กลุ่มผู้เสียหายจากอุบัติเหตุทางถนน ร่วมจัด ‘สมัชชาผู้เสียหายจากอุบัติเหตุทางถนน ครั้งที่ 1’ หวังยกระดับมาตรฐานการชดเชยเยียวยา

news pic 18022020 1

กลุ่มผู้เสียหายจากอุบัติเหตุทางถนน ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และภาคีเครือข่ายความปลอดภัยทางถนน จัด ‘สมัชชาผู้เสียหายจากอุบัติเหตุทางถนน ครั้งที่ 1’ ระดมความคิดเห็นจากผู้เสียหาย นักวิชาการ และหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้มีมาตรฐานการชดเชยเยียวยาที่เหมาะสมและเป็นธรรม รวมถึงยกระดับมาตรฐานและพัฒนาคุณภาพระบบขนส่งสาธารณะให้มีความปลอดภัยอย่างยั่งยืน 

          วันนี้ (18 กุมภาพันธ์ 2563) ที่ห้องจูปิเตอร์ ชั้น 3 โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพมหานคร กลุ่มผู้เสียหายจากอุบัติเหตุทางถนน ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และภาคีเครือข่ายความปลอดภัยทางถนน ได้ร่วมจัด ‘เวทีสมัชชาผู้เสียหายจากอุบัติเหตุทางถนน ครั้งที่ 1’ เพื่อรวบรวมปัญหาและระดมความคิดเห็นต่างๆ ทั้งจากผู้ที่ได้รับความเสียหายจากอุบัติเหตุทางท้องถนน นักวิชาการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ประสบอุบัติเหตุให้มีสิทธิและโอกาสการเข้าถึงสังคมที่มีอย่างทั่วถึงเท่าเทียม รวมถึงเพื่อให้มีมาตรฐานการชดเชยเยียวยาความเสียหายที่เหมาะสมและเป็นธรรม อีกทั้งเพื่อป้องกันและลดการเกิดอุบัติเหตุทางถนนที่อาจเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต

          ในช่วงแรก ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้กล่าวต้อนรับและกล่าวเปิดงานสมัชชา

          ตามมาด้วยการแลกเปลี่ยนบทเรียน ‘การแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนด้วยพลังของกลุ่มผู้เสียหาย’ จาก Mr.Patrick Govaert เลขานุการทูตเอกและกงสุล สถานเอกอัคราชฑูตราชอาณาจักรเบลเยียม ประจำประเทศไทย โดยเขากล่าวถึงบทเรียนดังกล่าวว่า สหภาพยุโรปมีการรณรงค์เรื่องถนนปลอดภัยโดยสถานทูตอังกฤษเป็นผู้ริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2559 เขาเปรียบเทียบสิ่งที่ประเทศเบลเยียมเหมือนกับประเทศไทย คือ มีรถเยอะมาก ประมาณ 7.5 ล้านคัน แบ่งเป็นรถยนต์ไปแล้วเกือบ 6 ล้านคัน อีกทั้งเมื่อหลายปีก่อนยังมีจำนวนผู้ประสบอุบัติเหตุด้วยรถยนต์ถึง 3,000 คนต่อปี แต่หลังจากมีการพูดคุย เสนอแนะแนวทางต่างๆ เพื่อจะลดจำนวนอุบัติเหตุ ทำให้เมื่อสองปีที่ผ่านมานั้นมีผู้ประสบอุบัติเหตุลดลงเหลือเพียง 615 คนเท่านั้น

          “แม้ยอดผู้ที่ประสบอุบัติเหตุจะลดลงจนเหลือเพียงเท่านี้ แต่ยังถือว่าเยอะมาก เมื่อเทียบกับประเทศสวีเดนที่มีเพียง 200 คน อย่างไรก็ตามเป้าหมายสูงสุด คือ การไม่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเลย ทั้งหมดไม่ใช่เรื่องของโชคชะตาที่จะทำให้อุบัติเหตุหายไปได้ แต่ต้องมีการรณรงค์ การให้ความรู้ต่างๆ ที่ต้องทำอีกเยอะมาก และเราก็จะได้เรียนรู้กันมากจากเรื่องเหล่านี้” เลขานุการทูตเอกและกงสุลเบลเยียมกล่าว

          สำหรับเป้าหมายหลักๆ ในการรณรงค์ดังกล่าวที่เขาต้องการนำเสนอนั้นมี 7 ประการ ได้แก่

          ประการแรก คือ การแลกเปลี่ยนข้อมูลและแนวปฏิบัติที่ดีในเรื่องความปลอดภัยทางถนน

          ประการที่สอง คือ การเปิดโอกาส สร้างการเจรจากับหน่วยงานท้องถิ่นเพื่อร่วมมือกันจัดการปัญหาและทำให้อุบัติเหตุเป็นศูนย์ เช่น การเข้าร่วมเป็นอนุกรรมการเรื่องความปลอดภัยของมอเตอร์ไซค์

          ประการที่สาม คือ การสร้างความรับรู้เพื่อทำให้ภาคประชาชนมีส่วนสำคัญในการรณรงค์ โดยหยิบหยกเรื่องที่ว่าความปลอดภัยเป็นเรื่องของทุกคน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ ประชาชนทั่วไป และกลุ่มองค์กรต่างๆ เราทุกคนมีโอกาสเป็นเหยื่อของอุบัติเหตุทางถนน

          ประการที่สี่ วางแผนความปลอดภัยที่เป็นรูปธรรม เป้าหมายที่ชัดเจน และทำแบบค่อยเป็นค่อยไป รวมถึงการมีพันธมิตรที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานรัฐ รวมถึงการเป็นมิตรกับหน่วยงานท้องถิ่นที่จะเป็นกลไกสำคัญ อีกทั้งต้องมีการประเมินด้วยว่าแผนนั้นดีหรือไม่ดีอย่างไร ต้องเพิ่มหรือปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง

          ประการที่ห้า มีแผนที่ดีแล้ว แต่มีวิศวกรรมในการสนับสนุนด้วยจะดียิ่งกว่า เขากล่าวว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่โชคดี เพราะวิศวกรที่มีความรู้ความสามารถ มีฐานข้อมูลที่สามารถนำมาช่วยลดอุบัติเหตุได้ ดังนั้น จะต้องค้นหาสิ่งที่เรียกว่าจุดเด่น หรือ จุดบอดให้ได้ เพื่อนำมาปรับปรุงให้ดีขึ้น

          ประการที่หก แน่นอนว่าการบังคับใช้กฎหมายยังเป็นสิ่งสำคัญและต้องมีการตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน เช่น ขับขี่ด้วยความเร็วที่ลดลง ไม่ขับขี่ขณะมึนเมา หรือการใช้เข็มขัดนิรภัย เป็นต้น Patrick ยกตัวอย่างการบังคับใช้กฎหมายที่ประเทศฝรั่งเศส โดยในใบขับขี่ของคนฝรั่งเศสจะมีการเก็บแต้ม หากขับเร็วเกินไปจะถูกตัดแต้ม ทำให้ประชาชนจะยิ่งเกิดความตระหนักมากขึ้นหากจะขับรถเพราะกลัวการถูกยึดใบขับขี่ ขณะที่ในนักการเมืองประเทศ ไม่อยากที่จะใช้วิธีเหมือนฝรั่งเศส เนื่องจากไม่ถูกใจประชาชนและจะทำให้เสียคะแนนโหวต แต่ Patrick มองว่าเป็นวิธีการที่ดีและยังอยากให้นำมาใช้ด้วย

          และประการสุดท้าย การรณรงค์เป็นเรื่องสำคัญ และถ้าจะให้ผลที่ดีต้องรณรงค์กับคนทุกกลุ่ม ยกตัวอย่างการรณรงค์ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในเบลเยียม คือ ทุกสุดสัปดาห์วัยรุ่นในมักจะขับรถไปเที่ยวและมีปาร์ตี้กันด้วย ซึ่งแน่นอนว่าจะมีเครื่องดื่มมึนเมาเข้ามาเกี่ยวข้องและมีผู้ที่ขับขี่รถขณะที่มึนเมาด้วย ดังนั้น จึงมีการรณรงค์ให้เวลาที่ไปเที่ยวแบบนี้จะต้องมีคนที่ขับรถและต้องไม่เมาเป็นคนถือกุญแจรถและขับรถพาคนอื่นกลับ ส่วนเพื่อนๆ ก็จะไม่สามารถไปกดดันให้เขาเมาได้เนื่องจากต้องขับรถ

          นอกจากนี้เขายังกล่าวถึงองค์กรในเบลเยียมที่สร้างขึ้นจากผู้ปกครองที่มีคนในครอบครัวเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ ชื่อกลุ่มว่า ONG ซึ่งมีเป้าหมาย คือ หนึ่ง ให้ความช่วยเหลือสนับสนุนผู้ที่ได้รับความเดือนร้อน สอง สร้างการรณรงค์ สร้างการรับรู้ โดยที่ในกลุ่มที่เป็นผู้เสียหายจะมีการรับรู้ได้เป็นอย่างดีว่ามีอะไรที่ขาดไปบ้าง เช่น เมื่อเกิดเหตุการณ์นั้นๆ ตำรวจ โรงพยาบาล บริษัทประกัน ปฏิบัติกับพวกเขาอย่างไรบ้าง ด้วยประกบการณ์ที่พบเจอมาจึงทำให้กลุ่มนี้สามารถช่วยเหลือปรับปรุง มีข้อเสนอที่ดีและเป็นประโยชน์ทั้งกับตำรวจ บริษัทประกัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ได้ สุดท้าย เสนอให้มีการทำข้อตกลงร่วมกันระหว่างหน่วยงานรัฐและองค์กรที่ไม่ใช่องค์กรของรัฐ เพราะเรื่องความปลอดภัยเป็นเรื่องของทุกคนที่ต้องทำร่วมกัน

          จากนั้นในช่วงที่สอง ในหัวข้อ ‘แนวโน้มการชดเชยเยียวยาความเสียหายในประเทศไทย’ ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่ง และโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า การประกันภัย สามารถตอบโจทย์การชดเชยเยียวยาผู้ประสบอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ ได้ดีกว่าการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายโดยเฉพาะอย่างยิ่งระยะเวลาในการได้รับค่าชดเชยเยียวยา ซึ่งวงเงินคุ้มครองที่เพิ่มสูง ประกอบกับนโยบายของกรมการขนส่งทางบกที่บังคับให้รถโดยสารสาธารณะต้องทำประกันภัยภาคสมัครใจเพิ่มเติม ทำให้ผู้ประสบภัยสามารถได้รับการชดชดเชยเยียวยาได้ทันท่วงทีมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ระบุว่า ปัจจุบันมีรถโดยสารที่ทำประกันภัยภาคสมัครใจเพียง 1 ใน 3 จากจำนวนรถที่จดทะเบียนทั้งหมด จึงมองว่าควรจะมีการสำรวจและศึกษาผลกระทบของรถที่ไม่ได้ทำประกันภัยด้วย ทั้งนี้ การฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย ยังคงจำเป็น เพื่อให้เกิดการคุ้มครองผู้บริโภคในระบบรถโดยสารสาธารณะที่เหมาะสมต่อไป

          ด้าน ดร.เอมผกา เตชะอภัยคุณ กรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ถึงแม้ระบบประกันภัยจะรวดเร็วกว่าการไปฟ้องศาล แต่สุดท้ายเมื่อผู้เสียหายไม่สามารถที่จะได้รับการขดเชยค่าเสียหายในระบบประกันภัยได้ ก็จะต้องกลับเข้าไปสู่ระบบของกระบวนการยุติธรรม ซึ่งมีการยกกรณีตัวอย่าง เป็นคดีเกี่ยวกับรถโดยสารสาธารณะที่ มพบ. มีส่วนเข้าไปช่วยเหลือ นำไปสู่การตั้งคำถามต่อวิธีการคำนวณกำหนดค่าสินไหมทดแทน เช่น ค่าขาดไร้อุปการะ ค่าเสียหายเชิงลงโทษ ค่าเสียหายทางจิตใจ นอกจากนี้ อยากให้มีการกำหนดขอบเขตที่ชัดเจนว่า กรณีใดบ้างที่บริษัทขนส่ง หรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องต้องมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบด้วย เพราะมีบางกรณีที่บริษัทขนส่งหลุดจากคดี เนื่องจากบริษัทอ้างว่ารถที่ใช้บริการนั้นเป็นรถเถื่อน ทั้งๆ ที่ผู้บริโภคเดินทางไปขึ้นรถที่สถานีขนส่ง

          อีกหนึ่งปัญหาสำคัญในคดีเกี่ยวกับอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ คือ บทบัญญัติเรื่องค่าสินไหมทดแทนที่เคร่งครัดเกินไป เช่น ผู้เสียหายเสียชีวิตต้องเป็น บิดา มารดา สามี ภรรยา บุตรเท่านั้น ซึ่งไม่ครอบคลุมความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง และอาจจะไม่ตอบโจทย์ในสังคมผู้สูงอายุ เพราะคนที่ดูแลผู้เสียชีวิตอาจเป็นปู่ย่าตายาย ทั้งนี้ ในหลายประเทศเมื่อเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุก็ต้องปรับเปลี่ยนกฎหมายเพื่อให้เหมาะสมกับสภาวทางสังคม สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องผลักดันร่วมกัน ทั้งภาคประชาสังคมและนักวิชาการ

          ตามมาด้วย ‘เรื่องเล่ามีชีวิต จากกระบวนการยุติธรรมที่ล่าช้า’ และเสียงสะท้อนถึงผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งผู้ประกอบการและหน่วยงานรัฐ ที่อยากเห็นความเปลี่ยนแปลงของระบบขนส่งสาธารณะ ผู้ใช้รถใช้ถนน และมาตรการการเยียวยาชดเชยความเสียหายหากเกิดอุบัติเหตุในประเทศไทย

          “การตัดสินแต่ละคดีล่าช้ามาก จนทำให้การชดเชยค่าเสียหายและการเยียวยาล่าช้าขึ้นไปอีก” หนึ่งในผู้เสียหายกล่าว ส่วนปัญหาเรื่องรถทัวร์สวมทะเบียน ปัญหาของคนขับรถ การจำหน่ายตั๋วที่ไม่ถูกกฎหมาย ผู้ที่ได้รับความเสียหายจึงสะท้อนไปถึงหน่วยงานภาครัฐ ผู้ประกอบการ และผู้ที่เกี่ยวข้อง ให้มีมาตรการที่เข้มงวดกับเรื่องนี้ให้มาก หากพบปัญหาที่คนขับรถก็อาจขึ้นแบล็กลิสต์ไม่ให้ขับหรือยึดใบขับขี่ ส่วนเรื่องสวมทะเบียนรถหรือการจำหน่ายตั๋วนั้นก็อาจต้องตรวจตราให้เข้มข้นในทุกๆ ช่วง ไม่ใช่ตรวจเพียงแค่ช่วงเทศกาลเท่านั้น อีกทั้งเรื่องถนนก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้เช่นเดียวกัน ควรมีการปรับปรุงพื้นผิวถนน ดูแลให้คงสภาพที่ดี รวมถึงกระบวนการยุติธรรมที่ต้องการให้มีการตัดสินให้รวดเร็วกว่าที่เป็นอยู่ นอกจากนี้ต้องการให้จัดตั้งกองทุนสำหรับผู้ที่ได้รับความเสียหายจากอุบัติเหตุทางถนนเพื่อช่วยเหลือในเรื่องค่าใช้จ่าย รวมถึงยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ที่ได้รับความเสียหายให้มีโอกาสการเข้าถึงสังคมอย่างทั่วถึงเท่าเทียม

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน