17 ธ.ค. เวลา 10.00 – 13.00 น.สว.รสนา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและ ประชาชนกว่า 100 คน ในนามเครือข่ายธรรมาภิบาลด้านพลังงานรณรงค์ให้ความรู้ประชาชนกรณีการประกาศปรับขึ้นราคาก๊าซแอลพีจีในปี 2556 โดยปรับขึ้นเดือนละ 50 สตางค์ ต่อประชาชนที่สัญจรไปมาหน้าตึกซีพี ถนนสีลม
นางสาวรสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม. อธิบายถึงราคาก๊าซหุงต้มในประเทศไทย ที่รัฐบาลจะขึ้นราคาเดือนละ 50 สตางค์ ตั้งแต่เดือนมกราคม'56 เป็นต้นไป ว่า ไม่เป็นธรรมต่อประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่มีรายได้น้อย ซึ่งค่าแรง 300 บาท ที่รัฐบาลประกาศขึ้นในต้นปี 2556 ก็จะไม่มีความหมายอีกต่อไป
“ก๊าซ LPG ในประเทศจากโรงแยกก๊าซจะถูกเก็บไว้ให้ปิโตรเคมีใช้ ในราคาถูกกว่าตลาดโลก 40-50% คนกลุ่มน้อยจะรวยขึ้นจากทรัพยากรราคาถูก ที่รัฐใช้อำนาจจัดสรรให้ ส่วนประชาชนถูกรัฐกำหนดให้ใช้ก๊าซ LPG นำเข้าจากต่างประเทศทั้ง 100% นำเข้าแค่ 22% แต่ให้ประชาชนใช้ในราคานำเข้าทั้ง 100% แล้วที่มีเองในบ้าน 55% จะเก็บไว้ให้ใครใช้ ถ้าไม่ใช่ปิโตรเคมี
ราคาก๊าซหุงต้มที่รัฐบาลจะขึ้นราคาเดือนละ 50 สตางค์ ตั้งแต่เดือนมกราคม'56 เป็นต้นไป ฟังเผินๆ ก็ไม่เท่าไหร่ แต่ฟังดีๆ คือขึ้นราคากิโลกรัมละ 50 สตางค์ ก๊าซถังละ 15 กิโล เท่ากับขึ้นมาถังละ 7.50 บาทต่อเดือน พอครบปี ราคาจะเพิ่มขึ้นถังละ 100 บาท พอครบ 2 ปี ก็เพิ่มขึ้น 200 บาทต่อถัง กลายเป็นก๊าซหุงต้มถัง 15 กิโล จะ มีราคาถังละ 500 บาท
ข้าวแกงจะราคาเท่าไหร่ เมื่อถึงตอนนั้น คนรวยไม่เดือดร้อนหรอก แต่คนจน จะอยู่กันยังไง นี่หรือคือการกระชากค่าครองชีพให้ประชาชน นี่หรือคือการปรับราคาพลังงานให้เป็นธรรมต่อประชาชน
ค่าแรง 300 บาทเพิ่งจะได้ในปี 2556 แต่ก็ล้วงกระเป๋าคืนแล้วจากก๊าซหุงต้ม ถังละ 100 บาทในปี'56 พอปี'57 ก็ล้วงเพิ่ม 200 บาทต่อถัง ยังไม่รวมค่ารถ ค่าไฟ ค่าครองชีพที่ต้องพาเหรดขึ้นจนค่าแรง 300 บาทหมดความหมาย” สว. กทม.กล่าว
พร้อมทั้งกล่าวเพิ่มเติมว่า การที่รัฐบาลประกาศช่วยคนจนได้ใช้ก๊าซหุงต้มฟรีเดือนละ 6 กิโลกรัม แม่ค้าได้เดือนละ105 กิโลกรัม ก็เป็นการบริหารที่ยุ่งยากมากเว้นแต่จะเอาไว้ให้แต่หัวคะแนนของตัวเอง และการช่วยคือเอาเงินหลวง เงินงบประมาณมาจ่าย แต่ธุรกิจพลังงานได้ไปเต็มๆ
“ลองประมาณรายได้ที่บริษัทธุรกิจพลังงานจะได้จากการเพิ่มราคาดู ครัวเรือนใช้ก๊าซหุงต้ม2.6ล้านตันหรือ 2,600 ล้านกิโลกรัม ขึ้น6บาทต่อกิโลกรัม ปี'56 จะได้เงินเพิ่ม 15,600 ล้านบาท ยานยนตร์ใช้ 9 แสนตัน หรือ 900 ล้านกิโลกรัมขึ้นมา 6 บาท จะได้เงินเพิ่ม 5,400 ล้านบาท ส่วนอุตสาหกรรม SME ขึ้นมา 12 บาทใช้ปีละ 7 แสนตันหรือ 700 ล้านกิโลกรัม ก็จะได้เงินเพิ่ม 8,400 ล้านบาท ปี'56 จะได้รายได้เพิ่ม 15,600+5,400+8,400=29,400 บาท ภายใน1ปีได้รายได้เพิ่มเกือบ 30,000 ล้านบาท
ถ้าประชาชนต้องใช้ทั้งก๊าซ และน้ำมันใน ราคาตลาดโลกทั้ง 100% ทั้งที่นำเข้าก๊าซ LPG แค่ 22% ก็ขอเสนอให้ยกเลิกสัมปทานปิโตรเลียมทั้งหมด แล้วนำเข้าทั้ง 100% จะดีไหม เราจะได้เก็บทรัพยากรเหล่านี้ให้ลูกหลานในอนาคตที่ฉลาดและไม่โกงไว้ใช้ต่อไป ดิฉันยินดีใช้ก๊าซราคาตลาดโลก เมื่อมีการนำเข้า 100% แต่ไม่ยอมใช้ก๊าซราคาตลาดโลภที่นำเข้าแค่ 22% แต่ให้จ่ายในราคา 100%” นางสาวรสนากล่าว
ก่อนปิดการรณรงค์นางสาวรสนาได้กล่าวว่า เพื่อเป็นการเปิดเผยข้อมูลที่แท้จริงเรื่องราคาก๊าซแอลพีจี อยากให้กระทรวงพลังงานเปิดเผยข้อมูลและนำข้อมูลมาดีเบสกัน เพื่อให้ประชาชนเข้าใจ และเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับการใช้ก๊าซแอลพีจีของประชาชนด้วย
และในวันที่พฤหัสบดี 20 ธ.ค. 55 นี้จะมีการรณรงค์อีกครั้งบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
สว.รสนา ให้สัมภาษณ์ ทำไมถึงต้องค้ดค้านการขึ้นค่าก๊าซ แอลพีจี เหตุเพราะปิโตรเคมีใช้เยอะกว่ากลุ่มประชาชนครัวเรือน และ รถยนต์ แถมราคาถูกกว่า
บรรยากาศการณรงค์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ขึ้นราคา'แอลพีจี''ปตท.'กำไรเพิ่ม5.7พันล.
{gallery}action/energy/551117_stop_lpg{/gallery}