ภาพจาก : วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา
สภาฯ ผู้บริโภค ยันรัฐต้องไม่ทำให้ค่ารฟฟ. เป็นภาระกับผู้บริโภค พร้อมเสนอเก็บ 25 บาททำได้จริง ด้านรองปลัดคมนาคม ชี้ ยิ่งลดราคาลงได้เยอะ ปชช. จะได้รับประโยชน์มาก ส่วนโฆษก กมธ. ผู้บริโภค ระบุ ระบบขนส่งมวลชนทั้งระบบเป็นปัญหาไม่แพ้ค่ารฟฟ. ย้ำรัฐ ควรลงมือแก้ไขอย่างจริงจัง ขณะที่ ปชช. ส่วนใหญ่ต้องการให้คำนวณค่าโดยสารโดยคำนึงถึงค่าแรงขั้นต่ำ
จากการที่ กทม. ประกาศจะขึ้นค่าโดยสารของรถไฟฟ้า (สายสีเขียว) เมื่อช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เป็น 104 บาท และถูกคัดค้านจนสุดท้ายถูกชะลอให้เลื่อนการเก็บค่าโดยสารดังกล่าวออกไป และ กทม. ก็ได้เสนอราคาค่าโดยสารสูงสุดที่ 65 บาทอีกรอบนั้น
วันนี้ (31 มีนาคม 2564) เวลา 13.30 - 16.30 น. สภาองค์กรของผู้บริโภคและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับ กรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎร จัดรับฟังความเห็นและผลกระทบของประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการปรับขึ้นค่าโดยสารรถไฟฟ้า (สายสีเขียว) ซึ่งมีการอภิปรายในหัวข้อ “ผ่าทางตัน... ราคารถไฟฟ้าที่เหมาะสมและเป็นธรรม” โดยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและตัวแทนผู้บริโภค
สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า จากผลสำรวจของนิด้าโพลล์ พบว่า คนส่วนใหญ่ในกรุงเทพฯ เดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวสูงถึงร้อยละ 43 และใช้ขนส่งสาธารณะเพียงร้อยละ 24 เท่านั้น โดยที่รถไฟฟ้ามีผู้ใช้บริการเพียงร้อยละ 2.86 ซึ่งค่าโดยสารรถไฟฟ้าทั้งไปและกลับมีราคาสูงถึงร้อยละ 28 สวนทางกับค่าแรงขั้นต่ำของคนไทย ในขณะที่ในต่างประเทศนั้นไม่มีประเทศใดเลยที่ค่าโดยสารรถไฟฟ้าเกินกว่าร้อยละ 10 ของค่าแรงขั้นต่ำ เช่น ค่าโดยสารรถไฟฟ้าในประเทศญี่ปุ่นมีราคาเพียงร้อยละ 9 ของค่าแรงขั้นต่ำ หรือ ในประเทศฝรั่งเศส หรือ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ค่าโดยสารรถไฟฟ้ามีราคาเพียงร้อยละ 3 ถึงร้อยละ 5 เท่านั้น จากข้อมูลข้างต้นทำให้เห็นว่าในไทยก็น่าจะสามารถทำให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าถูกลงเหมือนในต่างประเทศได้
“องค์กรผู้บริโภคมีมติร่วมกันผ่านสภาองค์กรของผู้บริโภค ที่รัฐควรทำให้ค่าโดยสารต้องไม่เป็นภาระกับผู้บริโภค โดยมีหลักการยึดว่าค่าโดยสารควรสอดคล้องกับค่าแรงขั้นต่ำ คือ คือ ไม่เกินร้อยละ 10 ของค่าแรงขั้นต่ำ รวมถึงจะต้องทำให้รถไฟฟ้าเป็นขนส่งมวลชนที่ประชาชนเข้าถึงได้ ไม่ใช่ขนส่งทางเลือกดังเช่นที่เป็นในตอนนี้” เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าว
สารี กล่าวอีกว่า หากใช้การคำนวณค่าโดยสารรถไฟฟ้า (สายสีเขียว) ของสภาฯ ผู้บริโภค ในราคา 25 บาท ก็จะทำให้ผู้บริโภคมีเงินเหลือเก็บและมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้มากกว่านี้ ไม่ใช่การเอาเงินไปจ่ายกับการเดินทางเกือบทั้งหมด ซึ่งการคำนวณในราคาดังกล่าวอ้างอิงจากการคำนวณของกระทรวงคมนาคม สุดท้ายแล้ว กทม. ยังมีกำไรหรือมีเงินเหลือนำส่งรัฐได้ถึง 23,000.00 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม หาก กทม. มีตัวเลขหรือการคำนวณที่แตกต่างออกไปนั้นควรออกมาชี้แจงให้ทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนทั่วไปรับรู้ แต่หากไม่สามารถชี้แจง หรือ ทำให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าถูกลงในราคา 25 บาทได้ กทม. ต้องหยุดต่อสัญญาสัมปทานและปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้ว่าราชการ กทม. ที่กำลังจะมีการเลือกตั้งใหม่ในอีกไม่นาน แต่หากผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ไม่สามารถทำให้ราคาถูกลงได้อีก องค์กรผู้บริโภคและสภาฯ ผู้บริโภคจะร่วมผลักดันและกดดันหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง นายกรัฐมนตรี กทม. รวมถึงกระทรวงคมนาคม เพื่อที่จะทำให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้ามีราคาที่เป็นธรรมและทุกคนเข้าถึงได้ นอกจากนี้ การมีตั๋วร่วมจะทำให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าถูกลงกว่านี้ได้อีกด้วย
ขณะที่ นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า เมื่อ กทม. เสนอราคา 65 บาทออกมา ทาง ก. คมนาคม ได้เชิญธนาคารพัฒนาเอเชียและประเทศไทย (ABD) เข้ามาศึกษาค่าโดยสารรถไฟฟ้าเพื่อดูว่าราคาใดที่มีความเหมาะสม โดยมีการนำผลการสำรวจความเต็มใจที่จะจ่าย (Wellingness to Pay) ผลการสำรวจพฤติกรรมการเดินทางของผู้เดินทางในบริเวณพื้นที่โครงการ อัตราค่าโดยสารสาธารณะอื่น ๆ ในพื้นที่ และ หลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าโดยสารตาม MRT Assessment Standardization ซึ่งพิจารณาจากอัตราค่าโดยสารระบบขนส่งสาธารณะของไทยและสากล โดยอ้างอิงจากค่าโดยสารรถปรับอากาศ ปี 2554 เริ่มต้นที่ 8 บาท มีการปรับขึ้นร้อยละ 25 เป็น 10 บาท ถือว่าเป็นค่าโดยสารเริ่มต้นที่ประชาชนยอมรับได้ รวมถึงมีการตรวจสอบค่าโดยสารข้างต้นกับค่าบริหารจัดการเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) ประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายคงที่ (Fixed Cost) + ค่าใข้จ่ายผันแปร (Variable Cost) สุดท้ายจึงคำนวณออกมาเป็นค่าโดยสารในราคา 49.83 บาท
รองปลัดกระทรวงคมนาคม มองว่า หากยิ่งลดราคาค่าโดยสารลง ประชาชนก็จะได้รับประโยชน์มากขึ้นและทำให้มีผู้ใช้รถไฟฟ้ามากขึ้นอีกด้วย ดังนั้น จึงอยากให้พิจารณาค่าโดยสารให้ได้ราคาต่ำกว่า 65 บาท รวมถึงระบุว่า การลดอัตราการเก็บค่าแรกเข้าหรือไม่มีการเก็บค่าแรกเข้าซ้ำซ้อนเมื่อต้องเดินทางข้ามระบบรถไฟฟ้าจะต้องเกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น ในสัญญาสัมปทานของรถไฟฟ้าสายสีต่าง ๆ ที่กำลังจะเปิดเดินรถก็จะต้องระบุให้ยกเว้นค่าแรกเข้าส่วนนี้ แต่ในส่วนรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินที่ถูกระบุในสัญญาฯ ว่าต้องเก็บค่าแรกเข้านั้นก็อาจจะต้องหารือใหม่ในอนาคตและควรมีการแก้ไขสัญญาสัมปทานเพิ่มเติม นอกจากนี้ยังต้องการให้มีการเปิดเผยข้อมูลของสัญญาสัมปทานและที่มาการคำนวณราคาของ กทม. ทั้งหมดเพื่อที่จะนำไปพิจารณาหาค่ารถไฟฟ้าที่เหมาะสมได้
ส่วน จิรวัฒน์ อรัณยกานนท์ โฆษก กมธ. คุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนฯ กล่าวว่า ทาง กมธ. คุ้มครองผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการปรับขึ้นค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวและคาดว่าจะเกิดผลกระทบกับประชาชนจำนวนมากในอนาคต จึงให้ กทม. มาชี้แจงถึงการคำนวณราคาทั้งสองอัตรา คือ 104 บาทจนมาถึงราคา 65 บาท แต่ กทม. กลับชี้แจงว่าอยู่ระหว่างการเจรจากับ BTS และไม่สามารถเปิดเผยวิธีการคำนวณว่ามีฐานคิดมาจากอะไร ดังนั้น จึงอยากฝากถึง กทม. ให้มีการเปิดเผยสัญญาสัมปทาน รวมถึงวิธีการคิดคำนวณราคาดังกล่าว
นอกจากนี้ จากการประชุมเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ต้องการยกตัวอย่าง 4 เหตุการณ์ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาการขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนและรถไฟฟ้าบีทีเอส คณะกรรมาธิการคมนาคม สภาองค์กรของผู้บริโภคและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และกระทรวงมหาดไทย มีความเห็นตรงกัน คือ 1) ควรชะลอการต่ออายุสัญญาสัมปทาน ไม่ควรรีบร้อนต่อสัญญาสัมปทาน เนื่องจากยังเหลือเวลาอีกหลายปีในการศึกษาและวิเคราะห์ในเรื่องผลประโยชน์ที่ประชาชนและรัฐจะได้รับ และ 2) ราคาแพงเกินกว่าที่ประชาชนจะรับได้ ซึ่งราคาที่ กทม. เสนอมา 65 บาท แพงเกินไป และไม่มีฐานคิดที่ชัดเจน ไม่มีที่มาที่ไป
โฆษก กมธ. คุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนฯ กล่าวอีกว่า ไม่เพียงแค่ราคารถไฟฟ้าที่เป็นปัญหา แต่มองว่าระบบขนส่งมวลชนก็มีปัญหาด้วยเช่นเดียวกัน เช่น เราต้องนั่งรถหลายต่อเพื่อไปยังจุดหมาย หรือ เรื่องราคา ดังนั้น ระบบขนส่งมวลชนทั้งระบบจะพัฒนาไปด้วยกัน โดยการที่รัฐก็จะต้องเข้ามาสนับสนุนและลงมือแก้ไขอย่างเอาจริงเอาจัง เพื่อทำให้บริการขนส่งมวลชนเป็นบริการที่ผู้บริโภคใช้ได้
ทั้งนี้ ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนที่เข้าร่วมสัมมนาได้แสดงความคิดเห็น ซึ่งส่วนใหญ่ต้องการให้การคิดคำนวณราคาค่าโดยสารคำนึงถึงรายได้ของประชาชนเพื่อให้สามารถใช้บริการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานได้อย่างทั่วถึง และราคาที่กำหนดต้องเป็นธรรมแก่ผู้บริโภคด้วย อีกทั้งขอให้พิจารณาชะลอการปรับขึ้นราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวไว้ก่อน จนกว่าจะได้ข้อสรุปร่วมกันทุกฝ่าย
เนื้อหาอ้างอิงเพิ่มเติม : http://www.tpchannel.org/radio/newsdetail.php?news_id=6005&fbclid=IwAR1GaDRhMCKHohbwkm3z0ivH8CvJb3DRkkTBg_w4F3TlGYtbG_biIpIQ62w
ดู Facebook LIVE ย้อนหลัง ได้ที่ : https://fb.watch/4A9ndUvx7W/