นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.พลังงาน เปิดเผยหลังประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ว่า ที่ประชุม กบง.มีมติเห็นชอบให้นำเงินจากกองทุนน้ำมันมาจ่ายเงินชดเชยการนำเข้าก๊าซหุง ต้มหรือแอลพีจีที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) แบกภาระนำเข้าแทนประชาชนโดยจะชดเชยการนำเข้าสำหรับการนำเข้าที่เกิดขึ้นใน เดือน ม.ค.-มี.ค.นี้เป็นก้อนแรกในวงเงินรวม 240 ล้านบาท โดยทยอยจ่ายคืนไม่เกินเดือนละ 500 ล้านบาท จนครบจำนวนที่ ปตท.แบกรับ และหากมีการนำเข้าตั้งแต่เดือน เม.ย. เป็นต้นไปก็จะจ่ายคืนให้ตามจริงทันที แต่มีเงื่อนไขว่าต้องไม่เกินเดือนละ 500 ล้านบาทเช่นกัน
ทั้งนี้ หากเกินวงเงินที่กำหนดไว้ต้องให้ กบง.อนุมัติทุกครั้ง และให้ สถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (องค์การมหาชน) พิจารณาจ่ายเงินชดเชยสำหรับการนำเข้าที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมาวงเงินรวม 7,948 ล้านบาท โดยมีระยะเวลาการจ่ายเงินชดเชยให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี ซึ่งจะเริ่มจ่ายงวดแรกได้ภายในเดือน เม.ย.นี้ และกรอบการจ่ายหนี้ก้อนนี้ก็จะจ่ายให้ไม่เกินเดือนละ 500 ล้านบาทเช่นกัน จนกว่าจะครบวงเงินที่ต้องจ่ายคืน
นอกจากนี้ กบง.ยังมีมติเห็นชอบให้การปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำหนดราคาไบโอดีเซลบี 100 จากเดิมได้กำหนดเพดานราคาน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) เพื่อใช้ในการคำนวณราคาไบโอดีเซลบี 100 ให้ไม่สูงกว่าราคาน้ำมันปาล์มดิบในตลาดมาเลเซีย+ 3 บาทต่อ กก.โดยให้ปรับปรุงใหม่ เป็นให้อ้างอิงราคาปาล์มดิบชนิดสกัดแยก (เกรดเอ) ตามกรมการค้าภายในประกาศ แต่ไม่สูงกว่าราคาน้ำมันปาล์มดิบที่คำนวณจากราคาปาล์มทะลาย (น้ำมัน 17%) ตามที่กรมการค้าภายในประกาศบวกค่าสกัด 2.25 บาท/กก. เป็นการชั่วคราวถึงวันที่ 31 พ.ค. หลังจากนั้นให้กลับมาใช้เพดานราคาน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ทั้งนี้ ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 4 มี.ค.-31 พ.ค. นี้ ให้ผู้ค้าผลิตไบโอดีเซล (B100) จำหน่ายให้กับผู้ค้ามาตรา 7 โดยสะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริงในอุตสาหกรรมไบโอดีเซล.
ไทยรัฐ 4/3/52