ปธ.กมธ.พลังงานยอมถอย! ถอน ม.10/1 ร่าง กม.ปิโตรเลียมฯ ให้ทำเป็นข้อสังเกตให้ ครม. ตั้ง กก.ศึกษาบรรษัทน้ำมันฯใน 60 วัน ก.พลังงาน ศึกษาให้เสร็จใน 1 ปี สนช. หลายรายตั้งคำถามหนักจัดตั้งด้วยวัตถุประสงค์อะไร-มีหน้าที่อะไรบ้าง-ตั้งได้เมื่อไหร่ รมว.พลังงาน ให้คำมั่นทำจริง เพื่อประโยชน์ประชาชน เสียงข้างมากผ่านวาระ 3 แล้ว เตรียมประกาศใช้เป็นกฏหมาย
รายงานข่าวจากสำนักข่าวอิศรารายงานว่า เมื่อเวลาประมาณ 14.00 น. วันที่ 30 มี.ค. 2560 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ฉบับที่ .. พ.ศ. …. และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ฉบับที่ .. พ.ศ. …. ในวาระที่ 2 ซึ่งเสนอโดยคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พลังงาน สนช. มี พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ เป็นประธาน กมธ.พลังงาน มีสมาชิก สนช. อภิปรายในมาตรา 10/1 ของร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ ที่บัญญัติให้มีการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเมื่อมีความพร้อมเป็นจำนวนไม่น้อย
สำหรับสาระสำคัญที่ สนช. ประมาณ 14-15 ราย เช่น นายสมชาย แสวงการ นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ อภิปรายมาตรา 10/1 ของร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ นั้น ส่วนใหญ่เห็นด้วยที่จะมีการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ แต่มีบางรายมุ่งตั้งคำถามถึงความคลุมเครือของการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติว่า จัดตั้งขึ้นเนื่องในวัตถุประสงค์อะไร ใช้งบประมาณจากไหน มีหน้าที่อะไรบ้าง และการเขียนว่ามีความพร้อมนั้นจะตั้งได้เมื่อไหร่ ตั้งเลยได้หรือไม่ เป็นต้น
กระทั่งเมื่อเวลาประมาณ 18.00 น. วันเดียวกัน ภายหลังการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ ยาวนานกว่า 4 ชั่วโมง นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. ปฏิบัติหน้าที่ประธานในที่ประชุม สั่งพักการประชุม และให้สมาชิก สนช. ที่อภิปรายแล้ว หารือกับ กมธ.พลังงาน เพื่อหาจุดร่วมในมาตรา 10/1 และการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติว่า ควรจะเขียนอย่างไร
ต่อมาเมื่อเวลาประมาณ 18.40 น. สนช. ได้กลับมาประชุมกันอีกครั้ง โดยเปิดโอกาสให้สมาชิก สนช. อภิปราย และ กมธ.พลังงาน จะตอบข้อซักถามปิดท้าย ก่อนจะมีการลงมติในวาระที่ 2
ในช่วงท้ายนายสมชาย แสวงการ อภิปรายอีกครั้งสรุปได้ว่า เรื่องนี้ยากลำบากพอสมควรสำหรับ สนช. มีทั้งคนเห็นด้วยและเห็นต่าง ตนเห็นด้วยกับ กมธ. วิสามัญฯ ในมาตรา 10/1 แต่สมาชิกหลายรายอภิปรายว่า ยังไม่มีความชัดเจน และดำเนินการไปอาจไม่เป็นผลทางกฏหมาย จึงเสนอว่า ให้ทำเป็นข้อสังเกตอย่างหนักแน่น โดยให้นายกรัฐมนตรี หรือกระทรวงพลังงาน หรือกระทรวงการคลัง จัดตั้งคณะทำงาน หรือคณะกรรมการศึกษาการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันฯโดยละเอียด
"ขอวิงวอนให้ กมธ. ตัดมาตรา 10/1 แล้วใส่ในข้อสังเกตแทน ไม่ต้องโหวต ไม่ต้องมีแพ้ มีชนะ ขอร้องให้ถอยสักก้าวหนึ่งได้ไหม เพราะมีความปรารถนาดี ดังนั้นขอให้ไปศึกษาก่อนภายใน 1 ปีหลังจากนี้ สภาจะเป็นผู้ติดตาม หากดำเนินการแล้วเสร็จ จะยกร่างเป็น พ.ร.บ.บรรษัทน้ำมันฯ หรืออะไรก็ได้" นายสมชาย กล่าว
ขณะที่ พล.อ.สุรศักดิ์ ศรีศักดิ์ กรรมการผู้ช่วย รมว.พลังงาน (พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์) กล่าวว่า รมว.พลังงาน แสดงความห่วงใจว่า หากมีการเสอนมติดังกล่าวในลักษณะเป็นข้อสังเกตประกอบกฏหมายนั้น ถ้าสมาชิก สนช. มีความกังวลว่ากระทรวงพลังงานจะไม่ให้ความสำคัญ ขอยืนยันว่า กระทรวงพลังงานพร้อมนำข้อสังเกตนี้ไปสู่การศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม รับฟังความเห็นทุกภาคส่วน เพื่อพิจารณาถึงข้อดีข้อเสีย และความเป็นไปได้ในการจัดตั้งหน่วยงาน หรือองค์กรขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่บริหารทรัพยากรปิโตรเลียมที่เป็นทรัพยากรของชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ท้ายสุด พล.อ.สกนธ์ กล่าวว่า กฏหมายนี้ศึกษามากว่า 9 เดือน และติดตามมาตั้งแต่ปี 2557 เป็นกฏหมายเพื่อพี่น้องประชาชนชาวรากหญ้าทั่วประเทศ ดังนั้น กมธ.วิสามัญฯ ขอยอมรับแนวคิดนี้ เพื่อให้ทุกอย่างผ่านไปได้ ยอมถอยมาตรา 10/1 ให้ทำเป็นข้อสังเกต โดยเตรียมจะเสนอญัตติเพื่อขอศึกษาการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันฯ ร่วมกับกระทรวงพลังงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลัง กมธ.วิสามัญฯ ยอมถอนมาตรา 10/1 ออกจาก พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ หลังจากมีการลงมติในวาระที่ 2 ที่ลงมติรายมาตรา สนช. มีมติเสียงข้างมากลงมติเห็นชอบด้วยทั้งหมด ส่วนการลงมติในวาระที่ 3 สนช. มีมติเห็นชอบ 227 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง จากทั้งหมด 231 ราย เพื่อประกาศใช้เป็นกฏหมาย
พล.อ.สกนธ์ กล่าวถึงการเพิ่มข้อสังเกตใน พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯว่า ตามที่ตัดข้อความในมาตรา 10/1 เรียให้ทราบว่า การดำเนินการรูปแบบที่ 2-3 จะด้อยลงไปค่อนข้างมาก ถ้าให้ด้อยมาก ด้อยน้อย ขึ้นอยู่วิธีการเลือกใช้ของรัฐบาลให้เหมาะสม ประกอบกับขณะนี้มีรายละเอียดกฏกระทรวงมาด้วย ทำงานเรื่องนี้ 9 เดือน ไม่สามารถเขียนกฏกระทรวงสักฉบับจากกระทรวงพลังงาน ฝากกระทรวงพลังงานเร่งรัดเรื่องนี้ด้วย เร่งรัดใน 10/2 ให้เขียนกฏกระทรวงใน 1 ปี ไม่อย่างนั้นกฏหมายฉบับนี้ไม่มีผลบังคับใช้
ในเมื่อตัดข้อความในมาตรา 10/1 แล้ว ขอเพิ่มข้อสังเกตข้อ 10.5 เรื่องการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ (NOC) ระบุว่า โดยที่ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ นำระบบสัญยาแบ่งปันผลผลิต และสัญญาจ้างบริการมาใช้ในการบริหารจัดการปิโตรเลียม ซึ่งการบริหารจัดการแตกต่างจากระบบสัมปทานเดิมที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน หรือระบบอื่นใดในอนาคต รัฐควรจัดตั้งองค์กรขึ้นใหม่เพื่อทำหน้าที่ในการบริหารทรัพยากรปิโตรเลียมนั้นให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดโดยเร็ว คณะรัฐมนตรีควรตั้งคณะกรรมการศึกษาภายใน 60 วัน เพื่อพิจารณารายละเอียดของรูปแบบบรรษัทน้ำมันแห่งชาติที่เหมาะสมภายใน 1 ปี ต่อไป
ก่อนหน้านี้ในช่วงบ่าย วันเดียวกัน พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ ประธาน กมธ.พลังงาน และ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ ชี้แจงว่า มีความจำเป็นต้องจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ เนื่องจากประชาชนต้องการ นอกจากนี้คณะรัฐมนตรียังมีมติให้ดำเนินการจัดตั้งโดยใส่ไว้ใน พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ และไม่ได้มีแนวคิดให้กรมพลังงานทหารเข้ามากำกับดูแล
ข้อมูลจาก สำนักข่าวอิศรา
ภาพประกอบจาก MThai