สศค.ชงคลังรื้อ5มาตรการฝ่าวิกฤต ลอยตัวก๊าซหุงต้ม-จ่ายเพิ่ม"น้ำ-ไฟ"-รถเมล์ยังฟรี

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้ส่งผลการศึกษาเพื่อทบทวนนโยบาย 5 มาตรการ 6 เดือนฝ่าวิกฤตเพื่อคนไทย ที่จะครบกำหนดในเดือนก.ค.นี้ ให้กับนายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง แล้ว ซึ่งมาตรการที่เสนอให้ยกเลิกคือ การชะลอการปรับราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ในภาคครัวเรือน เนื่องจากเห็นว่าจะทำให้บิดเบือนกลไกตลาด หากรัฐบาลเข้าไปแทรกแซงมากเกินไป ควรจะปล่อยให้กลไกราคาเป็นไปโดยเสรีตามกลไกตลาด และผลการศึกษาได้มีข้อคิดเห็นแนบท้ายว่าทั้งสองมาตรการนี้ยังจำเป็นหรือไม่หรือทำให้ประชาชนระดับล่างที่ได้รับความเดือดร้อน ประหยัดได้จริงหรือไม่ เพราะทำให้ประชาชนบางส่วนเมื่อเห็นว่าน้ำฟรี ไฟฟรีก็ไม่มีการประหยัด กลับใช้จ่ายกันอย่างฟุ่มเฟือย

ด้านนายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.) กล่าวว่า สคร.อยู่ระหว่างพิจารณาทบทวนความเหมาะสมของนโยบาย 5 มาตรการ 6 เดือนเพื่อประเมินผลกระทบต่อภาระเงินคงคลังซึ่งอาจเสนอให้รมว.คลังพิจารณาปรับเปลี่ยนหรือยกเลิกนโยบายบางข้อที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนน้อยลง

"ส่วนของน้ำประปาและไฟฟ้าอาจมีข้อเสนอให้ลดอัตราการอุดหนุนต่อหน่วยลงเพื่อให้ประหยัดการใช้มากกว่านี้ แต่ส่วนที่คิดว่ามีประโยชน์และลดภาระของประชาชนได้โดยตรงและทันทีคือรถเมล์ฟรีและรถไฟฟรีอาจจะเสนอให้ต่ออายุมาตรการเหล่านี้ออกไป" นายอารีพงศ์กล่าว

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเศรษฐกิจมหภาค สศค. กล่าวว่า การทบทวนนโยบาย 5 มาตรการ 6 เดือนจะพิจารณาถึงความเหมาะสมว่ามีข้อไหนที่ยังจำเป็นที่จะช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน โดยเฉพาะน้ำ ไฟฟ้าอาจพิจารณาทบทวนให้เหมาะสมเพราะมีผลกระทบต่อฐานะเงินคงคลังด้วย แต่หากมีเงินจากพ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้านบาทเข้ามาชดเชยเงินคงคลังแล้วคงไม่มีปัญหาทำให้บริหารสภาพคล่องได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตามถือว่านโยบายนี้เป็นนโยบายที่ดี เพราะช่วยลดค่าครองชีพของประชาชนได้มากพอสมควร

สำหรับนโยบาย 5 มาตรการ 6 เดือน ประกอบด้วย 1.มาตรการลดค่าใช้จ่ายน้ำประปาของครัวเรือน รัฐจะรับภาระค่าใช้จ่ายการใช้น้ำสำหรับผู้ใช้น้ำประเภทที่อยู่อาศัยและผู้เช่าที่อยู่อาศัยที่มีปริมาณการใช้น้ำระหว่าง 0 ถึง 30 ลูกบาศก์เมตรต่อเดือน 2.มาตรการลดค่าใช้จ่ายไฟฟ้าของครัวเรือน รัฐจะรับภาระค่าใช้จ่ายไฟฟ้าสำหรับครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 90 หน่วยต่อเดือน 3.มาตรการลดค่าใช้จ่ายเดินทางรถโดยสารประจำทาง รัฐจะรับภาระค่าใช้จ่ายค่าโดยสารรถประจำทางของ ขสมก. ประเภทรถโดยสารธรรมดาที่ให้บริการในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล จำนวน 800 คันใน 73 เส้นทาง 4.มาตรการลดค่าใช้จ่ายเดินทางโดยรถไฟชั้น 3 รัฐจะรับภาระค่าใช้จ่ายค่าโดยสารรถไฟชั้น 3 เชิงสังคม 164 ขบวน และรถไฟชั้น 3 เชิงพาณิชย์ 8 ขบวน และ 5.ชะลอการปรับราคาก๊าซหุงต้มในภาคครัวเรือน

 

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน