นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า ยังยืนยันที่จะคงโครงสร้างราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ออกมาเป็น 2 ราคา ระหว่างภาคครัวเรือนกับขนส่งและอุตสาหกรรม ด้วยการตรึงราคาภาคครัวเรือน ออกไปอีกจากที่ครบกำหนด 6 มาตรการ 6 เดือน ในวันที่ 31 ม.ค. แต่ภาคขนส่งและอุตสาหกรรมต้องปรับราคาขึ้น แต่คงไม่ถึง 6 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ซึ่งคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) จะสรุปรายละเอียดในวันที่ 16 ม.ค.นี้
“การขยายเวลา 6 มาตรการ 6 เดือน ในส่วนการใช้ไฟฟรี ที่ประชุม กพช. จะหารือในรายละเอียดอีกครั้ง หลังจากเบื้องต้นแนวทางหนึ่งที่ได้หารือไว้คือผู้ที่ใช้ไฟไม่เกิน 100 หน่วย ใช้ไฟฟรี คิดเป็น ผู้ที่ได้รับการคิดค่าไฟฟรี 9 ล้านครัวเรือน คิดเป็นเงินที่รัฐบาลต้องอุดหนุนให้กับการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง 8,000 ล้านบาท โดยมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เดิมได้กำหนดว่าการใช้ไฟฟรี กำหนดไว้ 2 แนวทางคือ หากใช้ไม่ถึง 80 หน่วยต่อเดือน ใช้ฟรี แต่หากใช้ตั้งแต่ 80-150 หน่วย จ่ายค่าไฟ 50%”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับค่าไฟฟรี กระทรวงพลังงานกำลังพิจารณารายละเอียด เนื่องจากเดิม กำหนดฐานใช้ไฟฟรีที่ 80-100 หน่วยต่อเดือน จะจ่ายค่าไฟฟ้าเพียงครึ่งหนึ่ง แต่ถ้าใช้ไม่เกิน 80 หน่วย ได้ใช้ฟรี ปรากฏว่าเดิมผู้ที่ใช้ไฟไม่เกิน 80 หน่วยมี 6.7 ล้านครัวเรือน แต่ล่าสุดเพิ่มเป็น 7 ล้านครัวเรือน จึงบ่งชี้ว่าประชาชนมีการประหยัดเพื่อให้สามารถใช้ไฟฟรีมากขึ้น หากมีการกำหนดใหม่ เป็นใช้ไฟไม่เกิน 100 หน่วย สามารถใช้ไฟฟรีได้ ก็ต้องใช้เงินอุดหนุนมากกว่าเดิม เพราะครัวเรือนที่เคยประหยัดอาจมีการใช้ไฟเพิ่มมากขึ้นอีก เพราะฐานการใช้ขยายไปยัง 100 หน่วยต่อเดือน จึงมีทางเลือกอีกทางหนึ่ง คือกำหนดใช้ฟรีสำหรับผู้ใช้ไม่เกิน 100 หน่วย แต่จะต้องเป็นบ้านที่ติดมิเตอร์ไฟไม่เกิน 5 แอมแปร์
นายดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า กกพ. มีมติให้ปรับขึ้นค่าไฟตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (เอฟที) สำหรับเรียกเก็บจากผู้ใช้ เดือน ม.ค.-เม.ย. เพิ่มขึ้น 14.85 สตางค์ (สต.) ต่อหน่วย จากเดิมอยู่ที่ 77.70 สต. ต่อหน่วย รวมเป็น 92.55 สต.ต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟที่เรียกเก็บในบิลรอบนี้เพิ่มขึ้นจาก 3.02 บาทต่อหน่วย เป็น 3.17 บาทต่อหน่วย.
นสพ.ไทยรัฐ 13-01-52