ผู้บริโภคร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน ก.พลังงานทำโฆษณาหลอกลวง

หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ยื่นหนังสือต่อผู้ว่าการแผ่นดิน กรณีรมว.กระทรวงพลังงาน และปลัดกระทรวงพลังงาน ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามจริยธรรมผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ

 

วันนี้ (16 ตุลาคม 2557) เวลาประมาณ 13.00 น. นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์ผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้เดินทางไปที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา เพื่อยื่นหนังสือร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีนายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และ นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน ดำเนินการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมของผู้ดำรงตาแหน่งทางการเมือง และเจ้าหน้าที่ของรัฐ จนก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อการบริหารจัดการด้านพลังงานของประเทศ เนื้อหาในหนังสือร้องเรียนระบุว่า หนังสือพิมพ์ มติชนรายวัน ฉบับวันศุกร์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2557 หน้า 16 (หน้ากีฬา) ได้ตีพิมพ์ภาพและข้อความประชาสัมพันธ์ ชื่อ "รู้จริงสัมปทานปิโตรเลียมไทย" พลังงานไทยเราเข้าใจ เราช่วยกัน ของกระทรวงพลังงาน โดยข้อความในย่อหน้าที่ 6 ปรากฏข้อความว่า "หากคิดปิโตรเลียมทุกประเภทข้างต้นเป็นหน่วยบาร์เรลเทียบเท่าน้ำามันดิบจะได้ว่า ไทยผลิตอยู่ที่ 870,000 บาร์เรลต่อวัน ในขณะที่ความต้องการใช้ปิโตรเลียมของคนไทยมีมากกว่า 2,000,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้้ำมันดิบต่อวัน ประเทศไทยจึงผลิตปิโตรเลียมได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้...” จากการตรวจสอบรายงานประจำปีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ปี 2556 หน้า 24 หรือดาวน์โหลดได้ที่ http://www.dmf.go.th/resources/ annualReport/annual/th/annualReport_th_2013.pdf) ได้แสดงข้อมูล "ดุลยภาพปิโตรเลียม มกราคม - ธันวาคม 2556" ซึ่งแสดงข้อมูลตัวเลขการจัดหาปิโตรเลียม การกลั่นและแยกปิโตรเลียม การบริโภคในประเทศและการส่งออก ไว้อย่างละเอียดชัดเจน สามารถตรวจสอบได้ดังนี้ ในปี 2556 ประเทศไทยมีการจัดหาปิโตรเลียมจากภายในประเทศได้รวมทั้งสิ้น 868,600 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน (ซึ่งใกล้เคียงกับข้อมูลที่ปรากฏในโฆษณาจึงอาจประมวลได้ว่าเนื้อหาในโฆษณาชิ้นนี้ใช้ฐานตัวเลขข้อมูลของปี พ.ศ. 2556) แต่จากเนื้อหาในโฆษณาที่รายงานว่า "ความต้องการใช้ปิโตรเลียมของคนไทยมีมากกว่า 2,000,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน" นั้น เป็นเท็จ ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง เนื่องจากตาราง "ดุลยภาพปิโตรเลียม มกราคม - ธันวาคม 2556" ที่ปรากฏอยู่ในรายงานประจำปีของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ปี 2556ได้แสดงข้อมูลอย่างชัดเจนว่า

ในปี 2556 มีการบริโภคในประเทศ ในรูปของผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ได้แก่ แอลพีจี (ก๊าซหุงต้ม) แก๊สโซลีน (เบนซิน) เคโรซีน น้ำมันเครื่องบิน ดีเซล น้ำมันเตา บิทูเมน รวม 786,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ามันดิบต่อวัน มีการบริโภคก๊าซธรรมชาติ 800,800 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน รวมกันเป็นจำนวนทั้งสิ้น 1,587,100 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน มิใช่มากถึง 2,000,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวันอย่างที่กระทรวงพลังงานกล่าวอ้างในโฆษณา

นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลสำคัญที่โฆษณาของกระทรวงพลังงานควรแจ้งให้ประชาชนทราบอย่างครบถ้วนแต่มิได้แสดง คือ ในปี 2556 ธุรกิจพลังงานภายในประเทศไทย ได้ส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ได้แก่ แอลพีจี (ก๊าซหุงต้ม) แก๊สโซลีน (เบนซิน) เคโรซีน นำมันเครื่องบิน ดีเซล นำมันเตา บิทูเมน รวม 214,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ซึ่งทั้งหมดได้มาจากการแปรรูปน้ำมันดิบที่จัดหาจากภายในประเทศและจากการนำเข้า และยังมีการส่งออกนำมันดิบที่ผลิตได้จากในประเทศอีก 26,100 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน รวมปิโตรเลียมที่ถูกส่งออกทั้งสิ้น 240,200 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ ได้รายงานถึงสถิติการค้าระหว่างประเทศของไทย ในปี 2556 ว่า มีการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปที่ผลิตได้จากโรงกลั่นน้ำมันภายในประเทศสูงเป็นอันดับที่ 3 ของมูลค่าสินค้าส่งออกทั้งหมด มีมูลค่ารวม 386,002 ล้านบาท มีการส่งออกเม็ดพลาสติกของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีซึ่งใช้ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยเป็นวัตถุดิบในการผลิต มีมูลค่ารวม 270,792 ล้านบาท สูงเป็นอันดับที่ 6 ของมูลค่าสินค้าส่งออกทั้งหมดของประเทศไทย และมีการส่งออกน้ำมันดิบอีก รวมมูลค่า 35,014 ล้านบาท

ดังนั้น จึงเห็นได้ว่า ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการจัดหาพลังงานปิโตรเลียมของประเทศไทยที่ผ่านมาทั้งจากการจัดหาภายในประเทศและจากการนำเข้า เป็นไปเพื่อการบริโภคภายในประเทศ และเพื่อธุรกิจการส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมไปยังต่างประเทศด้วย

นายอิฐบูรณ์ ร้องเรียน เพิ่มเติม ว่า การโฆษณาประชาสัมพันธ์ของกระทรวงพลังงานตามข้อความดังกล่าว เป็นการให้ข้อมูลที่เป็นเท็จ ไม่ถูกต้อง บิดเบือนข้อเท็จจริงต่อประชาชน ซึ่งทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่า การบริโภคพลังงานของคนไทยมีความฟุ่มเฟือยบริโภคพลังงานมากกว่าที่จัดหาได้ภายในประเทศ เป็นเพียงปัจจัยสำคัญปัจจัยเดียวเท่านั้น ที่ทำให้ประเทศต้องสูญเสียเงินตราเพื่อซื้อพลังงานจากต่างประเทศอย่างมหาศาล และก่อให้เกิดปัญหาความไม่มั่นคงทางด้านพลังงานแก่ประเทศชาติ อันนำไปสู่การวางแผนนโยบายพลังงานที่ผิดพลาดของรัฐบาลต่อไปหลายประการ อาทิ การกำหนดแผนการจัดหาพลังงานที่สูงเกินจริงอันเป็นการเพิ่มภาระให้กับประชาชนโดยตรงในรูปของค่าเชื้อเพลิงพลังงานที่สูงขึ้น หรือการเร่งรีบให้เปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่โดยไม่แสวงหารูปแบบการให้สิทธิการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่มีความเป็นธรรมต่อประเทศชาติมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เป็นต้น

โดยที่ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมือง พ.ศ. 2551 ข้อ 6 ได้กำหนด ค่านิยมหลักของข้าราชการการเมืองไว้ว่า ข้าราชการการเมืองมีหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย รักษาผลประโยชน์ส่วนรวม ยึดหลักธรรมาภิบาล โดยจะต้องยึดมั่นในค่านิยมหลักดังนี้... (7) ให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชนอย่างครบถ้วน ถูกต้อง และไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง ประมวลจริยธรรมของข้าราชการเมือง ได้กำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมของข้าราชการการเมือง ในข้อ 25 ไว้ว่า ข้าราชการการเมืองต้องไม่ใช้หรือบิดเบือน ข้อมูลข่าวสารของราชการเพื่อให้เกิดความเข้าใจผิด หรือเพื่อผลประโยชน์สำหรับตนเอง หรือผู้อื่น ส่วนประมวลจริยธรรมของข้าราชการพลเรือนก็ได้กำหนดในประเด็นนี้ไว้ในทำนองเดียวกัน “โฆษณาชิ้นนี้แสดงตราสัญลักษณ์และชื่อของกระทรวงพลังงานไว้อย่างชัดเจน จึงย่อมเป็นความรับผิดชอบของ นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และ นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน ที่จะต้องดำเนินการตามมาตรฐานจริยธรรมของข้าราชการการเมืองและข้าราชการพลเรือนในการให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชนอย่างครบถ้วน ถูกต้อง และไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง อย่างเคร่งครัดแต่กลับมิได้ดำเนินการ” นายอิฐบูรณ์กล่าว

 

คลิกดาวน์โหลด>>>

รู้จริงสัมปทานปิโตรเลียมไทย

รายงานประจำปีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ปี 2556 หน้า 24

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน