กกพ.อนุมัติ ปตท.ขึ้นค่าผ่านท่อก๊าซ2บาท
นายดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า กกพ. ได้อนุมัติอัตราค่าบริการส่งก๊าซธรรมชาติ เพิ่มขึ้น 2.0218 บาทต่อล้านบีทียู จากเดิม 19.7447 บาทต่อล้านบีทียู เป็น 21.7665 บาทต่อล้านบีทียู เป็นการปรับขึ้นในส่วนของต้นทุนคงที่ (Td) จำนวน 1.2524 บาทต่อล้านบีทียู การปรับขึ้นส่วนของต้นทุนผันแปร (Tc) จำนวน 0.7694 บาทต่อล้านบีทียู มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2552 ส่งผลให้ ปตท.มีรายได้เพิ่มเดือนละ 150 ล้านบาท หรือ 1,800 ล้านบาทต่อปี หากไม่มีการลงทุนตามแผนที่กำหนด กกพ. จะพิจารณาเรียกเงินคืน และนำไปปรับลดค่าผ่านท่อต่อไป
การปรับขึ้นอัตราค่าบริการส่งก๊าซครั้งนี้จะไม่ ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้บริการ เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และภาคอุตสาหกรรมที่มีการใช้ก๊าซ แต่จะยังไม่ส่งผลต่อการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (เอฟที) ในงวดเดือนม.ค.-เม.ย.2552 ส่วนค่าเอฟทีในงวดถัดไปจะเป็น อย่างไรต้องพิจารณาอีกครั้ง ปัจจัยการปรับขึ้นค่าเอฟทีมาจากหลายส่วน ส่วนใหญ่มาจากเนื้อก๊าซ ซึ่งปี 2552 ราคาก๊าซมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องตามราคาน้ำมันในตลาดโลก
นายดิเรก กล่าวว่า ยังได้พิจารณาข้อเสนอการปรับอัตราค่าบริการส่งก๊าซครั้งนี้ ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นการพิจารณาให้สะท้อนกับภาระการลงทุนและการดำเนินการขยายระบบโครงข่ายท่อ ส่งก๊าซฯ ตามแผนแม่บทระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติฉบับที่ 3 ปี 2544-2554 ที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และ ครม.เมื่อปี 2550 เป็นเงิน 165,077 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม การปรับอัตราค่าบริการส่งก๊าซธรรมชาติครั้งนี้ลดลงจากข้อเสนอของ ปตท.ที่เสนอมา 22.5726 บาทต่อล้านบีทียู ซึ่ง กกพ.ได้พิจารณาให้ปรับลดมูลค่าการลงทุนและบำรุงรักษาในส่วนของท่อส่งก๊าซฯ ให้สามารถขยายอายุการใช้งานออกไปจาก 91,556 ล้านบาท เหลือ 61,283 ล้านบาท และให้ชะลอการลงทุนบางโครงการตามแผนแม่บทระบบท่อส่งก๊าซฯ ฉบับที่ 3 (ปรับปรุงเพิ่มเติม) เป็นเงิน 12,706 ล้านบาท ส่วนอัตราค่าบริการในส่วนของต้นทุนผันแปร (Tc) อนุมัติให้ปรับขึ้นเป็น 1.1112 บาทต่อล้านบีทียู ตามที่ ปตท.เสนอเนื่องจากสอดคล้องกับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น
ั้งนี้อัตราค่าบริการส่งก๊าซได้ผ่านการพิจารณา จากคณะอนุกรรมการกำกับดูแลอัตราค่าพลังงานและค่าบริการ ที่มีผู้แทนจากหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ผู้แทนผู้บริโภค อาทิ ผู้แทนสภาหอการค้าไทย ผู้แทนสมาคมธนาคารไทย และนักวิชาการอิสระ มีการรับฟังความคิดเห็น เป็นเวลา 3 สัปดาห์ (24 ก.พ. -16 มี.ค.) ได้นำความคิดเห็นมาประกอบการพิจารณาของ กกพ. ด้วย
ทั้งนี้ตามมาตรา 67 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 โดยมีผู้แสดงความคิดเห็นกว่า 600 ราย มีเพียง 3-4 รายเท่านั้นที่คัดค้าน ซึ่ง กกพ.ได้ตอบข้อสงสัยไปทั้งหมดแล้วว่า การปรับขึ้นค่าผ่านท่อครั้งนี้ มาจากภาระการลงทุนโครงการท่อเส้นที่ 3 ซึ่งเป็นวงเงินมหาศาล และขณะนี้ก็ได้เริ่มรับก๊าซจากแหล่งอาทิตย์ และเจดีเอแล้ว
ข้อมูลจาก นสพ.กรุงเทพธุรกิจ 27-3-52