นกแอร์อ้างคืนเงินค่าเดินทาง หลังเที่ยวบินดีเลย์แล้ว ไม่เยียวยาใดๆเพิ่ม มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคชี้มีคนร้องเรียนเพิ่มขึ้นแนะจัดเวทีระดมความคิดจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พัฒนาระบบการบินไทย
วันนี้ (17 เมย. 58) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้เชิญ น.ส. สุกัญญา พวงมณี ผู้เสียหายจากการใช้บริการสายการบินนกแอร์ เจาจารร่วมกับตัวแทนบริษัทสายการบินนกแอร์ จำกัด กรณีที่ น.ส. สุกัญญา ร้องเรียนว่าเมื่อวันที่ 22 กพ. 2558 ได้ใช้บริการสายบินนกแอร์ เที่ยวบิน DD8319 เชียงใหม่ – กรุงเทพฯ เวลา 18.10 น. แต่สายการบินไม่พร้อมให้บริการ ได้ขอเปลี่ยนเที่ยวบินเป็นเวลา 21.55 น. ซึ่งทำให้เที่ยวบินล่าช้ากว่า 3 ชั่วโมง โดยพนักงานสายการบินแจ้งว่าเครื่องบินขัดข้องกำลังซ่อมแซม ยังไม่พร้อมให้บริการ ซึ่งจากการเจรจาในครั้งนี้ตัวแทนบริษัทสายการบินนกแอร์ แจ้งว่าได้คืนเงินให้กับ น.ส.สุกัญญา เป็นเงิน 6,798 บาท (ซึ่งรวมค่าเที่ยวบินของหัวหน้างานของนส.สุกัญญาที่เดินทางไปพร้อมกัน) อย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้ว จึงไม่สามารถเยียวยาความเสียหายเพิ่มเติมใดๆ ได้อีก ซึ่งผู้ร้องได้เรียกร้องให้สายการบินนกแอร์เยียวยาความเสียหายดังนี้ 1. ค่าที่พักที่ต้องค้างคืน 1 คืน พร้อมอาหารเช้า จำนวน 1,500 บาท 2. ค่าพาหนะดินทางจำนวน 1,000 บาท 3. ค่าตั๋วเครื่องบิน สายการบินไทยสมาย เที่ยวบิน NE155 จำนวน 3,390 บาท รวมเป็นเงิน 5,890 บาท
จากเหตุการณ์เที่ยวบินดีเลย์ครั้งนั้น พนักงานสายการบินฯ ไม่ได้มีการประกาศให้ผู้โดยสารมารับคูปองที่จะนำไปซื้อเครื่องดื่มหรืออาหารรับประทานระหว่างรอสายการบิน หรือการแจ้งรายละเอียดอื่นๆ ที่เหมาะสมกับผู้โดยสาร แจ้งเพียงว่าหากผู้โดยสารท่านใดต้องการเปลี่ยนเที่ยวบิน หรือขอคืนเงินคืน ให้ติดต่อที่เคาน์เตอร์ และให้คูปองเพียง 100 บาทแก่ผู้โดยสารที่ร้องขอ
น.ส.สุกัญญาแจ้งว่า "ดิฉันไม่มั่นใจในความปลอดภัยเนื่องจากเครื่องบินดังกล่าวกำลังซ่อมแซม โดยผู้โดยสารไม่ทราบสาเหตุว่าขัดข้องตรงส่วนใด จึงได้พยายามขอเปลี่ยนเที่ยวบินที่เร็วที่สุดเพื่อเดินทางกลับ แต่ไม่สามารถเปลี่ยนได้เนื่องจากเที่ยวบินเต็มทุกเที่ยว จึงตัดสินใจทำเรื่องขอคืนเงินและจองเที่ยวบินสายการบินไทยสมาย เที่ยวบิน NE155 ของเช้าวันที่ 23 กพ. เพื่อเดินทางกลับกรุงเทพ"
น.ส.สุกัญญากล่าวเพิ่มเติมว่าจริงๆ แล้วตนเองก็ไม่ได้ต้องการเรียกร้องอะไรมาก แต่อยากให้มีการเปลี่ยนแปลงระบบการบริการของสายการบินนกแอร์ที่บอกว่าคำนึงถึงความปลอดภัยแต่การให้บริการรวมถึงการใส่ใจความปลอดภัยของผู้โดยสารที่ต้องรอเที่ยวบินที่ดีเลย์โดยไม่มีกำหนดที่ชัดเจนว่าจะได้เดินทางเมื่อไหร่ และยังต้องเสียค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีก จึงอยากให้มีการพัฒนาระบบการบินให้ดีขึ้นกว่านี้ โดยฝากความหวังไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกรมการบินพลเรือนให้ตรวจสอบและดูแลสายการบินให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น
นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า การที่เที่ยวบินดีเลย์ตามประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่องการคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารที่ใช้บริการสายการบินของไทยในเส้นทางบินประจำภายในประเทศ พ.ศ. 2553 ที่ว่า กรณีเที่ยวบินล่าช้าเกินกว่า 3 ชม. แต่ไม่เกิน 5 ชม.สายการบินต้องปฏิบัติต่อผู้โดยสารดังนี้ จัดอาหารและเครื่องดื่มให้แก่ผู้โดยสารตามความเหมาะสมกับระยะเวลาที่รอขึ้นเครื่องโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย จัดหาอุปกรณ์ในการติดต่อสื่อสาร โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เสนอให้ผู้โดยสารเลือกระหว่าง การรับเงินค่าโดยสารคืนเต็มจำนวน หรือเปลี่ยนแปลงเที่ยวบินให้ผู้โดยสาร หรือติดต่อให้เดินทางโดยทางอื่นที่เหมาะสม โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของผู้โดยสาร
"สายการบินต้องรีบดำเนินการทันทีหากมิได้แจ้งผู้โดยสารล่วงหน้า แต่สายการบิน กลับ ไม่ได้ปฏิบัติตามประกาศ จนกระทั่งผู้โดยสารร้องขอ เป็นการขัดต่อระเบียบปฏิบัติ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเห็นว่าการที่มีผู้เสียหายร้องเรียนกรณีสายการบินล่าช้าจำนวนมากขึ้น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ควรจะมีการจัดเวทีโดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน เพื่อให้ระบบการบินในประเทศไทยมีคุณภาพมากขึ้น" หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค กล่าว
ภาพประกอบจาก อินเทอร์เน็ต