มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จี้ ‘ศึกษาธิการ – คมนาคม’ เร่งจัดการปัญหารถรับส่งนักเรียนหวั่นอันตรายเกิดซ้ำ

school bus5

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เรียกร้อง ‘ศึกษาธิการ – คมนาคม’ เร่งจัดการปัญหารถรับส่งนักเรียนอันตราย ชี้ถึงเวลาเอาจริงหยุดผักชีโรยหน้า แก้ปัญหานักเรียนเจ็บตายบนท้องถนน พร้อมเสนอเพิ่มตัวชี้วัดจังหวัดหากเกิดเหตุซ้ำซากต้องลงโทษทันที

จากกรณีอุบัติเหตุรถสองแถวหกล้อรับส่งนักเรียนโรงเรียนดงบังพิสัยนวการนุสรณ์ เสียหลักพลิกคว่ำรับเปิดเทอมบริเวณสามแยกด้านหน้าทางเข้าโรงเรียน ตำบลดงบัง อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2564 ทำให้มีเด็กนักเรียนบาดเจ็บกว่า 37 คน อาการสาหัสอีก 4 คนนั้น

คงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ประสานงานโครงการขนส่งมวลชนที่ปลอดภัยและเป็นธรรม มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า สถานการณ์อุบัติเหตุรถรับส่งนักเรียนในปีนี้มีความรุนแรงมากกว่าปีที่ผ่านมา จากข้อมูลการเฝ้าระวังสถานการณ์รถรับส่งนักเรียนไม่ปลอดภัย โดยศูนย์วิชาการความปลอดภัยทางถนน และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคระบุว่า เพียง 6 เดือนแรกของปี 2564 (มกราคม-มิถุนายน) เกิดอุบัติเหตุรถรับส่งนักเรียนมากถึง 8 ครั้ง มีนักเรียนบาดเจ็บมากถึง 134 คน และเสียชีวิต 2 คน เกือบทั้งหมดมีสาเหตุจากความประมาทของผู้ขับรถรับส่งนักเรียน และสภาพรถรับส่งนักเรียนที่ไม่ปลอดภัย โดยเฉพาะกรณีล่าสุดที่จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งนอกจากจะมีสาเหตุจากการขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสแล้ว ยังพบว่ารถคันดังกล่าววิ่งรับส่งนักเรียนโดยไม่ได้ขออนุญาตเป็นรถรับส่งนักเรียน รวมถึงสภาพรถยังไม่มั่นคงแข็งแรง กล่าวคือ โครงสร้างรถที่ส่วนควบกระเด็นออกจากตัวรถไม่สามารถป้องกันแรงกระแทกให้กับนักเรียนที่โดยสารมาได้ ส่วนนี้เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้นักเรียนได้รับบาดเจ็บรุนแรงมากขึ้น นอกจากนี้ ยังพบว่ามีการปล่อยให้นักเรียนนั่งบนหลังคารถเป็นทั้งสิ่งที่ผิดกฎหมายและเป็นอันตรายร้ายแรงสูงสุดที่ต้องห้ามโดยเด็ดขาด

ผู้ประสานงานโครงการขนส่งมวลชนที่ปลอดภัยและเป็นธรรม กล่าวอีกว่า จากเหตุการณ์ข้างต้นจึงต้องการเรียกร้องให้โรงเรียนและขนส่งจังหวัดแสดงความรับผิดชอบ เนื่องจากปล่อยให้มีการใช้รถที่ผิดกฎหมายมารับส่งนักเรียนจนกระทั่งเกิดอุบัติเหตุ อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำคัญที่ตอกย้ำความเสี่ยงของนักเรียนทุกวันนี้ คือ รัฐขาดความจริงใจในการแก้ไขปัญหา ที่ผ่านมารัฐมุ่งแต่ออกกฎระเบียบให้ทำตามแต่ไม่มีการประเมินว่าระเบียบปฏิบัติตามได้หรือไม่ อีกทั้งรัฐยังไม่มีข้อมูลตัวเลขจำนวนรถรับส่งนักเรียนที่แท้จริง เพราะยังมีผู้ประกอบการจำนวนมากที่ไม่นำรถมาขึ้นทะเบียนกับสำนักงานขนส่งแต่ละจังหวัด นอกจากนี้ บุคลากรที่เกี่ยวข้อง เช่น ครู ผู้ปกครอง นักเรียน หรือคนขับรถรับส่งนักเรียน ต่างยังขาดความเข้าใจและแรงสนับสนุนองค์ความรู้ที่ถูกตรงเกี่ยวกับการจัดการระบบรถรับส่งนักเรียนให้มีความปลอดภัย
“อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ นั้นสะท้อนปัญหาที่เกิดจากการใช้รถรับส่งนักเรียนที่ไม่ได้มาตรฐาน ระบบการจัดการ และการกำกับที่ขาดประสิทธิภาพ รวมถึงนโยบายการศึกษาที่ทำให้นักเรียนต้องเดินทางไกลขึ้น ล้วนเป็นสาเหตุสำคัญที่ส่งเสริมความเสี่ยงของนักเรียนจากรถรับส่งนักเรียนที่ไม่ปลอดภัย” คงศักดิ์ กล่าว
ทั้งนี้ จากปัญหาที่เกิดขึ้นมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคขอเรียกร้องกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงคมนาคมในฐานะหน่วยงานที่กำกับมาตรฐานความปลอดภัยรถรับส่งนักเรียนต้องแสดงความรับผิดชอบต่อความสูญเสียที่เกิดขึ้น พร้อมทบทวนมาตรการกำกับความปลอดภัยรถรับส่งนักเรียนขั้นสูงสุด ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เพื่อหยุดปัญหาลดเจ็บตายบนท้องถนนกับการเดินทางของนักเรียน พร้อมเสนอเพิ่มตัวชี้วัดจังหวัด หากเกิดเหตุซ้ำซากต้องลงโทษทันที เพราะมีการสูญเสียกันมามากพอแล้ว

ข้อเสนอต่อมาตรการรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย มีดังนี้
          1. ขอให้กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายให้โรงเรียนต้องกำหนดยุทธศาสตร์และแผนความปลอดภัยเพื่อการเดินทางของนักเรียน เพื่อเป้าหมายความปลอดภัยสูงสุดของนักเรียนที่ต้องเดินทางด้วยรถรับส่งนักเรียน
         2. ขอให้กระทรวงศึกษาธิการกำหนดบทบาทให้โรงเรียนเป็นจุดจัดการงานรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย โดยมีภารกิจสนับสนุนองค์ความรู้ และแนวทางการจัดการรถรับส่งนักเรียนปลอดภัยให้กับครูและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งแนวทางติดตามประเมินผลการปฏิบัติการในทุกภาคเรียนการศึกษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำมาเป็นข้อมูลประกอบการทบทวนมาตรการให้เหมาะสมต่อไป
        3. ขอให้กระทรวงศึกษาธิการสนับสนุนนโยบายให้รัฐเป็นผู้จัดสรรงบประมาณสนับสนุนเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการเดินทางของนักเรียน โดยถือว่าหนึ่งในสวัสดิการด้านการศึกษาที่รัฐต้องจัดให้ เพื่อให้เด็กทุกคนได้มีโอกาสเข้าถึงระบบการศึกษาที่เป็นบริการของรัฐได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม
        4. ขอให้กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงคมนาคม บูรณาการความร่วมมือเพื่อปรับปรุงข้อกฎหมายหรือระเบียบปฏิบัติ และข้อมูลของสองหน่วยงานให้มีความสอดคล้องกันสามารถใช้ปฏิบัติได้จริง และกำหนดการเดินทางที่ปลอดภัยของนักเรียนให้เป็นแผนงานหลักของหน่วยงานระดับจังหวัด เช่น สำนักงานขนส่งจังหวัด หรือ โรงเรียน เป็นต้น
       5. ขอให้ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนมีมาตรการให้ทุกจังหวัดต้องมีแผนยุทธศาสตร์หรือคณะทำงานด้านความปลอดภัยของรถรับส่งนักเรียน โดยให้กำหนดโครงสร้างการเน้นการมีส่วนร่วมของคนทำงานที่ประกอบด้วย หน่วยงานท้องถิ่น นักวิชาการ และเครือข่ายผู้บริโภค เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดของนักเรียนที่ต้องเดินทางด้วยรถรับส่งนักเรียน และกำหนดตัวชี้วัดด้านความปลอดภัยการเดินทางของนักเรียน หากจังหวัดใดเกิดเหตุซ้ำซากต้องมีมาตรการลงโทษโดยทันที

Tags: รถรักส่งนักเรียน, รถรับส่งนักเรียน, กระทรวงคมนาคม, กระทรวงศึกษาธิการ

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน