นาย เพิ่มศักดิ์ ชีวาวัฒนานนท์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงความคืบหน้าแผนดำเนินการสร้างโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 7 ว่า ขณะนี้ภาพรวมของเศรษฐกิจชะลอตัว ส่งผลถึงความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติลดลงตามไปด้วย ฉะนั้นอาจจะมีการ "ชะลอ" การก่อสร้างออกไป จากเดิมที่วางแผนจะต้องลงทุนสร้างโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 7 มูลค่ากว่า 30,000 ล้านบาท ด้วยกำลังผลิต 600 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ให้เริ่มผลิตในปี 2557
รวมถึงคงต้องรอพิจารณาหลังจากโรงแยกก๊าซฯหน่วยที่ 6 กำลังผลิต 800 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน เริ่มผลิตเข้าสู่ระบบในช่วงไตรมาส 1 ของปี 2553 นี้ว่า ความต้องการใช้ก๊าซเป็นอย่างไร เนื่องจากก่อนหน้านี้ประเมินผลตอบแทนการลงทุน
โรงแยกก๊าซฯหน่วยที่ 6 ในช่วงปี 2547 บนพื้นฐานราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) เพื่อการส่งออกไว้ที่ราคา 500-600 เหรียญสหรัฐ/ตัน ในขณะที่สถานการณ์เปลี่ยนต้องผลิตเพื่อรองรับความต้องการใช้ในประเทศที่ถูก รัฐกำหนดราคาหน้าโรงกลั่นไว้ที่ 315 เหรียญสหรัฐ/ตัน เท่ากับว่า "ต้องขายก๊าซต่ำกว่าต้นทุน"
นอกจากนี้ความต้องการก๊าซในโรงไฟฟ้าซึ่ง นับเป็นลูกค้าหลักก็ลดน้อยลงด้วยจากความต้องการใช้เดิมถึงร้อยละ 70 แต่แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ PDP (Power Development Plan 2007) ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 มีการเลื่อน
โรงไฟฟ้าเข้าระบบออกไป ย่อมส่งผลต่อความต้องการใช้ก๊าซลดลงแน่นอน รวมถึงหากต้องขยายโรงแยกก๊าซฯเพิ่มขึ้นอีก 1 โรง จะมีปริมาณก๊าซเข้าป้อนโรงแยกก๊าซธรรมชาติได้ต่อเนื่องหรือไม่
วันนี้ ก๊าซธรรมชาติที่สามารถเข้าสู่กระบวนการคัดแยกมีเพียงในแหล่งอ่าวไทย ส่วนจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างแหล่งก๊าซในพม่านั้นไม่สามารถคัดแยกได้ ก่อนหน้านี้ตั้งความหวังจากแหล่งผลิตในกัมพูชาแต่ขณะนี้ประเมินแล้วว่า ปัญหาพื้นที่ทับซ้อน ที่ภาครัฐยังอยู่ในขั้นตอนการเจรจา จึงต้องมาพิจารณาว่า ผู้ได้รับสัมปทานปิโตรเลียมในพื้นที่อ่าวไทย รอบที่ 20 จะสามารถผลิตก๊าซฯจากแหล่งใหม่ได้เพิ่มเติมหรือไม่
"ดูดีมานด์ปิ โตรเคมีก่อน ต้องมีก๊าซฯ ต้องมีผู้ใช้จากตรงนี้ก่อน วันนี้มันไปผูกกับท่อเส้นที่ 4 ด้วยคือ หากสร้างแล้วการใช้ไม่มี เท่ากับว่าขยายไม่ได้ ความต้องการต้องมาจากทั้งโรงแยกก๊าซและโรงไฟฟ้า ทั้ง 2 ขา ตอนนี้โรงไฟฟ้าชะลอมันก็มีผล"
ที่สำหรับขยายโรงแยกก๊าซฯ หน่วย ที่ 7 จำเป็นจะต้องอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกับโครงการ LNG Receiving Terminal ขนาด 5 ล้านตัน/ปี ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม มาบตาพุด จังหวัดระยอง เพื่อใช้ประโยชน์จากผลพลอยได้จากกระบวนการผลิต คือความร้อนและความเย็นร่วมกัน แต่ไม่จำเป็นต้องสร้างพร้อมๆ กัน ซึ่งโครงการ LNG Receiving Terminal จะต้องแล้วเสร็จภายในปี 2554 แต่โรงแยกก๊าซฯสามารถ
ก่อสร้างแล้วเชื่อมต่อการผลิตได้ภายหลัง แต่วันนี้ยังไม่มีความแน่ชัดเรื่องพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด หลังจากศาลปกครองประกาศเป็นพื้นที่ควบคุมมลพิษแล้วจะสามารถขยายได้หรือไม่
แม้ ว่าโรงแยกก๊าซฯหน่วยที่ 6 จะเริ่มผลิตได้ในช่วงไตรมาส 1 ของปี 2553 แต่ไม่สามารถแก้ปัญาการขาดแคลนก๊าซ LPG ในระยะยาว และคาดว่าหลังจากนั้น 1 ปี ยังคงต้องนำเข้าก๊าซ LPG เพิ่มเติม เนื่องจากความต้องการใช้ยังเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะความต้องการใช้ภาคขนส่งและอุตสาหกรรมเพราะภาครัฐยังคงควบคุมราคา หน้า
โรงกลั่นไว้ที่ 315 เหรียญสหรัฐ/ตัน ส่งผลให้ราคาก๊าซ LPG ถูกกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับเชื้อเพลิงอื่นๆ
- ประชาชาติธุรกิจ 12 มี.ค. 2552