตามโครงการที่มีอยู่ ขณะที่ ปตท.ยังมีความต้องการใช้เงินมากกว่าแผนการก่อหนี้ในปีนี้ที่ 6.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งอาจจะมีการขอวงเงินเพิ่มได้ แต่ต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมด้วย

ขณะเดียวกัน บริษัท ปตท. ก็ไม่ปิดโอกาสที่จะลงทุนโครงการต่างๆ เพิ่มเติม ซึ่งจะทำให้มีความต้องการใช้วงเงินเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของธุรกิจก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี) ที่ ปตท.อยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียด เพื่อหาทางเพิ่มกลุ่มลูกค้า โดยเฉพาะในโรงงานอุตสาหกรรม และโรงไฟฟ้าต่างๆ เพื่อทำให้เกิดความคุ้มค่าในการลงทุนท่อส่งก๊าซฯสายเหนือ และอีสาน วงเงิน 50,000 ล้านบาทตามที่กระทรวงพลังงานนำเสนอ

อย่างไรก็ตาม หากมีกลุ่มลูกค้ามากพอ ทางปตท.ก็พร้อมจะเดินหน้าลงทุนต่อไปหลังจากที่หยุดการลงทุนมาก่อนหน้านี้ โดยคาดว่าต้องใช้เวลาในการศึกษารายละเอียด และจัดทำขั้นตอนการรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) 1-2 ปี

"การที่ ปตท.มีการลงทุนและมีภาระขาดทุนสะสมจากเนื้อก๊าซเอ็นจีวี กว่า 30,000 ล้านบาท ไม่ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของ ปตท. เพราะปริมาณการขายยังมีไม่มากนัก แต่หากต้องขยายการลงทุนเพิ่มเติมมากกว่านี้ ขณะที่กลุ่มลูกค้ามีไม่มากนัก ทาง ปตท.ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบก่อน ขณะเดียวกันก็ต้องนำเสนอภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นทั้งหมดต่อกระทรวงพลังงาน เพื่อยืนยันว่าราคาต้นทุนเอ็นจีวีจริงอยู่ที่ 14 บาทต่อกก. เศษ" นายประเสริฐ กล่าว

ส่วนผลการดำเนินงาน นายประเสริฐ กล่าวว่า คาดว่าผลประกอบการในไตรมาสที่ 2 ปี 2552 จะดีกว่าไตรมาสที่ 1 หลังจากราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น แต่ไตรมาสที่ 3 คาดว่ามาร์จินของกลุ่มโรงกลั่นและปิโตรเคมีอาจจะลดลง หลังจะมีกำลังผลิตใหม่ในตลาดโลกเข้าสู่ตลาดมากขึ้น

"ผลประกอบการ ไตรมาสที่ 2 ดีกว่าไตรมาสแรก แน่นอน ตัวเลขเป็นอย่างไรเปิดเผยไม่ได้ เนื่องจากไตรมาสที่ 2 มาร์จินโรงกลั่นและปิโตรเคมีดีกว่าไตรมาสแรก ส่วนไตรมาสที่ 3 อาจจะได้รับผลกระทบในเรื่องมาร์จินของกลุ่มโรงกลั่นและปิโตรฯ เพราะมีซัพพลายใหม่เข้ามา" นายประเสริฐ กล่าว

ผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 1 ปี 2552 บริษัท ปตท.มีกำไรสุทธิ 7.45 พันล้านบาท และมียอดขาย 3.04 แสนล้านบาทโดยมีรายได้หลักจากกลุ่มน้ำมัน, ก๊าซธรรมชาติ รวมถึงถือหุ้น 65.55% ใน บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) รวมถึงโรงกลั่นน้ำมัน 5 แห่ง และโรงงานปิโตรเคมี อีกหลายแห่ง

นายประเสริฐ กล่าวว่า ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นในไตรมาสที่ 2 ส่งผลให้มาร์จินในกลุ่มโรงกลั่นและปิโตรเคมีปรับตัวสูงขึ้น แต่ไตรมาส 3 ยังต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพราะอาจได้รับผลกระทบจากราคา และแรงกดดันจากกำลังการผลิตใหม่ทั้งน้ำมันและปิโตรเคมี ที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสที่ 4 คาดว่าสถานการณ์จะเริ่มดีขึ้น เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจบ่งชี้ไปในทิศทางที่ดีขึ้น รวมทั้งความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์จากปิโตรเคมี ตามกิจกรรมการผลิตสินค้าที่จะมีมากขึ้นในไตรมาสที่ 4 เนื่องจากเป็นช่วงคริสต์มาส

ด้าน นายปรัชญา ภิญญาวัธน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. กล่าวว่า ในขณะนี้บริษัทให้ความสำคัญกับแนวทางการลดค่าใช้จ่ายและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกลุ่มธุรกิจ เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือกับบริษัทในเครือทั้งหมด ว่าจะสร้างความร่วมมือในเรื่องใดได้บ้างเพิ่มเติม โดยเฉพาะด้านการจัดซื้อน้ำมันดิบ และการใช้ประโยชน์จากการถังหรือคลังน้ำมันเป็นต้น ขณะเดียวกันให้แต่ละกลุ่มธุรกิจพยายามเปรียบเทียบกับคู่แข่งขันในตลาดโลก เพื่อให้รู้ว่าอยู่ในตำแหน่งใด ซึ่งในส่วนของโรงกลั่นนั้นไทยออยล์ถือว่าติดอันดับต้นๆ ของโลกแล้ว ขณะที่โรงกลั่นไออาร์พีซีจะต้องปรับปรุงเพิ่มเติม ซึ่งในส่วนของการควบรวมกิจการของ 4 บริษัทก็เป็นแนวทางการลดต้นทุนทางหนึ่ง โดยขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียดของบริษัทที่ปรึกษา

"ปตท.กับบริษัทในเครือมีการ Synergy มาระดับหนึ่งแล้ว เพื่อลดต้นทุนการผลิตและค่าใช้จ่ายต่างๆ โดย 3 ปีที่ผ่านมาลดต้นทุนได้กว่า 800 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ยังต้องร่วมมือกันลดต้นทุนในเรื่องต่างเพิ่มเติม โดยเฉพาะด้านโลจิสติกส์ โดยเราต้องยึดหลักว่า ปตท. และบริษัทในเครือต้องร่วมมือกัน ไม่ใช่มาแข่งขันกันเอง" นายปรัชญา กล่าว

ข้อมูลจาก นสพ.กรุงเทพธุรกิจ 28/7/52

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน