มพบ. และเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค เสนอ 8 แนวทางแก้ไขปัญหารถโดยสารสองชั้นให้ได้มาตรฐาน

 

IMG 5237

มพบ. และเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค จัดเสวนา พร้อมเสนอ 8 แนวทางแก้ไขปัญหารถโดยสารสองชั้นให้ได้มาตรฐาน 

          วันนี้ (5 กรกฎาคม 2561) เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุมวีนัส โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ กรุงเทพมหานคร โครงการสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายความปลอดภัยทางถนนเพื่อรถโดยสารสาธารณะปลอดภัย คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ร่วมกับศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย สมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และนักวิชาการ จัดเวทีเสวนา “ปัญหารถโดยสารสองชั้นกับนโยบายรัฐที่ต้องทบทวน” เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาในการพัฒนาคุณภาพรถโดยสารสาธารณะที่ปลอดภัย และเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของผู้บริโภค หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับการทำงานเรื่องรถโดยสารสาธารณะและการพัฒนาคุณภาพรถโดยสาร

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการ มพบ.) กล่าวว่า ข้อเสนอในการคุ้มครองผู้บริโภคและการชดเชยเยียวยา คือ การเสนอให้รัฐซื้อรถคืนจากผู้ประกอบการ กำหนดเส้นทางเสี่ยงอันตรายสำหรับรถสองชั้น แสดงสัญลักษณ์ผ่านการทดสอบชัดเจนบริเวณด้านหน้าตัวรถและบริเวณข้างรถ ต้องเปิดเผยข้อมูลการจดทะเบียน สถิติอุบัติเหตุ การกระทำความผิดของผู้ประกอบการ การกำหนดความเร็วของ GPS ให้สอดคล้องกับสภาพถนน การกำหนดใบอนุญาติขับขี่สำหรับรถขนาดใหญ่ที่มีความสูงเกิน 3.80 เมตร ปรับเพิ่มวงประกันภาคบังคับ และปรับเพิ่มวงเงินประกันภัย อีกทั้งพนักงานขับรถควรได้รับเงินเดือนที่มากกว่านี้ จะทำให้เขาไม่ต้องควบกะไป - กลับหลายรอบ อีกทั้งยังควรและทำให้เห็นว่าอาชีพนี้เป็นอาชีพที่ดี หรืออาจมีใบขับขี่เฉพาะ มีการเทรนที่ดี เมื่อพนักงานขับรถมีคุณภาพชีวิตดีและเขามีใจพร้อมในการบริการ เราก็ปลอดภัยและเสี่ยงน้อยลง 

“เราไม่ควรประสบอุบัติเหตุจากรถที่ไม่มีมาตรฐาน หรือสภาพถนนที่ไม่ดี จึงอยากเสนอให้กรมทางหลวงลองคิดเครื่องมือ นวัตกรรม หรือนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้กับรถโดยสาร เช่น เทคโนโลยี AI มีเสียงสัญญาณเตือนขึ้นมาเมื่อพบว่าตอนนั้นพนักงานขับรถง่วงนอน ควรจะพักก่อน นอกจากนี้ ผู้เสียหายจากการนั่งรถโดยสารสาธารณะไม่จำเป็นจะต้องมาฟ้องคดีหรือดำเนินการขอเงินเยียวยา แต่ทางหน่วยงานที่รับผิดชอบควรมีแนวทางในการจัดสรรให้กับผู้เสียหายในทันที” นางสาวสารีกล่าว

ด้านดร.สุเมธ องกิตติกุล นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า รถที่มีความสูงขนาดรถสองชั้นนั้นมีจุดศูนย์ถ่วงสูง เมื่อเข้าสู่พื้นที่ชันหรือเข้าโค้งรวมกับการที่พนักงานขับรถใช้ความเร็วสูงเกินกำหนดทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่ายกว่ารถชนิดอื่นๆ อีกทั้งโครงสร้างของรถต้องมีความแข็งแรง คือ เมื่อเกิดการพลิกคว่ำรถจะต้องคงสภาพอยู่ให้ได้ แต่ไม่ยุบหรือพังลงมาจนผู้โดยสารที่อยู่ภายในรถได้รับบาดเจ็บซ้ำซ้อน และเรื่องเบาะที่นั่งก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะเมื่อเกิดอุบัติเหตุ จุดยึดเกาะของเบาะจะต้องมีมาตรฐาน เพื่อที่ผู้โดยสารจะได้ไม่ไหลลงมากองรวมกันจนได้รับบาดเจ็บอีก รวมทั้งอาจไม่นำรถสองชั้นวิ่งเข้าไปในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง หรือแม้แต่ตัวพนักงานขับรถ หากต้องขับบริเวณพื้นที่เสี่ยงจะต้องทราบแล้วว่าต้องใช้ความเร็วประมาณเท่าไร เช่น เวลาที่มีการเข้าโค้ง มักจะมีป้ายกำกับความเร็ว ซึ่งป้ายกำกับความเร็วดังกล่าวเป็นส่วนที่มีความสำคัญไม่น้อยเลยทีเดียว

22

 นอกจากนี้ เรื่องการทำประกันภัยจะเป็นการทำภาคบังคับและภาคสมัครใจ ซึ่งได้ใช้มาตรา 44 เข้ามาบังคับใช้ โดยจะชดเชยให้กับผู้เสียหาย ภาคบังคับ 300,000 บาท ภาคสมัครใจ 300,000 บาท รวมทั้งหมด 600,000 บาท แต่ยังเกิดปัญหาว่าผู้ประกอบการรถโดยสารไม่ประจำทาง เช่น ผู้ประกอบการรายย่อยที่มีทุนจดทะเบียนน้อย เมื่อเกิดอุบัติเหตุและทำให้มีผู้เสียหายจำนวนมาก ทำให้ผู้ประกอบการรายเหล่านั้นต้องจ่ายเงินชดเชยจนธุรกิจล้มละลาย ต่อมา คือ ทำให้ผู้เสียหายเหล่านั้นก็อาจไม่ได้รับค่าชดเชยได้ตามจำนวนนั่นเอง และในอนาคตจะมีการกำหนดให้นำรถเข้าทดสอบความลาดเอียง อยู่ 2 แบบ คือ การบังคับใช้กับรถใหม่ ซึ่งต้องเข้าทดสอบความลาดเอียงภายในปี 2556 แต่รถสองชั้นเก่าต้องเข้าทดสอบความลาดเอียงภายในปี 2561

ดร.ทรงฤทธิ์ ชยานันท์ วิศวกรโยธาเชี่ยวชาญ กรมทางหลวง กล่าวว่า บริเวณที่มีรถสัญจรไป - มามาก อาจทำให้บริเวณนั้นมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอุบัติเหตุได้ รวมทั้งยังมีปัญหาเรื่องการแซงแล้วไม่พ้นจนเกิดอุบัติเหตุ ตอนนี้กรมทางหลวงมีการใช้ GPS ติดตั้งกับรถโดยสารสาธารณะ โดยร่วมมือกับกรมตำรวจทางหลวง คือ หากกรมทางหลวงมีการตรวจจับความเร็วได้จะส่งข้อมูลเหล่านั้นให้กับตำรวจทางหลวง และอยากเสนอว่าควรจะมีการกำหนดไปเลยหรือไม่ว่าเส้นทางไหนที่รถสองชั้นควรหลีกเลี่ยงหรือไม่ควรนำรถสองชั้นเข้าไปเพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุ

รศ.ดร.กัณวีร์ กนิษฐ์พงศ์ ผู้จัดการศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย กล่าวว่า รถโดยสารสองชั้นมีจุดที่สามารถเกิดอุบัติเหตุได้ในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะภาคเหนือ ซึ่งเป็นโซนพื้นที่สีเขียว มีภูเขา มีความลาดชัน ตัวอย่างเช่น เส้นทางบริเวณ จ.ตาก หรือ อ.แม่สอด เพราะเป็นเส้นทางที่มีรถมาก และยังเป็นเส้นทางที่เชื่อมกับประเทศเพื่อนบ้าน จึงมักเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง และถึงแม้ว่าจะขยายเป็นถนนเพิ่มเป็น 4 เลน แต่ยังมีเรื่องความลาดชันอยู่

ขณะที่นางสาวสุวรรณา ปลั่งพงษ์พันธ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการขนส่งผู้โดยสาร กรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า ข้อเสนอทั้งการเสนอให้รัฐซื้อรถคืนจากผู้ประกอบการ การกำหนดเส้นทางเสี่ยงอันตรายสำหรับรถสองชั้น การแสดงสัญลักษณ์ผ่านการทดสอบชัดเจนบริเวณด้านหน้าตัวรถและบริเวณข้างรถ ต้องเปิดเผยข้อมูลการจดทะเบียน สถิติอุบัติเหตุ หรือการกระทำความผิดของผู้ประกอบการนั้น จะมีผลบังคับใช้ภายในปี 2562 โดยรถสองชั้นที่จะเกิดขึ้นต้องเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด และทางกรมฯ พยายามยกระดับพนักงานขับรถให้ผู้ที่ประกอบอาชีพนี้ โดยตอนนี้มีข้อกำหนดว่าขับรถ 4 ชั่วโมง และหยุดพัก 1 ชั่วโมง อีกทั้งเมื่อมี GPS ทำให้สามารถทราบติดตามพนักงานขับรถว่าขับเกินกำหนดหรือไม่ ส่วนในเรื่องประวัติของพนักงานขับรถ ทางหน่วยงานจะคัดเลือกคนเข้ามาอยู่แล้ว แต่หากเป็นรถของผู้ประกอบการรายย่อย ผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของมักไม่ได้ส่งประวัติพนักงานขับรถที่ถูกต้องมาให้ทำให้ในส่วนนี้อาจจะขาดตกบกพร่องไปบ้าง

อย่างไรก็ตาม โครงสร้างของรถที่ได้มาตรฐานต้องควบคู่ไปกับนิสัยการขับรถที่ปลอดภัยของผู้ขับขี่ด้วย 

 

รับชม Facebook LIVE เวทีเสวนา เรื่อง “ปัญหารถโดยสารสองชั้นกับนโยบายรัฐที่ต้องทบทวน” ได้ที่ เฟซบุ๊กเพจ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

 

Tags: รถโดยสารสองชั้น , คอบช.

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน