มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร้องวุฒิสภาคุมค่าโดยสารรถเมล์รถไฟฟ้า ชี้ต้องลดความเหลื่อมล้ำช่วยเหลือผู้บริโภค

picsaree13.7

          วันนี้ (13 กรกฎาคม 2563) ที่อาคารรัฐสภา นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และตัวแทนเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค เข้ายื่นหนังสือต่อ นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา เพื่อขอให้ตรวจสอบและแก้ไขปัญหาค่าโดยสารรขนส่งมวลชนรถเมล์รถไฟฟ้าราคาแพงให้ไม่เกิน 5% ของรายได้ขั้นต่ำ โดยให้เหตุผลว่า ปัจจุบันผู้บริโภคต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่สูงเมื่อเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำของคนกรุงเทพมหานคร หากต้องเดินทางด้วยรถไฟฟ้าจะมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 26–28% หรือหากใช้รถเมล์ ขสมก. ปรับอากาศจะมีค่าใช้จ่าย 15-16% และรถเมล์ร่วมบริการอยู่ที่ 14% ซึ่งสวนทางกับคุณภาพของบริการขนส่งสาธารณะ และความไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค ทำให้ส่วนใหญ่ต้องเลือกใช้รถยนต์ส่วนตัวเป็นพาหนะเดินทางเพิ่มมากขึ้น คิดเป็นการเดินทางด้วยรถยนต์มากถึง 43% รถจักรยานยนต์ 26% และขนส่งสาธารณะเพียง 24% เท่านั้น

          นางสาวสารี กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาการเข้าถึงบริการขนส่งมวลชนที่มีคุณภาพและราคาค่าโดยสารที่เท่าเทียมเป็นธรรม เป็นปัญหาความเดือดร้อนเร่งด่วนและสำคัญของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน ดังนั้นรัฐบาลจึงมีหน้าที่ต้องส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะได้อย่างปลอดภัย ทุกคนสามารถจ่ายค่าโดยสารได้อย่างเท่าเทียมเป็นธรรม ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล เพิ่มการใช้ขนส่งสาธารณะ และพัฒนารูปแบบการให้บริการที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค โดยมีข้อเสนอที่สำคัญของผู้บริโภคต่อการแก้ไขปัญหาและพัฒนาดังนี้

          1.ประชาชนทั่วประเทศ ต้องเข้าถึงป้ายรถเมล์หรือจุดบริการขนส่งสาธารณะในระยะทาง 0.5 กิโลเมตร หรือเดินไม่เกิน 15 นาที ต้องปรับปรุงระบบขนส่งมวลชนให้เป็นระบบไฟฟ้าทั่วประเทศ

          2.ระยะเวลาในการรอรถเมล์ หรือรถโดยสารสาธารณะไม่เกิน 15 นาที ในช่วงเร่งด่วนและไม่เกิน 30 นาทีในช่วงไม่เร่งด่วนในการเดินทางประจำวัน

          3.มีระบบให้ข้อมูลแบบเรียลไทม์ว่า รถเมล์ หรือรถโดยสารสายอะไรที่กำลังจะมา ทั้งในกรุงเทพฯและทั่วประเทศ

          4.ค่าใช้จ่ายของรถเมล์ปรับอากาศที่เป็นบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานของรัฐ ต้องจัดการให้ไม่เกิน 15 บาท ทุกสายตลอดวัน

          5.ค่าใช้จ่ายบริการขนส่งมวลชนทุกประเภทรวมแล้วต้องไม่เกิน 5% ของรายได้ขั้นต่ำในแต่ละวัน ซึ่งทั้งรัฐบาลและท้องถิ่นต้องพัฒนาระบบสนับสนุนที่โปร่งใส มีประสิทธิภาพ ปลอดภัยและมีคุณภาพในการให้บริการ

          6.สำหรับกรุงเทพ ฯ ต้องจัดการให้ผู้บริโภคเสียค่าแรกเข้ารถไฟฟ้าหรือระบบรางเพียงครั้งเดียวในการใช้บริการถึงแม้จะใช้หลายเส้นทาง มีระบบที่เชื่อมโยงรถเมล์กับบริการรถไฟฟ้าและบริการขนส่งมวลชนทุกประเภท

          ทั้งนี้ นายสังศิตได้กล่าวว่า ยินดีและขอบคุณมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญการควบคุมค่าโดยสารของบริการขนส่งมวลชนและรถไฟฟ้า ด้วยประชาชนมีภาระค่าโดยสารเป็นจำนวนมาก และเรื่องนี้เป็นเรื่องที่คณะกรรมาธิการต้องให้ความสำคัญเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ หลังจากนี้คณะกรรมาธิการจะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลก่อนที่จะทำข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาลต่อไป

               

 

Tags: รถโดยสารสาธารณะปลอดภัย

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน